ปภ.แนะวิธีปฏิบัติตนช่วงน้ำท่วมอย่างปลอดภัย

ข่าวทั่วไป Thursday October 8, 2009 16:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--ปภ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่น้ำท่วม หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำหรือลงเล่นน้ำ อาจจมน้ำเสียชีวิต ระมัดระวังอันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจร สัตว์มีพิษ และโรคติดต่อในช่วงน้ำท่วม ส่วนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ควรจัดเวรยามเฝ้าระวัง ติดตามการพยากรณ์อากาศ และสังเกตสัญญาณเตือนภัยทางธรรมชาติ หากพบสิ่งผิดปกติให้รีบอพยพออกจากพื้นที่ทันที นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า จากอิทธิพลของพายุกิสนาที่เคลื่อนตัวผ่านประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย ๒๐ จังหวัด รวม ๘๗ อำเภอ ๕๐๓ ตำบล ๓,๕๘๗ หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า ๓.๙ แสนคน เพื่อป้องกันอุบัติภัยที่มักเกิดในช่วงน้ำท่วม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะนำวิธีปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย ดังนี้ หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำในที่น้ำท่วม พายเรือเข้าใกล้เสาไฟฟ้า เพราะอาจเกิดไฟฟ้าดูด ไม่อยู่ใกล้ทางน้ำไหลหรือ ร่องน้ำ เพราะอาจเกิดดินถล่ม ย้ายปลั๊กไฟ และสวิตซ์ไฟ ให้อยู่สูงกว่าระดับน้ำท่วมถึง ตัดกระแสไฟฟ้าภายในบ้าน เพื่อป้องกันไฟฟ้าดูดเสียชีวิต หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำ จับปลาในบริเวณที่น้ำท่วมขังหรือทางน้ำไหลผ่าน เพราะกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากอาจพัดจมน้ำเสียชีวิต รวมทั้งระมัดระวังสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษเช่น งู ตะขาบ แมลงป่อง เป็นต้น ที่อาจหนีน้ำขึ้นมาอาศัยอยู่ในบริเวณบ้านเรือน โดยเฉพาะบริเวณใต้ตู้ รองเท้า เสื่อ ผ้าเช็ดเท้า พร้อมทั้งจัดเก็บข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์ภายในบ้านให้เป็นระเบียบ เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษแอบอาศัยอยู่ภายในบ้าน ตลอดจนเพิ่มความระมัดระวังโรคติดต่อที่มักเกิดบ่อยครั้งในช่วงน้ำท่วม ได้แก่ โรคฉี่หนู อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์ โรคตับอักเสบ ตาแดง และไข้เลือดออก ควรบริโภคน้ำสะอาดและรับประทานอาหารที่สุกและสดใหม่ รวมทั้งดูแลสภาพแวดล้อมรอบบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ รักษาสุขภาพให้แข็งแรงและอบอุ่นตลอดเวลา จะช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและโรคระบาดต่างๆ ในช่วงฤดูฝน นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามการคาดการณ์สภาวะอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า อาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวผ่านพื้นที่ภาคใต้ในช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม จึงขอเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย ติดตามการพยากรณ์อากาศ และประกาศแจ้งเตือนภัยของหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ควรตั้งสติให้มั่น อย่าตื่นตระหนก ปฏิบัติตามคำเตือนของหน่วยงานราชการอย่างเคร่งครัด สังเกตสัญญาณเตือนภัยทางธรรมชาติ หากมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ระดับน้ำในห้วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สีของน้ำเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับภูเขา มีเสียงดังผิดปกติมาจากภูเขาหรือลำห้วย สัตว์ป่าแตกตื่น น้ำท่วมและเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นต้น ให้รีบอพยพออกจากพื้นที่ไปยังพื้นที่ปลอดภัยตามเส้นทางที่กำหนดในทันที ท้ายนี้ หากประชาชนเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติด้วยความใส่ใจ และตื่นตัวที่จะรับฟังพยากรณ์อากาศ วางแผนอพยพหนีภัย ร่วมกันกำหนดจุดปลอดภัย ตลอดจนปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ จะช่วยลดความรุนแรง ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจาก ภัยพิบัติได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ