กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
โครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และเครือซิเมนต์ไทย (SCG) ร่วมจัดทำหนังสืออ่านง่ายเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เหมาะสำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป หวังปลูกฝังความรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ภายใต้ หนังสือ “พพ.๘๒๙” โดยมีบริษัทอักษรเจริญทัศน์ อจท.จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่ายเผยแพร่สู่สถานศึกษา และร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
หนังสือ “พพ.๘๒๙” ทุกอักษรมีความหมาย “พพ.” หมายถึง “พอเพียง” “๘๒” หมายถึง การร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ “๘๒ พรรษา” และ “๙” หมายถึง “รัชกาลที่ ๙” โดยฉบับนี้จัดทำขึ้นเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่องจาก พพ. ๘๐๙ ในปี 2550 และ พพ.๘๑๙ ในปี 2551 ซึ่งฉบับนี้เป็นปกสีส้ม theme เกี่ยวกับนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเทอดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กล่าวว่า หนังสือ “พพ.๘๒๙” เกิดจากความมุ่งมั่นของหน่วยงานทั้ง 4 องค์กร เพื่อน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาถ่ายทอดสู่เยาวชนและสถานศึกษา ในการนำเสนอเนื้อหาที่เข้าใจง่าย เพื่อปลูกฝังค่านิยม คุณลักษณะนิสัย “พอเพียง” ให้เยาวชนใช้เป็นหลักคิดและปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน นำไปสู่การสร้างรากฐานอันมั่นคงให้กับสังคมไทยในอนาคต
“เศรษฐกิจพอเพียงกับการปฏิรูปการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก หากเรานำหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข 4 มิติ เข้ามาจับ ฉะนั้นการออกแบบการเรียนรู้ การสร้างสื่อการเรียนรู้ ที่จะทำให้เด็กรู้จักวิเคราะห์ รู้จักคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก โดยใช้หลักง่ายๆ ที่จะหนุนเสริมให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ สนุก และมีชีวิตชีวา จนเกิดการระเบิดจากข้างใน อันจะทำให้เขาเหล่านั้นเห็นคุณค่าของการอยู่อย่างพอเพียง และนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ในที่สุด”
ด้าน คุณนงนาท สนธิสุวรรณ ที่ปรึกษากิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หนังสือ “พพ.๘๒๙” มีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย เป็นการบอกเล่าจากเพื่อนสู่เพื่อนเพราะมีข้อมูลที่มาจากสถานศึกษาพอเพียงต้นแบบมานำเสนอ และเป็นเรื่องที่ปฏิบัติจริงแล้วในโรงเรียนต่างๆ นอกจากนั้นยังมีบทความจากผู้เขียนที่ได้รับการยอมรับจากสังคม อาทิ พระไพศาล วิสาโล ,โจน จันได, โต๋-ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร ในมุมมองและการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวันและหน้าที่การงาน
“เป็นหนังสือที่อ่านง่าย มีเนื้อหาที่เด็กอ่านแล้วมีความสุข สะท้อนถึง การทำให้เห็น อยู่ให้เป็น ซึ่งสามารถเป็นแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้เด็กๆ ได้คิดและนำไปปฏิบัติตามได้ ซึ่งเราก็มีความภาคภูมิใจว่าได้เป็นลมใต้ปีก ไปสนับสนุนเปิดพื้นที่ให้เด็ก ครู ทำแผนของเขาเองได้ เพื่อให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่สำคัญแม้เด็กเรียนจบออกไปแล้วก็ยังมีจิตสำนึก นำไปต่อยอดในชีวิตประจำวันได้”
เช่นเดียวกับ คุณพันธ์ศักดิ์ เวชอนุรักษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้สนับสนุนหนังสือดังกล่าว ตอกย้ำว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่ทุกคน ทุกอาชีพนำไปปฏิบัติได้ แม้ในภาคธุรกิจก็ตามเพราะปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับภาคธุรกิจ มิได้หมายถึงเศรษฐกิจระบบปิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับใคร ไม่ค้าขาย ไม่ส่งออก หรือหันหลังให้กับกระแสโลกาภิวัตน์ แต่เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันขณะที่ยังมีความไม่พร้อมหรือยังไม่แข็งแรง พร้อมๆ กับการไม่ประมาทและไม่โลภมากจนเกินไปในการลงทุน จึงควรปลูกฝังให้เยาวชนได้เรียนรู้ตั้งแต่ในวัยเรียน
“หลายคนที่ลงทุนแล้วไม่ประสบความสำเร็จนอกจากจะขาดความรู้ความเข้าใจแล้ว ยังขาดความพอประมาณ การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าผู้ลงทุน ใช้เหตุและผล ศึกษาฐานะการเงินของบริษัทต่างๆ ก่อน ไม่เชื่อตามข่าวลือ สร้างภูมิคุ้มกันโดยการศึกษาหลักการบริหารความเสี่ยงเสียก่อน การลงทุนต่างๆ ก็จะเกิดการผิดพลาดน้อยลง นอกจากนั้นก็ควรตั้งอยู่ในความพอประมาณด้วย”
สอดคล้องกับ คุณวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เครือ SCG ที่เล่าว่า ธุรกิจในเครือ SCG มีบทเรียนสำคัญเมื่อครั้งพิษเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ซึ่งในขณะนั้นบริษัทดำเนินธุรกิจที่เกินตัว อัตราแลกเปลี่ยนที่มีค่าสูงขึ้น ทำให้เกิดหนี้สินเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จากหนึ่งแสนกว่าล้านเป็นสองแสนกว่าล้านบาทในชั่วข้ามคืน หลังจากนั้นจึงเริ่มกำหนดนโยบายในการบริหารธุรกิจแบบใหม่ขึ้น โดยใช้หลักความมีเหตุผล เลือกดำเนินธุรกิจที่ตนเองเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง มีความพอประมาณ โดยลดจำนวนธุรกิจลง จาก 10 กลุ่ม เหลือ 5 กลุ่ม และสร้างภูมิคุ้มกันในการลงทุน โดยประกอบด้วยการเพิ่มพูน พัฒนาความรู้ให้พนักงานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งตรงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไม่รู้ตัว
“ในปี 40 เมื่อเราเริ่มจัดการองค์กรใหม่ ก็ได้พบกับความมหัศจรรย์ที่ว่า เมื่อนำหลักความมีเหตุผล ความพอประมาณ การมีภูมิคุ้มกันที่ดีมาเป็นปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ได้ผลประกอบการที่ดีกว่าในอดีตที่มีบริษัทจำนวนเยอะกว่า ทำให้เราเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น ฉะนั้นหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ในแง่การปลูกฝังให้เด็กได้เข้าใจตั้งแต่ยังเล็ก นำไปปรับใช้ได้กับทุกจังหวะชีวิต กลายเป็นสังคมพอเพียงที่ไม่เกิดปัญหาตามมา”
ด้านผู้จัดจำหน่าย คุณตะวัน เทวอักษร กรรมการผู้จัดการบริษัท อักษรเจริญทัศน์ อจท.จำกัด กล่าวว่า “ในหนังสือจะประกอบไปด้วย บทความ ท่องเที่ยว บทสัมภาษณ์ หนังสือน่าอ่าน ซึ่งมีการยกตัวอย่างในการนำมาประยุกต์ใช้จริงในลักษณะต่างๆ เหมาะสำหรับ เด็ก เยาวชน และครูในโรงเรียนนำมาประกอบการเรียนการสอน ซึ่งสามารถนำมาบูรณาการได้กับทุกกลุ่มสาระ เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือทำจริง ทั้งนี้เราจะจัดจำหน่ายตามร้านหนังสือทั่วไปทั่วประเทศ และคิดว่าเยาวชนจะได้รับประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้อย่างมาก”
ตัวอย่างดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นอยู่ในทุกๆ สิ่ง ซึ่งทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง หนังสือ “พพ.๘๒๙” จึงเป็นหนังสือแห่งแรงบันดาลใจ และสื่อการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน ปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องความพอเพียง ตลอดจนเป็นแนวทางในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของการอยู่อย่างพอเพียง
ติดต่อสอบถามข้อมูลและภาพเพิ่มเติม วิภาวี (แอมป์) 02-270-1350 ต่อ 0