กทม.รณรงค์ปลุกกระแสคนกรุงรักการอ่าน

ข่าวทั่วไป Monday October 12, 2009 14:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์หนังสือเปลี่ยนชีวิต อ่านหนังสือ เปิดความคิด ชีวิตเปลี่ยน โดยผู้แทนเครือข่ายหนังสือเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) ได้นำคณะเยาวชนและผู้ปกครอง ร่วมกิจกรรมเพื่อปลุกกระแสให้กรุงเทพฯ กลายเป็นมหานครแห่งการอ่าน โดยกิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นบริเวณพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานครในวันที่ 12-13 ต.ค.52 และจะจัดให้มีเทศกาลหนังสือเปลี่ยนชีวิต อ่านหนังสือ เปิดความคิด ชีวิตเปลี่ยน ในวันที่ 13 ต.ค.52 ณ โรงแรมเอสดี อเวนิว เขตบางพลัด เพื่อสื่อสาร และสร้างแรงบันดาลใจต่อการนำหนังสือและการอ่านไปเป็นเครื่องมือ เพื่อการพัฒนาตนเอง ผู้อื่น และสังคม ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยน และขยายแนวร่วมสู่การขับเคลื่อนในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยการอ่าน นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัจจุบันอัตราเฉลี่ยการอ่านของประเทศไทยในภาพรวมประมาณ 5 เล่มต่อปี เมื่อเทียบกับสิงคโปร์มีการอ่านเฉลี่ย 20 เล่มต่อปี ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อกระตุ้นการอ่านให้มากยิ่งขึ้น โดยภายใน 3 ปี กทม.จะรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนอ่านหนังสือให้มากขึ้นเฉลี่ย 10 เล่มต่อปีตามนโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความรู้และการอ่าน โดยสนับสนุนจัดสร้างห้องสมุดมิติใหม่ และบ้านหนังสือที่ทันสมัยให้กระจายทุกพื้นที่ 50 เขตของกทม. รวมถึงการจัดห้องสมุดเคลื่อนที่ในรูปแบบคาราวานแห่งความสุขไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยรักการอ่านผ่านการเล่นและร่วมกิจกรรมต่างๆ ตามที่กทม.จัดให้ เพื่อมุ่งให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งการอ่านต่อไป รองผู้ว่าฯ ทยา ยังกล่าวถึงปัญหาการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนในสังกัดกทม.ด้วยว่า อัตราการอ่านออกเขียนได้ของเด็กในสังกัดกทม. นั้น แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และอ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่อง ซึ่งในกรณีแรกคือ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ คิดเป็นร้อยละ 1.8 ขณะที่อ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่องคิดเป็นร้อยละ 7 อย่างไรก็ตามกทม.ได้พยายามลดจำนวนอัตราการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้โดยจัดกิจกรรมติวเข้มหลังเลิกเรียนทุกวัน นอกจากนี้ในส่วนของเด็กออทิสติกหรือเด็กพิเศษได้มีการคัดกรองและเสริมพิเศษความรู้ โดยไม่ปล่อยผ่านไปยังชั้นเรียนที่สูงขึ้นหากไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด เนื่องจากการอ่านออกเขียนได้เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ของวิชาอื่นๆ ด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ