สรุปผลการจัดเวทีวิชาการ (FPO Forum) เรื่อง“Excise tax on Alcohol and Tobacco Products: The International Experiences”

ข่าวทั่วไป Friday November 10, 2006 17:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--สศค.
นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ในวันนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “Excise tax on Alcohol and Tobacco Products: The International Experiences” โดย สศค. ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่ทรงคุณวุฒิด้านภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบ ได้แก่ Mr. Warwick Ryan จากบริษัท KPMG ประเทศออสเตรเลีย และ Mr. Declan Coyne จากบริษัท Philip Morris Asia Limited มาให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเก็บภาษีสุราและยาสูบในต่างประเทศ ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ภาษีสรรพสามิตยาสูบ
(1) โครงสร้างของภาษีสรรพสามิตยาสูบของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียจะมีการนำอัตราตามสภาพมาใช้ เนื่องจากอำนวยรายได้แน่นอนและง่ายต่อการบริหารจัดเก็บภาษี นอกจากนี้ประเทศในยุโรปมีการนำอัตราภาษีทั้งตามสภาพ และตามปริมาณ มาใช้ โดยมีแนวคิดว่าอัตราภาษีควรมีการกำหนดรายได้ของรัฐขั้นต่ำเอาไว้ด้วย (The Minimum Excise Tax Component) และบางประเทศมีการใช้ระบบการควบคุมราคาขายปลีกขั้นต่ำ เพื่อป้องกันการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของผู้สูบบุหรี่ไปสูบบุหรี่ที่มีราคาถูก
(2) สำหรับโครงสร้างรายได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบของประเทศไทยร้อยละ 99.95 มาจากบุหรี่ และร้อยละ 0.05 มาจากภาษียาเส้นมวนเอง ซึ่งตรงข้ามกับพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนที่นิยมบริโภคยาเส้นมวนเองสูงถึงร้อยละ 50 บุหรี่ร้อยละ 47.5 และอื่น ๆ อีกร้อยละ 2.5 เนื่องจากอัตราภาษีที่จัดเก็บบุหรี่และยาเส้นมวนเอง มีความแตกต่างกันมาก ทำให้ประชาชนหันมานิยมบริโภคยาเส้นมวนเองเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคาขายปลีกบุหรี่ของประเทศไทยค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลจูงใจให้เกิดการนำเข้าบุหรี่ผิดกฎหมายเช่นเดียวกับที่เกิดในประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง
(3) ดังนั้น อัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบที่เหมาะสมควรกำหนดอัตราที่จูงใจให้ผู้เสียภาษีมีความเต็มใจที่จะเสียภาษี โดยพิจารณาอัตราภาษีของประเทศเพื่อนบ้านควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษียาเส้นมวนเองควรมีการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันกับบุหรี่ในแง่ของนโยบายภาษีสรรพสามิต และข้อบังคับต่าง ๆ
2. ภาษีสรรพสามิตสุรา
การปรับปรุงโครงสร้างของภาษีสรรพสามิตสุราโดยทั่วไป ควรต้องสนับสนุนหลักการของภาษีที่ดี ได้แก่ (1) ความมีประสิทธิภาพคือการมีต้นทุนในการจัดเก็บภาษีที่ต่ำเปรียบเทียบกับรายได้ที่สามารถเก็บได้สูง (2) หลักความเท่าเทียมกัน (3) หลักความชัดเจนและไม่ซับซ้อนในการจัดเก็บภาษี และ (4) ภาษีต้องช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้เสนอให้ทำเป็นขั้นตอนดังนี้
1. ลดจำนวนฐานภาษี (Tax Base) หรือประเภทของสุราที่ใช้ในการจัดเก็บภาษี ซึ่งตัวอย่างของประเทศในกลุ่ม OECD จะมีอยู่ 3 ฐานภาษี ได้แก่ สุรา เบียร์ และไวน์
2. ลดจำนวนอัตราภาษีในแต่ละฐานภาษีให้เหลือน้อยที่สุด
3. เก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์ (Specific Rate) แทนการเก็บจากฐานราคา (Ad Valorem Rate) เนื่องจากการเก็บภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ จะทำให้ผู้บริโภคหันไปดื่มสุราที่มีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยได้ ลดปัญหาผลกระทบต่อสังคม และนอกจากนี้ยังง่ายต่อการบริหารจัดเก็บ อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีตามปริมาณควรมีการทำ Indexation เพื่อปรับอัตราภาษีให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อดังเช่นในกรณีของประเทศออสเตรเลีย
4. ศึกษา Tax Expenditure ของภาษีสรรพสามิตสุราเพื่อใช้กำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสม และไม่ส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสุราบางประเภทในอัตราที่ต่ำเกินไป
5. ปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสุราให้สนับสนุนพฤติกรรมการบริโภคสุราของประชาชนในทางที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ดี Mr. Warwick Ryan ได้กล่าวเพิ่มเติมว่านโยบายภาษีสุราอย่างเดียวคงไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้ แต่ควรมีการให้ความรู้ต่อประชาชนถึงการบริโภคสุราในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากปัจจุบัน มีการศึกษาพบว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีดีกรีต่ำในปริมาณที่พอเหมาะเป็นผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งภาครัฐควรจะต้องเน้นการให้ความรู้ต่อประชาชนในประเด็นดังกล่าวด้วย เพื่อการจัดทำนโยบายควบคุมการดื่มสุราที่ได้ผล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ