กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--ปภ.
กรมป้องกันฯ เตือนเดือนกุมภาพันธ์ภาคเหนือตอนบนยังคงมีอากาศหนาวต่อไปจนถึงสิ้นเดือน สภาพอากาศที่แห้ง เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวถึงสภาพอากาศในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ว่า ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคเหนือมีอุณหภูมิสูงขึ้นและอากาศอุ่นขึ้นเล็กน้อย แต่ในบางช่วงลมหนาวกำลังแรงจากประเทศจีนจะพัดปกคลุมตอนบนของภาค ทำให้อุณหภูมิลดลง บริเวณยอดดอย เทือกเขาแดนลาว ถนนธงชัย ผีปันน้ำ และตระนาวศรีจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดกับมีหมอกหนาในตอนเช้า และจะมีอากาศหนาวเย็นต่อไปจนถึงสิ้นเดือน ตอนบนของภาคอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 14—16 องศาเซลเซียส ส่วนตอนล่างอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 17—20 องศาเซลเซียส ในช่วงครึ่งหลังของเดือนอุณหภูมิจะสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศทั่วไปมีสภาพแห้งจึงทำให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคเหนือแล้ว 12 จังหวัด 46 อำเภอ 4 กิ่งอำเภอ 212 ตำบล 2,149 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 13.18 ของหมู่บ้านทั้งหมด สถานการณ์ภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกน้อย ทำให้ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญในพื้นที่ภาคเหนือ มีจำนวน 17,982 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 76 ของระดับน้ำเก็บกักของอ่าง ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปกติและปริมาตรน้ำในอ่างเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตชลประทานไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2549 สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่นอกเขตชลประทานจะขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร สถานการณ์ภัยแล้งจะเริ่มขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น โดยดัชนีการเกิดไฟป่าอยู่ในเกณฑ์สูงจึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าได้ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ดอยหลวง ห้วยน้ำดัง แจ้ซ้อน และอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน ประชาชนควรระมัดระวังการใช้เชื้อเพลิงในการทำกิจกรรมต่างๆ ด้วย
จากสภาพอากาศที่แห้งนี้ กรมป้องกันฯ ขอให้ท่านที่ท่องเที่ยวป่าหรือกระทำกิจกรรมต่างๆ ในป่า หรือการประกอบอาหารในป่า ขอให้กระทำอย่างระมัดระวัง ดับไฟให้สนิททุกครั้งหลังจากกระทำกิจกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟที่อาจก่อให้เกิดไฟป่าขึ้น นอกจากนี้ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด สำรวจและซ่อมแซมภาชนะเก็บกักน้ำ เพื่อให้มีสำรองเพียงพอตลอดฤดูแล้ง ตลอดจนการช่วยดูแลแหล่งน้ำในชุมชน เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง หากพบว่าแหล่งน้ำตื้นเขินให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการขุดลอก หรือแจ้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ของท่าน หรือสายด่วน 1784 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อประสานขอรับความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง--จบ--