เอเชียและการจัดระเบียบโลกใหม่ โดย นายนิโคลัส ควอน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 14, 2009 14:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย กลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประจำประเทศฮ่องกง การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในตอนนี้เกิดขึ้นแล้วจริง แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองต่อจากนี้ไปคือความแตกต่างในการฟื้นตัว ในปัจจุบันมีทั้งฟื้นตัวเป็นรูปตัววี หรือตัวดับบลิว (V or W shaped) แต่ละประเทศในโลกจะฟื้นตัวในลักษณะที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการตอบสนองต่อนโยบายที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ในภูมิภาคเอเชียซึ่งมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ในเวลาเดียวกันมีการก่อหนี้ต่างประเทศในระดับต่ำ และนโยบายเศรษฐกิจที่เหมาะสม ทำให้เริ่มฟื้นตัวก่อนและมีโอกาสฟื้นตัวต่อเนื่องได้ โดยส่วนใหญ่จะฟื้นตัวเป็นรูปตัววี ขณะที่สหรัฐ และสหภาพยุโรป ซึ่งเผชิญปัญหามีเงินออมต่ำ มีหนี้เสียจำนวนมาก และระบบการเงินที่ล่มสลาย ทำให้ลักษณะการฟื้นตัวอย่างดีที่สุดก็คงเป็นการฟื้นตัวในรูปตัวยู (U-shaped) ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เช่นไอซ์แลนด์คงเผชิญกับการฟื้นตัวเป็นรูปตัวแอล (L-shaped) หรือรูปตัวดับบลิวซ้ำๆ กัน (repeated W) ภายในภูมิภาคเอเชียเอง คาดว่าจะมีการฟื้นตัวในลักษณะที่ต่างกันมากพอสมควร ประเทศขนาดใหญ่ทั้งสาม คือ จีน อินเดีย และอินโดนีเซียจะฟื้นตัวก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกน้อยกว่าที่อื่น เพราะเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ค่อนข้างปิด (ไม่ว่าจะเป็นระบบการเงินเช่นในจีน หรือการค้าเช่นในอินเดียและอินโดนีเซีย) เศรษฐกิจของประเทศทั้งสามเติบโตค่อนข้างแข็งแกร่งต่อเนื่อง (6-9% ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ) มีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่พอสมควรที่จะรองรับ และมีการตอบสนองที่รวดเร็วและชัดเจนต่อนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนประเทศขนาดเล็กที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดเช่นสิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี มาเลเซีย และไต้หวัน ซึ่งได้รับผลกระทบที่รุนแรงเนื่องจากระบบเศรษฐกิจที่เปิด (ทั้งในด้านการค้าและการเงิน) อาจเห็นการฟื้นตัวในระยะแรกที่รวดเร็วเนื่องจากผลของฐานที่สูง (base-effect) มองไปข้างหน้า ความแตกต่างกันจะเห็นได้ชัดขึ้นจากความสามารถของแต่ละประเทศที่จะใช้ประโยชน์จากความเติบโตของประเทศใหญ่ทั้งสามประเทศ ดังเช่นที่ฮ่องกงได้รับอานิสงส์จากเงินทุนที่ไหลออกจากจีนไปสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นของฮ่องกง และไต้หวันได้รับประโยชน์จากนักท่องเที่ยวจีนที่หลั่งไหลเข้าไปหลังจากความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวันพัฒนาในทางที่ดีขึ้น อีกหนึ่งปัจจัยที่จะสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนคือความสามารถของรัฐบาลในการวางนโยบายทางการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการนำมาตรการเหล่านี้ไปใช้เพื่อชดเชยการหดตัวของการส่งออกและการว่างงาน สิงคโปร์และเกาหลีใต้ ซึ่งการบริหารงานของภาครัฐค่อนข้างมีประสิทธิภาพสูงและสถานะทางการคลังที่แข็งแกร่ง มีโอกาสสูงที่จะประสบความสำเร็จในจุดนี้ อย่างไรก็ดี ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงไทยด้วย จะเผชิญกับความท้าทายสองเรื่องในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 1) สภาวะที่ต้องเลือกระหว่างปัญหาเงินฝืด และราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้การบริหารนโยบายทางการเงินยากขึ้นเป็นพิเศษ 2) การส่งผ่านแรงขับเคลื่อนในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูงในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งเห็นได้จากความต้องการสินเชื่อภาคเอกชนที่ยังอ่อนแอและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งสองปัจจัยจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวที่ยั่งยืนในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ