กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส
ยูนิค ไมนิ่งฯ เตรียมประสานงานสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาครเข้าตรวจน้ำ - อากาศ บริเวณใกล้คลังถ่านหิน ต.สวนส้ม อ.บ้านแพ้ว หลังรองผู้ว่าฯ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ พร้อมกันนี้ ผู้บริหารยืนยันสร้างคลังสินค้าด้วยระบบป้องกันมาตรฐานโลก หวังให้เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมถ่านหินของไทย
บริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) โดยนายชัยวัฒน์ เครือชะเอม กรรมการผู้จัดการ ได้เข้าประชุมร่วมกับนายแก่นเพชร ช่วงรังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย ผู้บริหารอบต.สวนส้ม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สาธารณสุขจังหวัด เกษตรจังหวัด และ สำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัด เพื่อหารือถึงการแก้ปัญหาชาวบ้านตำบลสวนส้ม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ได้ร้องเรียนกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอให้ระงับการก่อสร้างคลังถ่านหินและท่าเทียบเรือของบริษัทฯ เนื่องจากได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งอากาศ น้ำ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของชาวบ้านและพืชผลการเกษตร โดยทางจังหวัดได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าพื้นที่เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกับชาวบ้านนั้น ได้ผลปรากฏว่า ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากถ่านหินอย่างชัดเจนทั้งด้านสุขอนามัย และพืชผลการเกษตร เนื่องจากขณะนี้ บริษัทฯได้มีมาตรการกองเก็บเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นถ่านหินเป็นอย่างดี หากจะพิสูจน์อีกครั้งจะต้องตรวจสอบในขณะที่บริษัทกำลังดำเนินการเมื่อระบบเสร็จสมบูรณ์เท่านั้น ซึ่งในเรื่องนี้ เป็นเรื่องของอบต.สวนส้มจะต้องพิจารณาว่าจะต่อใบอนุญาตในการกองเก็บหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างหยุดดำเนินการ
ทั้งนี้ นายแก่นเพชร จึงได้มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสาธารณสุข เกษตร และสิ่งแวดล้อม หาข้อมูลด้านวิชาการเพิ่มเติมด้านผลกระทบ พร้อมให้นักวิชาการจากสิ่งแวดล้อมจังหวัดและกรมควบคุมมลพิษเข้าตรวจสอบตัวอย่างน้ำ และอากาศอีกครั้ง รวมถึงศึกษามาตรการการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯว่าได้มาตรฐานเพียงพอหรือไม่ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาให้อบต.สวนส้มพิจารณาเพื่อการต่อใบอนุญาตอีกครั้ง รวมถึงการหามาตรการในการชี้แจงให้ชาวบ้านได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ซึ่งคาดว่า จะสามารถประชุมหาข้อสรุปได้อีกครั้งในระยะเวลาไม่เกิน 20 วัน
นายชัยวัฒน์กล่าวชี้แจงว่า บริษัท ดำเนินธุรกิจมากกว่า 12 ปี มีความเชี่ยวชาญในการจัดการเกี่ยวกับถ่านหิน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก โดยคลังสินค้าแห่งใหม่นี้ บริษัทฯ ได้ลงทุนสูงถึงกว่า 200 ล้านบาท เพื่อให้เป็นคลังถ่านหินต้นแบบแห่งแรกของไทย ที่มีระบบปิดเพื่อป้องกันฝุ่นละอองถ่านหินไม่ให้กระจายไปข้างนอก โดยบริษัทฯติดตั้งระบบระบายน้ำของคลังสินค้าเพื่อรับน้ำลงสู่ระบบบ่อพักน้ำและบ่อตกตะกอนก่อนระบายน้ำออกสู่สาธารณะ ส่วนบริเวณท่าเทียบเรือ บริษัทฯได้สร้างอาคารคลุมบริเวณท่าเทียบเรือในส่วนที่ขนถ่ายถ่านหินขึ้น พร้อมมีม่านกันฝุ่นละอองปิดรอบอาคาร โดยมีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำเพื่อฉีดป้องกันเป็นขั้นสุดท้าย และในระหว่างการขนถ่ายถ่านหินจากเรือ บริษัทฯมีการรองพื้นด้วยผ้าใบเพื่อป้องกันการตกหล่นของถ่านหินลงในแม่น้ำด้วย
นอกจากนี้ บริษัทฯยังได้วางมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งก่อน ระหว่างดำเนินการและหลังดำเนินการ การสร้างคลังสินค้าที่ ต.สวนส้มนี้ ถือเป็นการขยายการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการถ่านหินในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากราคาถูก เพื่อทำให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์พลังงานน้ำมันในปัจจุบัน
"ถ่านหินที่บริษัทฯนำเข้าคือ บิทูมินัสและซับบิทูมินัส ซึ่งเป็น "ถ่านหินสะอาด" ที่กรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้เป็นพลังงานทางเลือกมากขึ้น เนื่องจากมีความแตกต่างจากลิกไนต์ที่ผลิตในประเทศไทยอย่างมากคือ บิทูมินัส จะมีค่าความร้อนสูงกว่า มีปริมาณซัลเฟอร์ต่ำเพียง 0.5-0.1% และเมื่อเผาไหม้จะมีปริมาณ so2 ซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากปากปล่องน้อยกว่า 800 ppm และมีขี้เถ้าน้อยกว่า ส่วนลิกไนต์ จะมีปริมาณซัลเฟอร์ 2-3% และเมื่อเผาไหม้จะมีปริมาณ so2 จากปากปล่องมากกว่า 1,000 ppm อีกทั้งมีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับน้ำมันเตาซึ่งประหยัดต้นทุนการผลิตได้ถึง 40-60% " นายชัยวัฒน์กล่าว
นอกจากนี้ ถ่านหินยังไม่มีส่วนผสมของสารตะกั่ว โลหะหนัก หรือสารพิษใดๆที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายคนเราอย่างที่เข้าใจกัน หรือแม้กระทั่งฝุ่นละอองของถ่านหินก็เทียบได้กับฝุ่นละอองของดินทั่วไปในอากาศ ตามปกติถ่านหินจะสามารถปะปนกับพืชผลการเกษตรได้ เพราะในแง่วิชาการ ถ่านหินและขี้เถ้าเป็นส่วนผสมตัวหนึ่งที่อยู่ในปุ๋ย เพราะมีลักษณะพรุนและทำหน้าที่ตรึง NPK ในปุ๋ยไม่ให้ถูกละลายไปกับน้ำจากการรดน้ำต้นไม้หรือจากน้ำฝน ซึ่งจะทำให้พืชได้รับสารอาหารจากปุ๋ยได้เต็มที่ ส่วนกรณีซัลเฟอร์ไดออกไซด์นั้นจะเกิดก็ต่อเมื่อมีการเผาไหม้
นายชัยวัฒน์ยังได้กล่าวถึง กรณีที่แปลงกล้วยไม้ของนายเอี้ยง สุดสาคร ชาวบ้านตำบลสวนส้ม ซึ่งร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากถ่านหินนั้น บริษัทฯได้เชิญนักวิชาการจากกรมวิชาการเกษตรลงพื้นที่ตรวจเช็คสภาพและนำกล้วยไม้ไปตรวจสอบแล้วพบว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากถ่านหิน แต่เป็นเพราะการปฏิบัติดูแลกล้วยไม้ไม่ถูกวิธี และขาดการดูแลรักษาที่ดี ทำให้กล้วยไม้เกิดโรคแพร่ระบาดเข้าทำลายหลายชนิด โดยอธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้มีหนังสือแจ้งยืนยันมาที่บริษัทฯเมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ช่วยเหลือในการลอกคูคลองเพื่อคุณภาพน้ำที่ดี ไม่เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคและเป็นการปรับภูมิทัศน์ในเบื้องต้นแล้ว นอกจากนี้ยังยินดีให้เงินสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของนายเอี้ยงต่อไป รวมถึงการนำนักวิชาการมาให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง ถึงแม้ความเสียหายของแปลงกล้วยไม้ไม่ได้มาจากถ่านหินก็ตาม
"เรื่องนี้บริษัทฯไม่ได้นิ่งนอนใจหากชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัทจริง ซึ่งบริษัทฯก็ได้ขอให้ทางจังหวัดเป็นตัวกลางประสานงานให้ชาวบ้านได้มาลงชื่อ ที่อยู่ และแจ้งความเดือดร้อนที่อาจเกิดจากการประกอบการของบริษัทไว้ เพื่อทางบริษัทฯจะได้เข้าไปช่วยตรวจสอบและแก้ไขปัญหาโดยตรงทุกราย" นายชัยวัฒน์กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
คุณลัคคณา ขวัญงาม และ คุณสุจิรา วิโรจนะ ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
02-953-8633, 09-488-1777, 01-629-1821