ศิลปะแห่งกระบวนการผลิตแบบญี่ปุ่นกับคนญี่ปุ่น : การเชื่อมโยงมิติทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีสมัยเอโดะ

ข่าวทั่วไป Wednesday October 14, 2009 17:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--เจแปนฟาวน์เดชั่น เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะจัดให้มีการสัมมนาญี่ปุ่นร่วมสมัย เรื่อง "ศิลปะแห่งกระบวนการผลิตแบบญี่ปุ่นกับคนญี่ปุ่น : การเชื่อมโยงมิติทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีในสมัยเอโดะ" โดย คุณคาซุโยชิ ซูซูกิ จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ กรุงโตเกียว ในวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ณ ห้องบรรยาย ซี 401 สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ถ. พัฒนาการ กรุงเทพฯ และวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ณ ห้องบรรยาย 114 วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าชาวญี่ปุ่นนั้นมีชื่อเสียงอย่างมากในการให้ความใส่ใจอย่างสูงต่อผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีรายละเอียด คุณภาพและความสะดวกสบาย ขนบธรรมเนียมอันยาวนามของ “ศิลปะแห่งกระบวนการผลิตแบบญี่ปุ่น (Monozukuri)” นั้น เป็นกุญแจสำคัญที่ก่อให้เกิดคุณลักษณะเหล่านั้น และยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งสำหรับการแข่งขันของประเทศญี่ปุ่นในด้านเทคโนโลยีระดับสูงบนเวทีโลก ต้นกำเนิดและความลับของ “กระบวนการผลิตแบบญี่ปุ่น (Monozukuri)” นั้น เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความหลากหลายทางเทคโนโลยี และระบบสังคมที่ก่อตัวขึ้นท่ามกลางวัฒนธรรมของมวลชนที่เจริญรุ่งเรืองในยุคสมัยเอโดะ (1603-1868) ซึ่งเป็นยุคที่ดำรงสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองมากว่า 260 ปี “โยะ — โนะ — บิ” เป็นวลีหนึ่งในภาษาญี่ปุ่นที่กล่าวถึง “โลกแห่งสุนทรียศาสตร์ และความงามของอรรถประโยชน์” ซึ่งอาจจะรวมไปถึงกระบวนการผลิตต่างๆที่รวบรวมเอาความงดงามและความประณีตของช่างฝีมือเข้าไว้ด้วยกัน เช่นเดียวกับคำว่า “ศิลปะ” ในภาษาอังกฤษที่มีความหมายใกล้เคียงกัน แต่แนวคิดของคำว่า “ศิลปะ” นั้นมักไม่ได้กล่าวถึงสิ่งต่างๆทั่วไปที่มีอยู่รอบๆตัวเราในชีวิตประจำวัน ความงดงามอันหลากหลายของอรรถประโยชน์จากแนวคิดเรื่อง “โยะ — โนะ — บิ” ที่มีต่อญี่ปุ่นได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาตั้งแต่ช่วงสมัยเอโดะ ซึ่งเป็นยุคที่ดำรงสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง โดยปราศจากข้อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆทั่วโลก ทักษะและความชำนาญต่างๆของช่างฝีมือที่เคยทำดาบและอาวุธปืนได้ถูกแปรเปลี่ยนมาสู่การผลิตจานไถและจอบ และประยุกต์ให้เข้ากับกิจกรรมต่างๆอย่างกว้างขวางสำหรับชีวิตความเป็นอยู่ในประจำวัน เพื่อความอยู่ดีมีสุขของชุมชนและประชาชนชาวญี่ปุ่น ทักษะต่างๆของกระบวนการผลิตแบบญี่ปุ่นนั้นได้ถูกขัดเกลาและซึมซาบสู่วิถีชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยที่ช่างฝีมือและผู้ชำนาญงานด้านศิลปะเองก็ไม่รู้สึกถึงการหลอมรวม “โยะ — โนะ — บิ (โลกแห่งสุนทรียศาสตร์ และความงามของอรรถประโยชน์) เข้าไปสู่กระบวนการผลิต ไม่เฉพาะในแง่ของการออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่เฉพาะอย่างจากมุมมองของผู้ใช้เองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงมิติของอารมณ์ ความรู้สึกต่อความงามของผลิตภัณฑ์นั้นๆด้วย การบรรยายในครั้งนี้จะกล่าวถึงความหลากหลายของสิ่งประดิษฐ์ชนิดต่างๆที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมของกระบวนการผลิต วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่รุ่งเรืองในสมัยเอโดะ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมฟังได้เข้าใจสังคมญี่ปุ่นร่วมสมัยได้อย่างดีขึ้น ประวัติวิทยากร คุณคาซุโยชิ ซูซูกิ เป็นหัวหน้าแผนกประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฝ่ายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ กรุงโตเกียว คุณซูซูกิทำการศึกษาและวิจัยอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับกระบวนการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมชาติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยเอโดะจนถึงปัจจุบัน คุณซูซูกิได้เคยร่วมโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ 5 ปี ซึ่งริเริ่มโดยกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้หัวข้อ “Systematical Inventory and Research of Historical Materials Relating to Science and Technology in Premodern Japan” ในปัจจุบันคุณซูซูกิกำลังศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการผลิตในสมัยเอโดะ ซึ่งสามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซด์ www.edomono.com นอกจากนี้ คุณซูซูกิยังเป็นสมาชิกในหลายองค์กรและสมาคม อาทิ สมาคมวิศวกรรมเครื่องกลแห่งประเทศญี่ปุ่น สมาคมวิศวกรรมการออกแบบแห่งประเทศญี่ปุ่น สมาคมวิจัยของเล่นและตุ๊กตานานาชาติของประเทศญี่ปุ่น อีกทั้ง คุณซูซูกิยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการทางด้านนโยบายการผลิตของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม โดยเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับงานช่างฝีมือดั้งเดิม และเป็นกรรมาธิการทางด้านการวางแผนแนวคิดและหัวหน้างานด้านการจัดนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง อาทิ Osaka Children’s Castle, Toyota Commemorative Museum of Industry and Technology และ พิพิธภัณฑ์เอโดะ เป็นต้น กรุงเทพ วันที่มีการสัมมนา วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เวลา 14.00 - 17.00 น. สถานที่ ห้องบรรยาย ซี 401 สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ค่าธรรมเนียมเข้าร่วมการประชุม ฟรี แผนที่และการเดินทาง สามารถดูได้จากเว็บไซด์ข้างล่างนี้ http://www.tni.ac.th/location.php สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ตั้งอยู่ระหว่าง ซ.พัฒนาการ 37 — 39 และมีรถประจำทางผ่าน ได้แก่ สาย 11, 133, 206, ปอ.92 และ ปอ.517 เชียงใหม่ วันที่มีการสัมมนา วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เวลา 13.00 - 15.30 น. สถานที่ ห้องบรรยาย 114 วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ค่าธรรมเนียมเข้าร่วมการประชุม ฟรี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ 02-260-8560~3 ศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (053) 943-284

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ