กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--ธนาคารรีไซเคิล
การจัดตั้งธนาคารรีไซเคิลในชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นทาง โดยอาศัยรูปแบบธนาคาร ซึ่งสมาชิกจะสามารถนำวัสดุรีไซเคิลที่คัดแยกมาฝากเพื่อสร้างการออมหรือสามารถแลกเป็นเงินสดได้ ทั้งนี้ รายได้ของธนาคารที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการเกิดจากผลต่างของราคาที่รับซื้อจากสมาชิกในชุมชนและและราคาที่ขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า
สถาบันฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมการจัดตั้งธนาคารวัสดุรีไซเคิลมาตั้งแต่ปี 2549 โดยเริ่มต้น
นำร่องใน 7 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนบ้านบึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมชนบ้านรัชดา 1,2 จ.น่าน ชุมชนดอนอุดม-โนนยาง 2 จ.อุดรธานี ชุมชนที่ 3 บ้านงามประทีป จ.เพชรบูรณ์ ชุมชนทรัพย์สิน-พัฒนา กรุงเทพมหานคร ชุมชนดอนทรายก้าวหน้า จ.นครปฐม และชุมชนบ้านดงม่อนกระทิง จ.ลำปาง รวมปริมาณวัสดุรีไซเคิลที่รวบรวมได้จาก 7 ชุมชนนำร่องตั้งแต่เปิดธนาคาร (เดือนมีนาคม 2549 ถึงเดือนธันวาคม 2550 ประมาณ 280 ตัน ต่อมาในปี 2550 สถาบันฯ ได้ร่วมกับ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการจัดตั้งธนาคารวัสดุรีไซเคิล จำนวน 80 ชุมชน ภายใต้โครงการธนารวัสดุรีไซเคิลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 80 ชุมชน ซึ่งสามารถรวบรวมปริมาณวัสดุ
รีไซเคิลได้ประมาณ 1,800 ตัน (ตุลาคม 2550 - ธันวาคม 2551) จากนั้นจึงดำเนินการต่อเนื่องในปี 2551 ในโครงการจัดตั้งธนาคารวัสดุรีไซเคิล 200 ชุมชน
ในปี 2552 สถาบันฯ มีแผนที่จะขยายผลรูปแบบธนาคารวัสดุรีไซเคิลไปในวงกว้าง มีเป้าหมายที่ 400 ชุมชน ทั่วประเทศ โดยกลยุทธ์ที่นำมาใช้ก็คือ การสร้างกลุ่มผู้สนับสนุนการจัดตั้ง (พี่เลี้ยง) ที่ได้จากโครงการธนาคารวัสดุรีไซเคิลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 80 ชุมชนและ โครงการเพิ่มศักยภาพธนาคารวัสดุรีไซเคิล 200 ชุมชน รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการเป็นพี่เลี้ยงให้ชุมชนเครือข่ายได้ โดยมีหน้าที่ในการสรรหาชุมชนเครือข่าย ให้คำแนะนำในการจัดตั้งธนาคารฯ ให้กับชุมชนเครือข่ายของตน และผลักดันชุมชนเครือข่ายให้สามารถจัดตั้งธนาคารฯ ได้ ซึ่งกลยุทธ์ที่นำมาใช้นี้จะช่วยให้ชุมชนสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันในสังคมได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-2721552-3 เสาวลักษณ์