กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานภาวะฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุกิสนา ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย ๒๔ จังหวัด รวม ๙๙ อำเภอ ๕๔๖ ตำบล ๓,๘๗๓ หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ๑๘๔,๑๐๗ ครัวเรือน ๔๐๗,๓๖๒ คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย ๑๓๓,๔๓๘ ไร่ ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ๑๐ จังหวัด ยังคงมีสถานกาณ์อุทกภัยใน
๑๔ จังหวัด
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ภาวะฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุกิสนา ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย ๒๔ จังหวัด รวม ๙๙ อำเภอ ๕๔๖ ตำบล ๓,๘๗๓ หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรเสียหาย ๑๓๓,๔๓๘ ไร่ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ๑๘๔,๑๐๗ ครัวเรือน ๔๐๗,๓๖๒ คน ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ๑๐ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง นครสวรรค์ ลพบุรี เลย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร ตาก เชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน ยังคงมีสถานกาณ์อุทกภัยใน ๑๔ จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย แม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำของอำเภอกงไกรลาศ และยังคงมีน้ำท่วมขังบางพื้นที่ของอำเภอเมืองสุโขทัย และอำเภอศรีสำโรง คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน ๑-๒ วัน พิษณุโลก น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร ๒ อำเภอ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน ๑-๒ วัน พิจิตร น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร ๘ อำเภอ ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในสัปดาห์หน้า ชัยนาท ระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในที่ลุ่มต่ำการเกษตรบางพื้นที่ของอำเภอหันคา คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ๑-๒ วัน และน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ๓ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองชัยนาท มโนรมย์ และสรรพยา สิงห์บุรี น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำของอำเภออินทร์บุรี อ่างทอง น้ำจากเจ้าพระยาเอ่อล้นท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำอำเภอเมืองอ่างทอง และอำเภอป่าโมก พระนครศรีอยุธยา น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ๑๐ อำเภอ ปทุมธานี น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลลงมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่อำเภอเมืองปทุมธานี ชัยภูมิ น้ำในแม่น้ำชีเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อำเภอบ้านเขว้า และอำเภอจัตุรัส นครราชสีมา ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอพิมาย คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน ๒-๓ วัน บุรีรัมย์ น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรของอำเภอลำปลายมาศ คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน ๒-๓ วัน กาฬสินธุ์ น้ำท่วมพื้นที่ชลประทานในเขตโครงการส่งน้ำฯของอำเภอเมืองกาฬสินธุ์และอำเภอยางตลาด หากไม่มีฝนตกเพิ่มคาดว่าระดับน้ำจะลดลงใน ๑ -๒ วันนี้ ศรีสะเกษ น้ำท่วมเขตเทศบาลศรีสะเกษ และพื้นที่การเกษตร ๕ อำเภอ ระดับน้ำที่สถานีบ้านหนองหญ้าปล้อง มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อุบลราชธานี น้ำท่วมพื้นที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี และวารินชำราบ ระดับน้ำในแม่น้ำมูลที่สะพานเสรีประชาธิปไตยสูงกว่าตลิ่ง ๐.๗๔ เมตร และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยมีน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรที่ราบลุ่มในเขตอำเภอเขื่องใน นอกจากนี้ ได้เกิดฝนตกหนัก ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรีเนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน ระดับน้ำสูงประมาณ ๐.๒๐ — ๐.๕๐ เมตร ขณะนี้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัยเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่นำเครื่องจักรกลรถยนต์ เรือท้องแบน ๕๘ ลำ ออกให้บริการขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของ และอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน ๔ เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ ๔ ชุด เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัย กระสอบทราย ๓๘,๘๐๐ ใบ สำหรับจัดทำแนวคันกั้นน้ำ พร้อมทั้งนำถุงยังชีพ ๒๒,๖๐๒ ถุง น้ำดื่ม ๓,๒๐๐ โหล เวชภัณฑ์ ๒๐๐ ชุด ไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ และเต็นท์ที่พักอาศัยจำนวน ๘๑ หลัง สุขา ๘ หลังเพื่อให้บริการผู้ประสบภัยและบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อีกทั้งจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลัง(งบทดรอง ๕๐ ล้านบาท) สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป