แพทย์แนะนำตรวจยีน K - RAS mutation ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะลุกลาม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและประหยัดค่าใช้จ่าย

ข่าวทั่วไป Friday October 9, 2009 13:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--พีอาร์ โฟกัส แพทย์แนะนำผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะลุกลาม ตรวจหายีน K-RAS mutation เพื่อให้ข้อมูลประกอบแนวทางการรักษาและการให้ยาเคมีบำบัดที่เหมาะสม ต่อผู้ป่วยเฉพาะบุคคล ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย รวมทั้งป้องกันการเกิดผลข้างเคียงจากยาที่ไม่ให้ผลการรักษาโดยไม่จำเป็น สามารถตรวจได้ที่โรงเรียนแพทย์ ซึ่งตรวจด้วยเทคนิค Real Time PCR: K-RAS Mutation Kit เป็นน้ำยาชุดแรกที่ผ่านการรับรองจาก CE Mark เพื่อใช้ในการตรวจหาชนิดของยีน K-RAS สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่จะได้รับยาในกลุ่ม anti-EGFR therapy รองศาสตราจารย์นายแพทย์ นรินทร์ วรวุฒิ อาจารย์ประจำหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า การเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ทั่วโลกเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 4 ในผู้ชาย และเป็นอันดับ 3 ในผู้หญิง ขณะเดียวกันในเอเชียมีอัตราการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มสูงขึ้น โดยในประเทศไทยพบผู้ชายป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงเป็นอันดับที่ 3 และผู้หญิงเป็นอันดับ 5 เลยทีเดียว ซึ่งที่ผ่านมาแนวทางการรักษาจะใช้รูปแบบการรักษาที่เหมือนกัน ขณะที่ในปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้น และค้นพบว่าประมาณ 35 — 45% ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่จะมียีน K-RAS ที่ผิดปกติ โดยยีน K-RAS ที่ผิดปกติจะยังส่งสัญญาณกระตุ้นการเติบโตของเซลล์อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะไม่มีปัจจัยกระตุ้นการเติบโตจากภายนอกเซลล์ก็ตาม ซึ่งทำให้ไม่สามารถควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ได้ ดังนั้นจึงเป็นการกระตุ้นเนื้อร้ายให้เติบโตขึ้น นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าผู้ป่วยที่มียีน K-RAS ชนิดปกติ จะตอบสนองการรักษาที่ดีจากการรักษาด้วยยา ในกลุ่ม anti-EGFR monoclonal therapies เช่นยา panitumumab และยา cetuximab ในขณะที่ผู้ป่วยที่มียีน K-RAS ชนิดผิดปกติ จะไม่ตอบสนองต่อการรักษาใดๆ ด้วยยาใช้กลุ่มนี้ ดังนั้น การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบเฉพาะบุคคลด้วยการตรวจชนิดของยีน K-RAS จึงเป็นการรักษาแนวใหม่ จึงอยากแนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้รับการตรวจชนิดยีน K-RAS ก่อนการรักษาด้วยยาในกลุ่มดังกล่าว เพื่อช่วยให้ข้อมูลแก่แพทย์ในการตัดสินใจรักษาได้อย่างถูกแนวทาง รวมถึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลา ในการรักษาให้กับผู้ป่วยอีกด้วย “โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่พบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในแถบเอเชีย โดยมีอัตราการเกิดสูงเป็นอันดับที่ 4 รองลงมาจากโรคมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งมดลูก ในปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ด้วยการตรวจชนิดยีน K-RAS ในประเทศไทย เริ่มมีบทบาทมากขึ้น และเป็นแนวทางการรักษาใหม่ที่ถือได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวม เนื่องจากเป็นการยืนยันได้ว่าผู้ป่วยคนใดตอบสนองต่อยาที่รักษาหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ตัดสินใจให้การรักษาที่ ถูกแนวทาง และมีประสิทธิผล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับโอกาสในการรักษาที่มีแนวโน้มดีขึ้น ช่วยประหยัดเวลาและ ลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษามะเร็งได้” แพทย์กล่าวสรุปในที่สุด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ บริษัท พีอาร์ โฟกัส จำกัด Tel. 02-6547-551-2 Fax. 02-6547553 / E-mail: prfocus@truemail.co.th / www.prfocus.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ