กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--กทม.
กทม. เตรียมปิดซ่อมสะพานข้ามแยกพระราม 4 เริ่มปิดการจราจรวันที่ 16 ต.ค. 52 ใช้เวลาปิด 90 วัน โดยเริ่มปิดฝั่งขาเข้าจากคลองเตยมุ่งหน้าหัวลำโพงก่อน ประชาชนสามารถตรวจสอบเส้นทางเลี่ยงโครงการปรับปรุงสะพานเหล็กข้ามทางแยกได้ที่ www.bangkok.go.th, www.trafficpolice.com และ http://bkkbridge.homeip.net พร้อมแจ้งปัญหาการจราจรได้ทางสายด่วน กทม. 1555 และ 1197
ผู้ว่าฯกทม. นำทีมแจกแผ่นพับประชาสัมพันธ์และเส้นทางเลี่ยง
(13 ต.ค. 52) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมก่อนปิดช่องจราจรบนสะพานเหล็กข้ามทางแยกพระราม 4 — สีลม สุรวงศ์ สี่พระยา (สะพานไทย-ญี่ปุ่น) เพื่อปรับปรุงตามโครงการที่กรุงเทพมหานครมีแผนซ่อมแซมสะพานข้ามทางแยกทั่วกรุงเทพ ทั้ง 13 แห่ง โดยกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการปรับปรุงไปแล้ว 3 แห่ง คือ สะพานข้ามแยกรัชโยธิน สะพานข้ามแยกบางพลัด และสะพานข้ามแยกพงษ์เพชร ส่วนสะพาน ที่จะปรับปรุงต่อไป คือสะพานข้ามแยกพระราม4 โดยจะเริ่มปิดการจราจรบนสะพานเพื่อปรับปรุงในวันที่ 16 ต.ค. 52 เพื่อความมั่นคง แข็งแรง ให้ได้มาตรฐาน ยืดอายุการใช้งาน และต้านแรงแผ่นดินไหว โดยมีแผนการปิดการจราจรและแผนการซ่อมแซมที่แล้วเสร็จแน่นอน พร้อมนำคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครแจกแผ่นพับประชาสัมพันธ์โครงการและเส้นทางเลี่ยงแก่ประชาชนที่ใช้เส้นทางในช่วงเวลาที่มีการปิดซ่อม
เริ่มปิดซ่อมสะพานข้ามแยกพระราม 4 (สะพานไทย-ญี่ปุ่น) 16 ต.ค. 52 ฝั่งขาเข้าก่อน 45 วัน
สะพานข้ามทางแยกพระราม 4 กำหนดปิดการจราจรเพื่อซ่อมแซมตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 52 - 13 ม.ค. 53 รวม 90 วัน โดยปิดการจราจรฝั่งขาเข้าจากคลองเตยมุ่งหน้าไปหัวลำโพง ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. - 30 พ.ย. 52 เป็นเวลา 45 วัน โดยประชาชนสามารถใช้เส้นทางขาเข้าเมือง ดังนี้ 1. รถที่มาจากถนนพระราม4 เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเกษมราษฎร์ แล้วเลี้ยวขวาเพื่อเข้าถนนสุนทรโกษา แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระราม 3 ถึงแยกรัชดานราธิวาสฯ เลี้ยวขวาเพื่อเข้าถนนนราธิวาสตรงไป จากนั้นมุ่งหน้าไปแยกสามย่านแล้วเลี้ยวซ้ายไปใช้ถนนพระราม 4 ขาเข้า 2. รถลงจากทางด่วนให้ใช้สะพานไทย-เบลเยี่ยม แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสีลมขาเข้าเพื่อที่จะมุ่งหน้าไปถนนพระราม 4 ได้ 3. รถลงจากทางด่วนตรงไปใช้พื้นราบคู่ขนานสะพานไทย-เบลเยี่ยม ถึงแยกวิทยุเลี้ยวขวา มุ่งหน้าแยกเพลินจิตเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสุขุมวิทตรงไปแยกปทุมวันเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเจริญบรรทัดทอง แล้วเลี้ยวขวาที่แยกสะพานเหลืองไปถนนพระราม 4 ขาเข้า และ 4. รถลงจากทางด่วนใช้ถนนเชื้อเพลิงจากแยกใต้ทางด่วนพระราม 4 เลี้ยวขวาออกถนนพระราม 3 ชิดขวาขึ้นสะพานข้ามแยกถนนนางลิ้นจี่ถึงแยกรัชดานราธิวาสฯ เลี้ยวขวาถนนนราธิวาสฯ ถึงแยกสุริยวงศ์นราฯ เลี้ยวขวาเข้าถนนสุริยวงศ์ ถึงแยกทรัพย์สุริยวงศ์ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนทรัพย์ ถึงแยกทรัพย์สี่พระยา
ปิดการจราจรฝั่งขาออกอีก 45 วัน แนะนำเส้นทางเลี่ยงโครงการ
หลังจากนั้นจะปิดการจราจรฝั่งขาออก จากหัวลำโพงมุ่งหน้าไปคลองเตย ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 52 — 13 ม.ค. 53 เป็นเวลา 45 วัน โดยประชาชนสามารถใช้เส้นทางขาออกเมือง ดังนี้ รถที่มาจากสามย่านเลี้ยวขวาเข้าถนนสี่พระยาไปแยกรัชดา-นราธิวาสฯ ถนนพระราม 4 ขาออก ถึงแยกสามย่านเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสี่พระยา ถึงแยกสี่พระยาเลี้ยวซ้ายเข้าถนนแยกทรัพย์ ถึงแยกทรัพย์สุริยวงศ์เลี้ยวขวาเข้าถนนสุริยวงศ์ถึงแยกสุริยวงศ์-นราฯ เลี้ยวซ้ายใช้ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ขาออก ถึงแยกรัชดาฯ นราธิวาสฯ (แยกรัชนนทรี) สามารถไปได้ 3 เส้นทาง ดังนี้ 1. เลี้ยวซ้ายใช้ถนนรัชดาฯขาเข้า ผ่านแยกใต้ทางด่วนถนนนางลิ้นจี่ชิดซ้ายขึ้นทางด่วนเลียบแม่น้ำ ตรงไปใช้ถนนพระราม 3 ไปห้าแยก ณ ระนอง 2. เลี้ยวขวาใช้ถนนรัชดาฯ ขาออกตรงไปขึ้นทางด่วนที่ด่านสาธุประดิษฐ์ไปแจ้งวัฒนะ และ 3. ตรงไปแยกนรารามเลี้ยวขวาใช้ถนนพระราม 3 มุ่งหน้าไปสะพานพระราม 3 เพื่อข้ามไปฝั่งธนบุรี
เหตุที่ต้องดำเนินการปรับปรุงสะพานข้ามแยก
กรุงเทพมหานครมีโครงการที่จะปิดปรับปรุงสะพานเหล็กข้ามแยกทั้ง 13 แห่ง ที่มีอายุการใช้งานมานานกว่า 10-15ปี ทำให้เกิดความชำรุดเสียหายและเสื่อมสภาพบริเวณผิวการจราจร ราวสะพาน หากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ อีกทั้งสะพานเหล็กข้ามทางแยกแต่ละแห่งกรุงเทพมหานครได้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2534—2535 ดังนั้นการออกแบบและก่อสร้างจึงไม่ได้คำนึงถึงผลของแรงแผ่นดินไหว เนื่องจากในอดีตพื้นที่กรุงเทพมหานครถือเป็นบริเวณที่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหว แต่ในปัจจุบันกฎกระทรวงได้กำหนดให้กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่อาจได้รับความเสี่ยงภัยจากแผ่นดินไหว จึงต้องมีมาตรการป้องกันภัยจากการตกร่วงของคานและตัวสะพานส่วนบนภายใต้แรงแผ่นดินไหว โดยกรุงเทพมหานครจะปรับปรุงชุดฐานรองรับคานสะพานด้วยการเปลี่ยนชนิดของฐานรองรับเพื่อให้ทนต่อการเคลื่อนที่ตามแนวราบและแรงสั่นสะเทือนได้อย่างเพียงพอตามกฎกระทรวง ส่วนการปิดซ่อมสะพานเหล็กข้ามแยกนั้น เป็นผลจากจากการพิจารณาร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาล สถานีตำรวจในพื้นที่ที่สะพานตั้งอยู่ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดจากปัญหาจราจรให้น้อยที่สุด
ทั้งนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบเส้นทางจราจรที่สามารถจะหลีกเลี่ยง และติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการปรับปรุงสะพานข้ามแยกในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ที่ www.bangkok.go.th, www.trafficpolice.com และ http://bkkbridge.homeip.net พร้อมแจ้งปัญหาอุปสรรคการเดินทางรวมทั้งผลกระทบจากการจราจรได้ที่สายด่วน กทม. 1555 และ 1197