“เรคกูเลเตอร์” แนะ พลังงานนิวเคลียร์ เหมาะเป็นทางเลือกเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 12, 2009 07:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--Triple J Communication “เรคกูเลเตอร์” แนะ พลังงานนิวเคลียร์ เหมาะเป็นทางเลือกเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในอนาคต ชี้การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าประชาชนถูกลง และลดความเสี่ยงด้านพลังงาน นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ ซึ่งหากพิจารณาตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2007) ที่ระบุว่าจะต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสูงถึง 50,000 - 54,000 เมกะวัตต์ ในอีก 15 ปีข้างหน้านั้น จึงเห็นได้ชัดว่าประเทศไทยมีความจำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติให้น้อยลง เพื่อรักษาเสถียรภาพ และลดความเสี่ยงด้านพลังงานของประเทศ โดย กกพ.มีความเห็นว่า จะต้องเพิ่มทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะจากพลังงานนิวเคลียร์ ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า ประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ และพลังงานในหลายประเทศได้มีการใช้พลังงานนิวเคลียร์ โดยเฉพาะใน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศจีน มีการใช้เชื้อเพลิงพลังงานนิวเคลียร์ถึง 20 % นอกจากนี้ประเทศในสหภาพยุโรป อาทิ ฝรั่งเศสมีการใช้พลังงานนิวเคลียร์สูงถึง 70% อังกฤษ มีการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ประมาณ10-20% ซึ่งเป็นการซื้อไฟฟ้ามาจากฝรั่งเศส เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาแม้ว่าประเทศจะมีลิกไนต์จำนวนมาก แต่ก็มีการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งครั้งหนึ่งประชาชนในประเทศสหรัฐฯ เคยกลัวต่อผลกระทบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ปัจจุบันทางทะเลฝั่งตะวันออกมีโครงการผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 7-8 โรง นอกจากนี้ การที่หลายประเทศให้ความสนใจการใช้พลังงานนิวเคลียร์ เนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่วนความกลัวเรื่องการกำจัดกากนิวเคลียร์ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและสามารถนำกากนิวเคลียร์กลับมาใช้ใหม่ได้และคงไม่ใช่เพื่อนำไปใช้ทำอาวุธสงคราม อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดต้องมีการกำจัดกากนิวเคลียร์ ซึ่งแนวทางที่หลายประเทศดำเนินการ คือการฝังกลบให้ลึกในใต้ดิน นายดิเรก กล่าวเพิ่มว่า ค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานนิวเคลียร์จะมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้ใช้ค่าไฟฟ้าถูกลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ จะมีราคาใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และถูกกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ดังนั้น ย่อมส่งผลดีต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ ซึ่งข้อดีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นอกจากมีต้นทุนต่ำที่สามารถแข่งขันได้กับเชื้อเพลิงฟอสซิลและไม่สร้างผลกระทบต่อปัญหาโลกร้อน เนื่องจากปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยมากแล้ว เชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้ายังมีอายุประมาณ 2,000 ปี อย่างไรก็ตาม แนวทางการพัฒนาพลังงานในอนาคต คงไม่ใช่เพียงแค่พลังงานนิวเคลียร์อย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ซึ่งพลังงานลมพบศักยภาพจำนวนมากในจังหวัดลพบุรี และทางภาคใต้ของประเทศ ขณะที่การส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันบ้านเรือนที่ติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านสามารถขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าอีก 8 บาทต่อหน่วย จากราคารับซื้อไฟฟ้าปกติ 3 บาทต่อหน่วย ซึ่งคาดว่าจะคืนทุนภายใน 7 ปี หลังจากนั้นในปีที่ 8-9 ผู้ใช้ไฟฟ้าก็สามารถใช้ไฟฟ้าภายในบ้านได้ฟรี โดยไม่ต้องจ่ายเงินในบิลค่าไฟ รวมถึงเรื่องนโยบายของรัฐบาลในการประหยัดพลังงาน ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดการใช้พลังงาน ซึ่งวิธีง่ายๆ ได้แก่ การเปลี่ยนมาใช้หลอดฟลูอาเรสเซนต์ที่พอดีกับบัลลาสต์สามารถช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ครึ่งหนึ่ง และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับผู้อยู่อาศัย Parichart Vichahong Public Relations Officer Triple J Communication., Ltd 02-221-2296

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ