กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--เจแปนฟาวน์เดชั่น
อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของวัฒนธรรมสิ่งทอในประเทศญี่ปุ่นและประเทศลุ่มแม่น้ำโขง"
เนื่องในโอกาสปีแห่งการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง - ประเทศญี่ปุ่น เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ จะจัดให้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง "การสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างสร้างสรรค์: อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของวัฒนธรรมสิ่งทอในประเทศญี่ปุ่นและประเทศลุ่มแม่น้ำโขง" โดย ศจ. ชิโนบุ โยชิโมะโตะ จากพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยา เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ณ ห้องบรรยาย 114 วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม การบรรยายในครั้งนี้จะอภิปรายเกี่ยวกับแง่มุมทางวัฒนธรรมของสิ่งทอชนิดต่างๆในประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย เพื่อที่จะเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนในประเทศนั้นๆ ตลอดจนเพื่อค้นหาแนวทางใหม่ๆของการอยู่รอดของสิ่งทอ และผ้าพื้นเมืองในยุคเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์
อะไรคือความหมายของคำว่า "ขนบธรรมเนียมประเพณี"?
ทำอย่างไรที่จะให้ขนบธรรมเนียมประเพณีเหล่านั้นสามารถสืบทอดต่อกันมาได้อย่างสร้างสรรค์?
ความหลากหลายของวัฒนธรรมการทอผ้านั้นได้มีพัฒนาการและสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นตลอดระยะเวลาหลายปีของการแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวางในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อย่างไรก็ตาม การผลิตที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลและการบริโภคของมวลชนได้แผ่ขยายไปทั่วโลก รวมทั้งกระแสโลกาภิวัฒน์ที่กำลังถาโถมเข้ามากวาดต้อนเอางานฝีมือดั้งเดิมออกไปนั้น ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถ "เห็น" ความต้องการของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์อย่างแท้จริง และในทางกลับกันผลิตภัณฑ์ก็ยัง "ไร้ซึ่งเอกลักษณ์" จากมุมมองของผู้ใช้เองอีกด้วย
ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ผลิตและผู้ใช้จะช่วยกันรักษาและพัฒนาการทอผ้าแบบดั้งเดิมในฐานะที่เป็นสิ่งหนึ่งอันมีคุณค่ายิ่งต่อการทะนุถนอมและการเผยแพร่ให้กว้างขวาง ท่ามกลางสภาวะที่สิ่งเหล่านั้นกำลังถูกเหวี่ยงไปมาและถูกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากคลื่นโลกาภิวัฒน์? และจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะรักษาระดับของการผลิตผ้าทอจำนวนน้อยๆในสังคมเล็กๆ พร้อมกับค้นหาการพัฒนาอุตสาหกรรมของงานช่างฝีมือดั้งเดิมเพื่อให้เกิดความสมดุลกันระหว่างความต้องการซื้อ และความต้องการขาย? ด้วยตระหนักถึงประเด็นปัญหาเหล่านี้ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสิ่งทอจากญี่ปุ่นและประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงจะอภิปรายถึงการสร้างกลไกที่ยั่งยืนสำหรับการสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีการทอผ้าอย่างสร้างสรรค์
ประวัติวิทยากร
ศาตราจารย์ชิโนบุ โยชิโมะโตะ
ศาสตราจารย์ประจำฝ่ายวิจัยวัฒนธรรมแห่งพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาโอซาก้า ศจ.โยชิโมะโตะมีความเกี่ยวพันกับงานวิจัยข้ามวัฒนธรรมต่างๆมากมายว่าด้วยเรื่องเทคนิคการทอผ้าและย้อมผ้าจากทั่วโลก รวมทั้งวัฒนธรรมผ้าบาติด และIkat ของอินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ ศจ.โยชิโมะโตะสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปะ และเป็นผู้มีประสบการณ์ตรงมากมายทางด้านศิลปะการทอผ้าและย้อมผ้า อีกทั้งที่สำคัญไปกว่านั้น ศจ.โยชิโมะโตะยังเกิดในครอบครัวที่เป็นเจ้าของร้านกิโมโน ซึ่งทำให้ท่านมีมุมมองของการอภิปรายอย่างกว้างขวางว่าด้วยเรื่องทิศทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณท์สิ่งทอต่างๆ ผลงานสิ่งพิมพ์ของท่านก็เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง อาทิ ผ้าบาติดจาวา (Jawa Sarasa) การทอและการย้อมผ้าแบบดั้งเดิมของอินโดนีเซีย (Indonesia Senshoku Taikei) และในเดือนกันยายน ปี พ.ศ.2552 นี้ ศจ.โยชิโมะโตะได้จัดให้มีนิทรรศการเกี่ยวกับผ้าทอในประเทศเอเชีย ภายใต้หัวข้อ "Try on! Check out! Asian Textiles today" ที่เมืองฟุกุโอกะ
เชียงใหม่
วันที่มีการบรรยาย วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
เวลา 9.00 - 12.00 น.
สถานที่ ห้องบรรยาย 114 วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ค่าธรรมเนียมเข้าร่วมการประชุม ฟรี
มหาสารคาม
วันที่มีการบรรยาย วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
เวลา 13.00 - 16.00 น.
สถานที่ ณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ค่าธรรมเนียมเข้าร่วมการประชุม ฟรี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ 02-260-8560~3
ศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (053) 943-284
สำนักวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (043) 754-241
Dr. Keiko YUKIMATSU