ThaiBMA ชี้ดอกเบี้ยไม่เร้าใจ ต่างชาติเน้นลงทุนสั้นเก็งบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 9, 2009 11:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ไม่ห่วงกรณีมาบตาพุด เพราะนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมีการระดมทุนในไทยผ่านหุ้นกู้น้อยมาก แต่สิ่งที่รัฐบาลควรห่วงคือขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านแข่งกันดึงดูดการลงทุนมากขึ้น หากไทยมีปัญหาเรื้อรังไม่จบสิ้น นักลงทุนต่างชาติอาจจะหนีไปที่อื่นได้ ส่วนกรณีการลงทุนจากต่างชาติในตราสารหนี้ระยะยาวยังทรงๆ เนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยในปัจจุบันยังไม่น่าสนใจ นักลงทุนจึงเน้นการลงทุนสั้นๆเพื่อหวังผลตอบแทนจากค่าเงินมากกว่า นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวถึงกรณีผลกระทบจากการระงับ 76 โครงการที่ลงทุนในนิคมมาบตาพุด ว่ากรณีนี้เป็นผลกระทบต่อภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจของไทยกับการเข้ามาลงทุนของต่างชาติในแง่ของการเข้ามาลงทุน แต่ในส่วนของตลาดตราสารหนี้แล้วเชื่อว่าไม่ค่อยมีผลกระทบมากนัก เพราะนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนด้านการผลิตในนิคมอุตสาหกรรม มักจะระดมทุนในตลาดเงินระหว่างประเทศมากกว่าที่จะมาออกตราสารหนี้ในไทย “ที่ผ่านมามีน้อยมาก จะมีก็อย่างบริษัทประกอบรถยนต์อย่างโตโยต้า ฮอนด้า เป็นต้น เนื่องจากบริษัทต่างชาติยังมองเมืองไทยเป็นเพียงฐานการผลิต ส่วนแหล่งในการระดมทุนนั้นมักจะระดมมาจากที่อื่นที่ต้นทุนอาจจะถูกกว่าด้วยเครดิตของบริษัทแม่ในต่างประเทศ แล้วจึงค่อยส่งเงินเข้ามาให้ที่นี่ใช้ในการผลิตในการลงทุน เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้จริงๆแล้วต้องถือว่ากระทบต่อตลาดตราสารหนี้น้อย” กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า แต่สิ่งที่รัฐบาลน่าจะให้ความสำคัญในกรณีนี้ก็คือ ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านของไทยหลายประเทศได้มีการให้ความสำคัญกับการดึงดูดนักลงทุนไปลงทุนในประเทศของตนเองกันเป็นอย่างมาก เช่น ประเทศเวียดนาม ได้มีการลงทุนในเรื่องนิคมอุตสาหกรรม ปรับปรุงเรื่อง Infra structure เรื่องระบบการขนส่ง อย่างมากมาย เพื่อให้ต่างชาติสนใจเข้าไปลงทุน ดังนั้นหากเรายังมีกรณีปัญหาอยู่เป็นระยะๆเช่นนี้ ก็อาจจะทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่เชื่อมั่นและหันไปลงทุนในประเทศอื่นแทน นายณัฐพล กล่าวว่า สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนโดยตรงในตลาดตราสารหนี้ของไทยนั้น ปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับทรงๆ ไม่ได้มีสูงเหมือนกับในอดีตช่วงก่อนหน้าที่จะมีมาตรการสำรอง 30% ซึ่งตอนนั้นมีปริมาณเม็ดเงินลงทุนคงค้างสูงสุดประมาณ 130,000 ล้านบาท แต่หลังจากที่มีการใช้มาตรการ 30% ปริมาณการลงทุนของต่างชาติก็ลดลงมา โดยหลังจากเลิกใช้มาตรการแล้ว ก็กระเตื้องขึ้นบ้างมาอยู่ที่ระดับประมาณ 50,000 — 70,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพราะนักลงทุนต่างชาติ นอกจากหันไปใช้ช่องทางอื่นในการเข้ามาลงทุนแล้ว ในส่วนของตลาดตราสารหนี้เอง มองว่าหากลงทุนในตราสารหนี้เพื่อหวังผลตอบแทนในเรื่องดอกเบี้ยอย่างเดียวนั้น สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ค่อยน่าสนใจนัก ส่วนใหญ่นักลงทุนต่างชาติจะต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างอื่นด้วย เช่นกำไรจากการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ย และเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่า “ ถ้าหากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนจากดอกเบี้ย มักจะเป็นการลงทุนระยะกลางคือประมาณ 5-7 ปี แต่ถ้าลงทุนเพื่อหวังผลประโยชน์อื่นก็อาจจะลงทุนในระยะสั้นๆ 7 วัน - 30 วัน ส่วนเรื่องของการเก็งในเรื่องของดอกเบี้ยนั้น ต่างชาติอาจจะยังมองว่าตอนนี้ยังไม่น่าสนใจ เพราะทิศทางดอกเบี้ยถูกมองว่าคงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักและน่าจะเป็นขาขึ้นในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นนักลงทุนต่างชาติจึงเน้นไปที่ผลตอบแทนอย่างอื่นมากกว่า จึงทำให้การลงทุนในช่วงนี้เป็นการเข้ามาลงทุนสั้นๆแล้วก็ออกไป” นายณัฐพล กล่าวในท้ายสุดว่า ต้องยอมรับว่ารูปแบบการเข้ามาลงทุนของต่างชาติในปัจจุบันไม่ค่อยเป็นประโยชน์กับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของไทยในระยะยาวสักเท่าไรนัก แต่ก็ต้องยอมรับความจริงที่ธรรมชาติของนักลงทุนต่างชาตินั้นจะเข้ามาลงทุนก็ต่อเมื่อมองเห็นโอกาสในการทำกำไร และมักจะมองผลตอบแทนในระยะสั้นๆมากกว่าในระยะยาว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ