อียูออกคู่มือแนวทางการขอขึ้นทะเบียนวัสดุและบรรจุภัณฑ์ ประเภท active และ intelligent

ข่าวทั่วไป Thursday October 8, 2009 14:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--คต. นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า จากการที่อียูออกข้อกำหนดเฉพาะสำหรับวัสดุและบรรจุภัณฑ์ประเภท active และ intelligent เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมานั้น (Commission Regulation (EC) No 450/2009 of 29 May 2009 on active and intelligent materials and articles intended to come into contact with food) ล่าสุดหน่วยงานความปลอดภัยอาหารของสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority: EFSA) ได้เผยแพร่คู่มือการขอขึ้นทะเบียนวัสดุและบรรจุภัณฑ์ประเภท active และ intelligent ที่สัมผัสอาหาร โดยตีพิมพ์ใน Official Journal L 135 Volume3 สาระสำคัญของคู่มือแนวทางการขอขึ้นทะเบียนดังกล่าวสรุปได้ดังนี้ 1. ขั้นตอนการอนุญาตขอขึ้นทะเบียนบัญชีรายชื่อสารประกอบวัสดุและบรรจุภัณฑ์ประเภท active และ intelligent ที่สัมผัสกับอาหาร ต้องยื่นคำร้องต่อ European Food Safety Authority (EFSA) โดยสารดังกล่าวจะต้องมีความปลอดภัยตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้ใน Article 3 และ Article 4 ของ Regulation (EC) No.1935/2004 โดยต้องยื่นคำร้องภายใน 18 เดือนหลังจากที่อียูได้ออก Guidelines of the European Food Safety Authority for the Safety assessment of substances used in active and intelligent materials and articles แล้ว 2. การยื่นคำร้อง ผู้ยื่น (dossier) ต้องส่งมอบข้อมูลให้ EFSA ประเมินผลความเสี่ยง ทั้งที่อยู่ในรูปของเอกสารกระดาษและในรูปของแผ่น CD โดยต้องมีหนังสือกำกับว่าข้อมูลทั้งสองรูปแบบถูกต้องตรงกัน โดยข้อมูลในแผ่น CD ต้องแยกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ไม่สามารถแก้ไขได้ (File Acrobat) และประเภทที่แก้ไขได้โดยปกติ รวมทั้งต้องเตรียมข้อมูลต่างหากอีก 1 ชุด ที่สามารถเปิดเผยได้ต่อสาธารณชนที่ยื่นคำร้องเช่นเดียวกันได้ ทั้งนี้ หน่วยงาน Competent Authority ของประเทศผู้ยื่นคำร้องจะต้องสามารถตรวจสอบข้อมูลทุกอย่างที่ผู้ยื่นคำร้องได้ส่งมอบให้แก่ EFSA ด้วยเช่นกัน 3. ข้อมูลประกอบการยื่น แยกเป็น 3.1 Summary Document ได้แก่ บทสรุปข้อมูลด้านเทคนิคและการประเมินผลความปลอดภัย เช่น คุณลักษณะของวัสดุหรือบรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิตวัสดุหรือบรรจุภัณฑ์ วัตถุประสงค์การใช้งาน ผลประเมินความเป็นพิษของสารเคมี (toxicological data) เป็นต้น 3.2 Administrative Part ได้แก่ ชื่อผู้ยื่นคำร้อง (ชื่อบริษัท/หน่วยงาน) ชื่อบริษัทผู้ยื่น (หากแตกต่างจากชื่อผู้ยื่นคำร้องโดยตรง) ชื่อผู้รับผิดชอบต่อการยื่นคำร้อง เป็นต้น 3.3 Technical Dossier ได้แก่ คุณลักษณะ/ บทบาทวัสดุและบรรจุภัณฑ์ สารประกอบที่ใช้ผลิต ชื่อสาร คุณลักษณะทางกายภาพ กระบวนการผลิตวัสดุและบรรจุภัณฑ์ ข้อมูลความเป็นพิษของสารที่ใช้ ฯลฯ ทั้งนี้ หากผู้ยื่นคำร้องมีข้อมูลสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ก็ให้ส่งมอบให้พิจารณาในคราวเดียวกันด้วย อย่างไรก็ดี EFSA มีสิทธิที่จะขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ยื่นคำร้องได้ รายละเอียดคู่มือแนวทางปฏิบัติดังกล่าวสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก http://www.efsa.europa.eu/EFSA/efsa_locate-1178620753812_1211902781209.htm ที่มา : สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ