กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
จากการที่ กลุ่มคอร์รับชั่นวอตช์ ได้อ้างผ่านเว็บไซต์ ถึงการดำเนินการที่ไม่โปร่งใสของ โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติของกองทัพเรือ จำนวน ๓ ลำ โดยได้มีการระบุถึงการจัดสร้างเรือรบด้วยวิธีพิเศษของกรมอู่ทหารเรือ ที่ได้มีการพิจารณาคัดเลือกให้บริษัทอู่เรือมาร์ซัน เป็นผู้ดำเนินการ โดยมิได้พิจารณาซองประมูลของอีก ๓ บริษัท ซึ่งประกอบด้วย บริษัท อู่เรืออิตัลไทยมารีน บริษัทอู่เรือ เอเชี่ยนมารีน และ บริษัทอู่กรุงเทพ
จากกระแสข่าวดังกล่าวทำให้ พลเรือเอก วีรพล วรานนท์ เสนาธิการทหารเรือ ออกมายืนยันถึงความโปร่งใสของโครงการ โดยวานนี้ (๑๗ มกราคม ๒๕๔๙) ได้เชิญสื่อมวลชนสาขาต่าง ๆ พร้อม ผู้แทนจากสำนักตรวจเงินแผ่นดินและจเรทหารทั่วไป กระทรวงกลาโหม มารับฟังการบรรยายสรุป ขั้นตอนการดำเนินการพร้อมทั้งนำเยี่ยมชมความก้าวหน้าของโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ ณ อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดย พลเรือเอก วีรพล ได้เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว มีความเป็นมาสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๔๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีรับสั่งกับ พลโท สมทัต อัตตะนันต์ (ยศขณะนั้น) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ ๑ นายประสงค์ พิฑูรย์กิจจา ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และตน สมัยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ และไปปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บัญชาการหมู่เรือรักษาการณ์วังไกลกังวล ความว่า "เรือรบขนาดใหญ่มีราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือ จึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสม และสร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุด เรือ ต.91 ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้นและสร้างเพิ่มเติม" จากพระราชดำรัสดังกล่าว ตนได้ทำรายงานเสนอกองทัพเรือ ซึ่งกองทัพเรือได้สนองแนวพระราชดำรัส โดยได้เสนองบประมาณไปยังรัฐบาล เพื่อจัดสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวน ๓ ลำ
หลังจากนั้น พลเรือโท วัลลภ เกิดผล รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธาน คณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียติ ได้ชี้แจงรายละเอียดว่า โครงการดังกล่าวคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณจัดสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวน ๓ ลำ ในวงเงิน ๑,๙๑๒ ล้านบาท ผูกพันงบประมาณปี ๔๘ ถึง ๕๐ โดยใน ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๘ คณะกรรมการบริหาร โครงการ ฯ ได้เห็นชอบให้มีการว่าจ้างบริษัทภายนอกจัดสร้าง ๒ ลำ และกรมอู่ทหารเรือต่อเอง ๑ ลำ ซึ่งเหตุที่ไม่ดำเนินการต่อที่กรมอู่ทหารเรือทั้ง ๓ ลำ เนื่องจากกำลังไม่เพียงพอ อีกทั้งกรมอู่ทหารเรือยังต้องปฏิบัติภารกิจหลัก ในการซ่อมบำรุงเรือแบบต่าง ๆ ของกองทัพเรือเป็นจำนวนมาก
พลเรือโท วัลลภ ฯ กล่าวต่อว่า เมื่อ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๘ กองทัพเรือ ได้มีการออกเอกสาร เชิญชวนเสนอราคาโดยกำหนดคุณลักษณะของอู่เรือที่จะต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งให้แก่กองทัพเรือว่า ต้องได้รับ ISO 9001 และมีประสบการณ์ในการต่อเรือรบ หรือเรือตรวจการณ์ที่มีขนาดใกล้เคียงกันมาแล้ว โดยได้มีการสอบถามไปยังสมาคมซ่อมและสร้างเรือ ซึ่งทางสมาคมฯ ได้เสนอรายชื่อจำนวน ๔ บริษัท ที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการ ประกอบด้วย บริษัทอู่เรือมาร์ซัน บริษัทอู่เรืออิตัลไทยมารีน บริษัทอู่เรือเอเชี่ยนมารีน และ บริษัทอู่กรุงเทพ ทางกองทัพเรือจึงได้เชิญผู้แทนทั้ง ๔ บริษัท มาชี้แจงและซักถาม โดยให้เวลา ๔๕ วัน ในการยื่นซอง จำนวน ๓ ซอง คือ ซองคุณลักษณะ ซองเสนอเทคนิค และซองประกวดราคา ซึ่งเมื่อเปิดซอง คุณลักษณะและซองเทคนิคแล้ว ทางกองทัพเรือจะมีคณะกรรมการไปตรวจความพร้อมของอู่เรือก่อนแล้วจึงจะเปิดซองเสนอราคา แต่เมื่อผ่านการเปิด ๒ ซองแรกและตรวจอู่แล้วปรากฎว่า อู่เรือมาร์ซัน ผ่านเกณฑ์ความพร้อม ๗๕ % เพียงอู่เดียว ทำให้ไม่ต้องมีการเปิดซองประกวดราคาของอีก ๓ บริษัทที่เหลือ โดยในขณะนี้ยังมิได้ มีการลงนามในสัญญาแต่อย่างใด เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนรอการอนุมัติงบประมาณ จากสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ แผนงานสร้างเรือมีกำหนดลงนามในเดือน มกราคม ๒๕๔๙ และกำหนด แล้วเสร็จทั้ง ๓ ลำ ให้ทันเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายในนามพสกนิกรชาวไทย ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว จะมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐--จบ--