กลุ่มฮอนด้าหนุน “อดิศักดิ์” เข้าชิงประธานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โชว์วิสัยทัศน์ “อุตสาหกรรมนำความสุขสู่สังคมพาไทยเข้มแข็งบนเวทีโลก”

ข่าวยานยนต์ Thursday October 15, 2009 10:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ “อดิศักดิ์ โรหิตะศุน” ประกาศความพร้อมเข้าร่วมชิงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ โชว์วิสัยทัศน์อุตสาหกรรมนำความสุขสู่สังคมไทย” พร้อมเผยนโยบายหลักการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวในทุกภาคส่วน หวังขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม และระบบระบบเศรษฐิจไทยพ้นวิกฤติ ก้าวไกลทัดเทียมนานาชาติ พร้อมเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันบนเวทีโลก นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานกรรมการบริหารระดับสูง บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัดเปิด เผยถึงการตัดสินใจร่วมสมัครเข้าชิงตำแหน่งเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แทนที่ นายสันติ วิลาส ศักดานนท์ ที่จะหมดวาระในเดือนมีนาคม 2553 ว่า ถือเป็นความตั้งใจอันสูงสุดในชีวิต พร้อมโชว์วิสัยทัศน์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่หวังจะผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมไทยประสบความสำเร็จทั้งในประเทศและบนเวทีโลกคือ “อุตสาหกรรมนำความสุขสู่สังคมไทย” ด้วยแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการเร่งด่วนคือ ช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะธุรกิจ SME โดยสภาอุตสาหกรรมต้องประสานกับสถาบันการเงิน เพื่อหาวิธีการหรือขอคำแนะนำให้ผ่อนปรนเงื่อนไขในการปล่อยกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง หากติดเงื่อนไขกฎหมายหรือกฎระเบียบใดๆ ที่ทำให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ไม่ได้ ควรเสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุนชั่วคราว เพื่อปล่อยกู้แทนสถาบันการเงิน โดยมีการบริหารจัดการโดยมืออาชีพจากภาคการเงิน และกำหนดเงื่อนไขเบื้องต้นในการพิจารณาให้กู้กับธุรกิจที่มีผลประกอบการที่ดี มีศักยภาพในการเติบโตในภาวะก่อนวิกฤติ ขณะเดียวควรปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดต้นทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน โดยหลังจากที่เสริมสภาพคล่องแล้ว ต้องช่วยผู้ประกอบการปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนอย่างเป็นระบบ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจเพื่อให้เหมาะสมกับการแข่งขันในอนาคตต่อไป เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเป็นโครงการที่สร้างแนวคิดการจัดการสมัยใหม่ให้แก่เจ้าของธุรกิจ สร้างระบบการจัดการ และพัฒนาคนไปพร้อมๆ กัน พร้อมทั้งหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มยอดขายทั้งในตลาดต่างประเทศและในประเทศ ในแง่ของบทบาทและวิธีการการทำงานของสภาอุตสาหกรรมต้องมีปฏิรูป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานคือ กรรมการสภาฯ ควรทำหน้าที่ในการให้นโยบาย ให้คำปรึกษา ติดตามและประเมินผลงานโดยรวม เจ้าหน้าที่ของสภาฯ มีอยู่ถึง 200 กว่าคนที่มีความรู้ต้องให้โอกาสในการทำงานมากขึ้นในการนำนโยบายไปปฎิบัติ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของสมาชิก และให้เจ้าหน้าที่ของสภาฯ ทำงานได้อย่างมีความสุขและมีเกียรติ และต้องเป็นที่ปรึกษาที่ดีแก่ภาครัฐในการให้ข้อมูล ความเห็นและข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์อย่างตรงไปตรงมา และสามารถดำรงตนเป็นตัวแทนที่แท้จริงของภาคอุตสาหกรรมไทยและเป็นที่พึ่งพาให้กับสมาชิกได้ ปัจจุบันการเก็บค่าสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมยังมีความซ้ำซ้อนในกรณีของสมาชิกที่อยู่ต่างจังหวัด โดยสมาชิกต้องจ่ายค่าสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และยังต้องจ่ายค่าสมาชิกรายปีของสภาอุตสาหกรรมส่วนกลาง จึงอยากที่จะลดภาระของสมาชิกในส่วนนี้ให้น้อยลงแนวทางการเปลี่ยนแปลงระยะยาวนั้น เร่งผลักดันนโยบายยุทธศาสตร์กลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัด ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเป็น 19 กลุ่มหรือ “คลัสเตอร์” ต้องมียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนในแต่ละคลัสเตอร์อย่างจริงจัง ทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย Creative & Innovative Economy, การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต, การพัฒนาบุคคลากร และปรับปรุงระบบการจัดส่งสินค้า ตลอดจนการจัดทำ Roadmap ACE & FTA เชิงรุก ในด้านการห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคม Corporate Social Responsibility (CSR) โดยต้องตอบสนองกลุ่มจังหวัดได้อย่างแท้จริง สภาอุตสาหกรรมต้องทำงานร่วมกับภาครัฐ ซึ่งไม่จำกัดอยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ร่วมงานกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด หรือกระทรวงพาณิชย์ด้านการส่งเสริมการส่งออก ส่วนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติบนเวทีโลกนั้น สภาอุตสาหกรรมเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ คือ จัดตั้งหน่วยงานเพิ่มเพื่อยกระดับศักยภาพของสภาอุตสาหกรรม โดยในระยะยาว ควรจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ เพิ่ม อาทิ หน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนา หน่วยงานด้านการวิจัยข้อมูล เพื่อการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ หน่วยงานด้านการพัฒนาบุคลากรของภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานพัฒนาระบบงาน และเสริมสร้างความสามารถในการแข่ง ขัน และต้องพัฒนาศักยภาพทั้งด้านบุคคลากร และการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นระบบ ทั้งนี้เพื่อให้”อุตสาหกรรมนำความสุขสู่สังคมไทย” ได้อย่างแท้จริง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ