คลังเดินหน้าแก้ปัญหาร้านเหล้ารอบสถานศึกษา

ข่าวทั่วไป Thursday October 8, 2009 08:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--กรมสรรพสามิต นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เล็งแก้กฎหมายเพื่อควบคุมการขอใบอนุญาตขายสุราให้เข้มขึ้น ลงพื้นที่เอ็กซเรย์ร้านเหล้ารอบสถานศึกษาวันนี้ ย้ำทุกร้านต้องดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย เพื่อลดการบริโภคสุราของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา หลังพบว่ามีร้านเหล้าจำนวนมากตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษา ในวันนี้ (7 ตุลาคม 2552) นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะที่กำกับดูแลกรมสรรพสามิต พร้อมคณะเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต ได้เดินทางออกสำรวจพื้นที่บริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อตรวจสอบสถานบริการจำหน่ายสุรา หลังมีข้อร้องเรียนว่า มีร้านจำหน่ายสุราเปิดอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบสถานศึกษาจำนวนมาก และเปิดให้บริการโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2552 กรมสรรพสามิตได้ออกใบอนุญาตขายปลีกสุราในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครให้แก่ผู้ขอใบอนุญาตขายสุรา ประเภทที่ 3 (ขายปลีกสุราที่ผลิตในประเทศและต่างประเทศ) จำนวน 13,577 ราย และประเภทที่ 4 (ขายปลีกสุราที่ผลิตในประเทศไทย ยกเว้นการขายแอลกอฮอล์) จำนวน 33,937 ราย รวมจำนวนทั้งสิ้น 47,514 ราย ซึ่งจากการตรวจสอบพื้นที่หลาย แห่ง พบว่ามีสถานบริการจำหน่ายสุราเปิดให้บริการอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงสถานศึกษาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ขายเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราจากเจ้าหน้าที่สรรพสามิต การขายเหล้าปั่นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงน้ำสุราตามมาตรา 23 ของพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 จะขายได้ต่อเมื่อผู้ซื้อได้ร้องขอให้ทำการเปลี่ยนแปลงสุราเพื่อดื่มในขณะนั้น หากกระทำการขายโดยฝ่าฝืนกฎหมายต้องได้รับโทษ ดังนี้ 1. กรณีทำการเปลี่ยนแปลงสุราโดยที่ผู้ซื้อมิได้ร้องขอเพื่อดื่มในขณะนั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 2. กรณีขายเหล้าแก่เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ จะมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 3.กรณีขายเหล้าแก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 4. กรณีผู้ขายกระทำผิดกฎหมายสุราหรือผิดเงื่อนไขในใบอนุญาต เจ้าพนักงานสรรพสามิตสามารถสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตสุราได้ ซึ่งกรณีเพิกถอนใบอนุญาตจะไม่สามารถขอใบอนุญาตขายสุราได้อีกเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งการออกสำรวจในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้น โดยหลังจากนี้จะให้กรมสรรพสามิตส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจในทุกพื้นที่ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้ประกอบการสถานบริการจำหน่ายสุรา โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา ในเบื้องต้นจะดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ประกอบการได้ทราบเกี่ยวกับการจำหน่ายสุราและยาสูบ หากปฏิบัติไม่ถูกต้อง จะดำเนินการกฎหมายอย่างเข้มงวด “เท่าที่สำรวจดูจะพบสถานบริการเปิดจำหน่ายสุราอยู่ในพื้นที่บริเวณโดยรอบสถานศึกษาจำนวนมาก แล้วมีการจำหน่ายเหล้าปั่นที่กำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะผู้หญิงซึ่งตามกฎหมายการเปิดร้านจำหน่ายเหล้าปั่น จะต้องขอใบอนุญาตจากกรมสรรพสามิตด้วย ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่รู้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการรับข่าวสารยังไม่ทั่วถึงและเจ้าหน้าที่อาจไม่เข้มงวด โดยหลังจากนี้กรมสรรพสามิตจะทำตรวจสอบอย่างจริงจัง แล้วกรมสรรพสามิตจะมีการกำหนดเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตจำหน่ายสุราและยาสูบด้วย” ทั้งนี้ ผลการปราบปรามผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 รอบปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม 2551 — กันยายน 2552) กรมสรรพสามิตจับกุมผู้กระทำผิดได้รวม 27,336 คดี สูงกว่าปีงบประมาณ 2551 จำนวน 1,472 คดี หรือร้อยละ 5.69 เป็นเงินค่าปรับรวม 97.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน จำนวน 3.80 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.04 นอกจากนี้ นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ ยังกล่าวต่อว่า สถานที่ขายสุรานั้น ต้องไม่ตั้งอยู่ในบริเวณสถานศึกษา ศาสนสถาน หรือสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งบริเวณต่อเนื่องติดกับสถานที่ดังกล่าว โดยบุคคลและสถานที่ที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจะขอใบอนุญาตใหม่ไม่ได้เป็นเวลา 5 ปี ตามกฎกระทรวงการคลัง ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากสามารถควบคุมดูแลสถานบริการจำหน่ายสุราให้อยู่ภายใต้กฎหมาย มั่นใจว่าจะช่วยลดการบริโภคสุรา โดยเฉพาะจากกลุ่มนิสิต นักศึกษาลงได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งกรมสรรพสามิตก็จะจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อดึงประชาชน นิสิต นักศึกษา รวมไปถึงกลุ่มครอบครัวที่ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการที่จะช่วยดูแลมิให้สมาชิกของครอบครัว สมาชิกของสังคมเข้าไปบริโภคสุรา รวมไปถึงบุหรี่ จากการที่กระทรวงการคลังต้องการลดการบริโภคบุหรี่และสุราของประชาชน จึงได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิตจัดทำโครงการ “Family Day Say No” ขึ้น ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม จนถึงเดือนกรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความตระหนักถึงโทษของสุราและยาสูบ การรณรงค์ในการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนลดการบริโภคบุหรี่และสุรา โดยใช้ความสัมพันธ์ของครอบครัวเป็นแกนหลักในการยับยั้งมิให้สมาชิกในครอบครัวเข้าไปบริโภคสุราและยาสูบ รวมไปถึงการเสพยาเสพติด ที่สำคัญยังช่วยส่งเสริมความผูกผันให้เกิดขึ้นในครอบครัวและสังคม ตลอดการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการลดการบริโภคสุราและยาสูบ ทั้งนี้ หากทราบเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต สามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตทุกแห่งทั่วประเทศ หรือที่ศูนย์ประสานงานกรมสรรพสามิต Hot Line 1713 หรือที่ www.excise.go.th หรือแจ้งที่ตู้ ป.ณ.10 เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ กรมสรรพสามิต โทร/โทรสาร 02 241 4778

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ