กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--ธนาคารไทยพาณิชย์
SCB EIC ประเมินแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) หรือ แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (มูลค่ารวม 1.4 ล้านล้านบาท) จะทำให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณราว 2 แสนกว่าล้านบาทในปี 2553 ซึ่งโดยรวมแล้ว ระดับการใช้จ่ายของภาครัฐจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2552 เท่าใดนัก เพราะวงเงินนอกงบประมาณจาก SP2 ในปีหน้าส่วนหนึ่งจะมาชดเชยวงเงินในงบประมาณที่ลดลง ดังนั้นแรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในระยะยาวจะไม่มากอย่างที่คิด
สำหรับโครงการ SP2 ทั้งหมด 1.4 ล้านล้านบาท มีโครงการที่ยังไม่พร้อมดำเนินการซึ่งต้องศึกษาเพิ่มเติม หรือที่เรียกว่า Tier-2 และ Tier-3 อยู่ราว 4 แสนล้านบาท เหลือโครงการที่จัดอยู่ในประเภท “พร้อมดำเนินการ” (Tier 1) ราว 1 ล้านล้านบาท แต่มิใช่ว่าทุกโครงการจะเริ่มดำเนินการได้ในระยะอันใกล้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับความชัดเจนด้านแหล่งเงินทุนและลักษณะโครงการ เช่น งบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท คาดว่าจะมาจากรัฐวิสาหกิจและเงินกู้ยืมจากต่างประเทศที่ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก
สำหรับแหล่งเงินทุนที่ดูมีความชัดเจนมีอยู่ราว 7 แสนล้าน โดยส่วนแรก 3 แสนล้านบาทซึ่งมีความชัดเจนที่สุดนั้น มาจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ที่เดิมมีวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาทแต่ต้องกันไว้ชดเชยเงินคงคลังราว 1 แสนล้านบาท สำหรับส่วนที่สองอีก 4 แสนล้านบาทนั้น จะมาจากร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งวุฒิสภาลงมติเห็นชอบให้แก้ไขในบางมาตรา ทำให้สภาผู้แทนราษฎรต้องมาตัดสินอีกทีว่าจะแก้ไขตามที่วุฒิสภาเสนอหรือไม่
จากโครงการส่วนที่มีความชัดเจนของแหล่งทุนที่สุด 3 แสนล้านบาท SCB EIC คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้จริงราว 2 แสนกว่าล้าน โดยถ้าสมมติให้โครงการก่อสร้างถนนและอาคารมีอัตราการเบิกจ่ายเท่ากับที่เคยทำได้จริงในอดีต และให้โครงการอื่นๆ เบิกจ่ายได้เท่ากับงบลงทุนในงบประมาณประจำปี จะได้ตัวเลขเบิกจ่ายประมาณ 2 แสนล้านบาทในปี 2553 แต่ถ้าสมมติให้รัฐเบิกจ่ายได้เร็วที่สุดเท่าที่เคยทำได้คือให้ทุกโครงการเบิกจ่ายได้ 80% ในปีแรกจะได้ตัวเลขเบิกจ่ายราว 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งหากเทียบกับวงเงินในงบประมาณปี 2553 ที่ลดไปจากงบประมาณปี 2552 ราว 2 แสนล้านบาท จะทำให้เห็นได้ว่าการใช้จ่ายภาครัฐไม่น่าเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น
ในแง่ของผลกระทบต่อเศรษฐกิจ SCB EIC เข้าไปดูรายละเอียดของแต่ละโครงการเพื่อแบ่งเป็นประเภทต่างๆ พบว่า ประเภทโครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านการก่อสร้าง (40%) และกิจกรรมการจัดจ้างและอบรม (38%) และการจัดซื้ออุปกรณ์ (15%) ดังนั้นจึงน่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างพื้นฐาน เช่น ซิเมนต์ เหล็ก หิน รวมทั้งการจ้างงานในชุมชนที่เกิดจากการทำโครงการที่เน้นการจัดจ้าง เช่น การจัดทำแหล่งน้ำขนาดเล็ก 1,600 แห่งทั่วประเทศ
ในภาพรวม SCB EIC คาดว่าอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แม้มีแนวโน้มจะเพิ่มจากระดับปัจจุบันที่ 43% ไปถึงระดับสูงสุดที่ 61% ในปี 2557 แต่น่าจะค่อยๆ ลดลง โดยเป็นผลจากอัตราการเติบโตของ GDP เป็นหลัก ไม่ใช่การลดลงของระดับหนี้โดยตรง
หากดูในรายละเอียดจะเห็นว่างบประมาณไทยเข้มแข็งส่วนแรกที่ประกาศออกมานั้น เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเท่านั้น แต่สำหรับงบประมาณในส่วนถัดไป กว่าจะเบิกจ่ายจริงก็คงใช้เวลาอีกพอควร ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นเศรษฐกิจน่าจะเริ่มฟื้นแล้ว และไม่น่าจะต้องการโครงการประเภทกระตุ้นระยะสั้นอีก ดังนั้นโครงการใหม่ๆ ต่อจากนี้ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับโครงการที่ส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตและแข่งขันของประเทศในระยะยาวอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง