กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--หอศิลปวิทยนิทรรศน์
เชียงใหม่ : หลากหลายมุมมอง
นิทรรศการศิลปะโดยมหาบัณฑิตสาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คัดสรรผลงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมพร รอดบุญ
ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ชั้น 7 สถาบันวิทยบริการ (หอสมุดกลาง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แสดงงาน 19 ตุลาคม ถึง 28 พฤศจิกายน 2552
พิธีเปิดนิทรรศการ วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2552 เวลา 18.00-20.00 น.
นิทรรศการ “เชียงใหม่ : หลากหลายมุมมอง” เป็นนิทรรศการของกลุ่มศิลปินซึ่งจบการศึกษาระดับมหาบัณฑิต สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันแสดงผลงานศิลปะ ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ สถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นครั้งแรก ศิลปกรรมที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้เป็นงานสร้างสรรค์ของศิลปิน 7 คน ที่มีความหลากหลายในเรื่องของความคิด รูปแบบ เทคนิคและกรรมวิธีในการแสดงออก ซึ่งแต่ละคนได้แสดงเอกลักษณ์ของตนผ่านสื่ออันเป็นภาษาเฉพาะของจิตรกรรมได้อย่างงดงามและมีความหมาย
ศิลปินที่แสดงงาน
ศรีใจ กันทะวัง นำเสนอผลงานจิตรกรรมที่เกิดจากความประทับใจ จินตนาการและความรู้สึกที่มาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์ วิหารของล้านนา ด้วยการใช้บรรยากาศและมิติของสี แสดงให้เห็นถึงสมาธิ ความศรัทธาในพุทธศาสนาและร่องรอยของกาลเวลาในอดีต
ถนอม จันทร์ต๊ะเครือ ใช้ฝีแปรงและสีสันสดใสถ่ายทอดบรรยากาศของความสุข สนุกสนาน พลังการเคลื่อนไหว ตลอดจนการรวมตัวกันของชาวล้านนาในการเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ ตาม ประเพณี วัฒนธรรมของท้องถิ่นด้วยความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจ เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน
ส่วน มรกต นาคสินธุ์ ใช้เส้น สี และรูปทรงซึ่งเป็นเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ มุ่นผมของสตรีและร่มในลักษณะเรียบง่าย ด้วยการจัดวางองค์ประกอบในมุมมองที่แปลกตา เป็นสัญลักษณ์แทนค่าความงามของวัฒนธรรมท้องถิ่นทางภาคเหนือ
อัคร์ชนก ชิระกุล และ อภิรักษ์ เจียรพินิจนันท์ให้ความสำคัญกับเรื่องราวเนื้อหาของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีลักษณะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อัคร์ชนก แบ่งปันความสุขของเขากับผู้ชมงานด้วยการใช้ฝีแปรงและสีสันที่ประสานสัมพันธ์กันอย่างนุ่มนวลถ่ายทอดความรู้สึกจากภายใน สร้างบรรยากาศของธรรมชาติในลักษณะนามธรรมอย่างงดงาม ขณะที่ อภิรักษ์ ใช้ชั้นเชิงในการจัดวางจังหวะการซ้ำของเส้น รูปทรง และสีอันมีที่มาจากความสนใจในดนตรี เสียง บรรยากาศ สภาพแวดล้อม และสังคมที่อยู่โดยรอบ ศิลปินถ่ายทอดความคิดและความรู้สึกเป็นผลงานในรูปแบบนามธรรมและกึ่งนามธรรมที่แฝง ความเงียบในการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
ศุภรัตน์ ราชรินทร์ ศิลปินหญิงคนเดียวในกลุ่ม ใช้ดอกไม้จากวรรณคดีไทยเป็นสัญลักษณ์มีความหมายเชิงซ้อนแทนค่าความรู้สึกภายใน อันละเอียดอ่อน ของผู้หญิงซึ่งมีทั้งความละเมียดละมัย ความอ่อนหวาน ความลึกล้ำ และความแข็งแกร่ง กิริยาของกลีบดอกไม้รวมทั้งการใช้สีบ่งบอกเรื่องราวของผู้หญิงและอารมณ์ ความรู้สึกของศิลปินเองในแง่มุมต่างๆ
งานของ พิชิต เพ็ญโรจน์ มีความพิเศษแตกต่างไปจากงานของศิลปินคนอื่นๆในกลุ่ม เขาถ่ายทอดทัศนคติและความคิดเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบของพันธุวิศวกรรม (GMOs) ที่มีต่อชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในรูปแบบของจิตรกรรมสามมิติแนวสื่อประสมซึ่งตั้งคำถามให้กับผู้ชมต้องนำไปขบคิดและตระหนักในผลดีผลเสียของการค้นคว้าทดลองดังกล่าว
นิทรรศการศิลปะซึ่งเป็นงานจิตรกรรมของกลุ่มศิลปินจากเชียงใหม่ครั้งนี้ นอกจากจะสะท้อนเรื่องราว สาระของจินตนาการ อารมณ์ความรู้สึกส่วนตน สิ่งแวดล้อมทางสังคมและธรรมชาติแล้ว รากฐานทางวัฒนธรรมยังมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างสรรค์ของศิลปินด้วย
สมพร รอดบุญ
ตุลาคม 2552
หอศิลปวิทยนิทรรศน์
ชั้น 7 สถาบันวิทยบริการ (หอสมุดกลาง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพ 10330
โทรศัพท์: 0-2218-2965 โทรสาร: 0-2218-2907
อีเมล์: info.artcenterchula@gmail.com
เปิดทำการ จันทร์-ศุกร์: 9.00-19.00 น. เสาร์: 9.00-16.00 น.
ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์