กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--สวทช.
สวทช. และสถาบันไทย-เยอรมัน ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ ในการจัดตั้งเครือข่ายโครงการ ITAP ภาคตะวันออก มุ่งขยายการให้บริการของ ITAP เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถของ SMEs
เมื่อบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 9 มี.ค. 49 รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ รศ.ณรงค์ วรงศ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ “เครือข่ายโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP)” ในการร่วมมือจัดตั้งหน่วยงานเครือข่ายโครงการ ITAP ในพื้นที่ภาคตะวันออก ณ ห้องประชุม 101 A อาคารวิจัย สวทช. (โยธี) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง สวทช. และสถาบันไทย-เยอรมันดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันจัดตั้งหน่วยงานเครือข่ายโครงการ ITAP สำหรับให้บริการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการเชิงลึกแบบครบวงจรแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมด้านยานยนต์ ... จึงนับเป็นการขยายเครือข่ายการให้บริการของโครงการ ITAP และพัฒนาศักยภาพการผลิต และส่งเสริมให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเครือข่ายโครงการ ITAP ที่จะดำเนินงานโดยสถาบันไทย-เยอรมัน นับเป็นเครือข่ายโครงการ ITAP แห่งที่เจ็ดที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรีอันจะเป็นพลังส่งเสริมขีดความสามารถของภาคเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกได้อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างยั่งยืนต่อไป”
รศ.ดร.ศักรินทร์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การขยายเครือข่ายโครงการ ITAP ภาคตะวันออกโดยการดำเนิน งานของสถาบันไทย-เยอรมันนี้ ถือได้ว่าเป็นการเสริมสร้างให้โครงการมีเครือข่ายทั่วประเทศทุกภูมิภาค อย่างแท้จริง โดยเครือข่าย ITAP ทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ ดำเนินงานโดย สวทช. เครือข่ายภาคเหนือ ภาคใต้ตอนบน ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ภาคตะวันตก ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ภาคใต้ตอนล่าง ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น”
ทั้งนี้ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (Industrial technology Assistance program: ITAP) เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (Technology Management Center: TMC) สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2535 โดยดำเนินการสนับสนุนการใช้ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคเพื่อเข้าไปสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้น รวมทั้ง เข้าไปจัดทำโครงการปรึกษาเชิงลึกเพื่อแก้ไขปัญหาทางเทคนิค ปรับปรุงการผลิต การจัดการระบบคุณภาพ การจัดการเทคโนโลยี การนำระบบ IT ไปใช้ในโรงงาน ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการผลิตใหม่ ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของการใช้เทคโนโลยีในรูปแบบของผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรับปรุงและวิจัย-พัฒนาการผลิต นอกจากนี้ โครงการ ITAP ยังให้บริการปรึกษาเพื่อจัดทำระบบคุณภาพพื้นฐานของอุตสาหกรรมไทย (Thai Foundation Quality System: TFQS) ซึ่งเป็นระบบที่ สวทช. ได้พัฒนาขึ้นมาโดยปรับให้เหมาะสมสำหรับ SMEs ไทย บริการข้อมูลอุตสาหกรรม บริการฝึกอบรมและสัมมนาทางวิชาการ และยังให้การสนับสนุน SMEs ในการเสาะหาเทคโนโลยีและจับคู่ธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย โดยกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงานโครงการ ITAP ปัจจุบันเน้นหนักที่ 6 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ 1) อาหารและเกษตร 2) ยานยนต์และชิ้นส่วน 3) อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ 4) ไม้และเครื่องเรือน 5) สิ่งทอ และ 6) อุตสาหกรรมสนับสนุน โดยให้ความสำคัญกับ SMEs รวมทั้ง วิสาหกิจชุมชนที่จะสามารถพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพให้เป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ
ผลการดำเนินการของโครงการ ITAP ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีการติดต่อกับภาคเอกชนมากกว่า 4,500 บริษัท โดยมีการวิเคราะห์ปัญหาทางเทคนิคเบื้องต้นแล้วกว่า 1,500 บริษัท และสามารถพัฒนาให้วิสาหกิจมีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ไม่ต่ำกว่า 800 บริษัท นอกจากนั้นแล้ว ITAP ยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญในประเทศให้เป็นผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับจากภาคเอกชนไทยอีกด้วย ซึ่งจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา มีอัตราส่วนของผู้เชี่ยวชาญไทยต่อผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีอัตราสูงถึง 80 : 20 (เพิ่มจากเดิม 20 : 80 เมื่อปี 2535)
จากผลสำเร็จที่ผ่านมาและแนวโน้มความต้องการบริการของโครงการ ITAP ในการสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถและความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีและการจัดการการผลิตของอุตสาหกรรมไทยที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งระดับธุรกิจ และเป็นกลุ่มวิสาหกิจ (Cluster) สวทช. จึงมุ่งหวังที่จะขยายบริการของโครงการ ITAP ให้เป็นโครงการระดับประเทศเพื่อให้บริการครอบคลุมพื้นที่ในส่วนภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาในส่วนภูมิภาคจัดทำเป็นเครือข่ายโครงการ ITAP และ จัดให้มีที่ปรึกษาเทคโนโลยีอยู่ประจำที่เครือข่ายโครงการ ITAP เพื่อให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้อย่างใกล้ชิด โดยการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากส่วนกลางไปยังส่วนภูมิภาคอย่างเป็นระบบและมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนขยายแนวร่วมในการทำงานทั้งเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ และเครือข่ายวิสาหกิจ เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรม และถือเป็นการวางรากฐานการทำงานที่ยั่งยืนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมงานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช.
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1476 - 78, 0-9521-2564 e-mail: pr_tmc@nstda.or.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net