คลังพิจารณายกเว้นการจัดเก็บภาษีธุรกิจสปา

ข่าวทั่วไป Thursday October 15, 2009 09:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--กรมสรรพสามิต นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม 2552 ยกเว้นการจัดเก็บภาษีธุรกิจสปา จากอัตราการจัดเก็บภาษีจากปัจจุบันที่จัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ของรายรับจากการให้บริการ และ กรมสรรพสามิตกำลังดำเนินการแก้ไขประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีสรรพสามิตให้แก่สถานบริการประเภทอาบน้ำหรืออบตัว และนวดในสถานบริการเสริมความงามหรือเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้นโยบายการช่วยเหลือธุรกิจสปามาจากการที่นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือกับผู้ประกอบกิจการสถานบริการธุรกิจสปา พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสถานบริการธุรกิจสปา และมอบหมายให้กรมสรรพสามิตพิจารณาทบทวนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสถานบริการธุรกิจสปา ในปัจจุบันสปาที่เป็นสถานบริการประเภทอาบน้ำหรืออบตัว และนวดในสถานบริการเสริมความงาม หรือเพื่อสุขภาพ ที่มีลักษณะข้อหนึ่งข้อใดใน 3 ข้อ นี้ จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี กล่าวคือ 1. เป็นสถานบริการที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการอาบ อบ นวด ตามมาตรา 3 (3) แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 2.. มีอ่างอาบน้ำ หรือสถานที่อาบน้ำ ในห้องเดียวกันกับห้องให้บริการนวด ไม่ว่าจะมีการแยกสัดส่วนระหว่างส่วนที่มีอ่างอาบน้ำหรือสถานที่อาบน้ำกับส่วนให้บริการนวด โดยมีประตูกั้นหรือไม่ก็ตาม 3. จัดให้มีสถานที่ รูป หรือสื่อ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเลือกผู้ให้บริการได้ ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการสปาให้มีศักยภาพในการแข่งขันสู่ระดับสากล และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการให้บริการสปา รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ อันจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกทางหนึ่ง จึงได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิตขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการยกเว้นภาษีสรรพสามิตให้แก่สปาที่เป็นสถานบริการประเภทอาบน้ำหรืออบตัว และนวดในสถานบริการเสริมความงาม หรือเพื่อสุขภาพ จากปัจจุบันที่จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ 10 จากรายรับของการให้บริการให้ลดลงเหลืออัตราร้อยละ 0 สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีสรรพสามิตให้แก่ผู้ประกอบกิจการสปาดังกล่าวนั้น ต้องเป็นสถานบริการที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วย “การกำหนดสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวย มาตรฐานของสถานที่ การบริการ ผู้ให้บริการ หลักเกณฑ์ และวิธีการตรวจสอบเพื่อการรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐาน สำหรับสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวย ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509” หรือที่ประกาศดังกล่าวถือว่ามีมาตรฐาน ทั้งนี้ สถานบริการที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับรายรับของการให้บริการอาบน้ำหรืออบตัว และนวดโดยมีผู้ให้บริการ ในตลอดระยะเวลาที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานฯ โดยผู้ประกอบการธุรกิจสปาที่อยู่ในข่ายได้รับยกเว้นภาษีตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว มีทั้งสปาในโรงแรมและสปาตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ นายอารีพงศ์กล่าวต่อว่าในรอบ 11 เดือนของปีงบประมาณ 2552 มีสถานประกอบการที่จดทะเบียนเป็นสถานบริการประเภทอาบน้ำหรืออบตัวและนวดกับกรมสรรพสามิต จำนวนประมาณ 565 ราย แบ่งเป็นธุรกิจสปา จำนวน 420 ราย และธุรกิจอาบ อบ นวด จำนวน 145 ราย โดยกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ภาษีรวมจำนวน 151.62 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจสปา จำนวน 42.58 ล้านบาท และธุรกิจอาบ อบ นวด จำนวน 109.04 ล้านบาท ดังนั้น หากมีการยกเว้นภาษีสรรพสามิตให้สปาจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณปีละ 42 ล้านบาท สำหรับวิธีการในการดำเนินงานดังกล่าว กรมสรรพสามิตจะดำเนินการแก้ไขประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีสรรพสามิตให้แก่สถานบริการประเภทอาบน้ำหรืออบตัว และนวดในสถานบริการเสริมความงามหรือเพื่อสุขภาพ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม 2552 ทั้งนี้ การยกเว้นภาษีดังกล่าวทำให้แนวทางในการพิจารณายกเว้นภาษีให้แก่สถานบริการประเภทอาบน้ำหรืออบตัว และนวดในสถานบริการเสริมความงาม หรือเพื่อสุขภาพมีความชัดเจนและง่ายต่อการปฏิบัติมากยิ่งขึ้น อันเป็นการส่งเสริมบริการเพื่อสุขภาพที่มิได้เป็นบริการที่มีผลกระทบต่อศีลธรรมของประชาชนอีกด้วย กรมสรรพสามิต โทร/โทรสาร 0 2241 4778

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ