กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--หอการค้าไทย
นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยร่วมกับหอการค้าจังหวัด ทั่วประเทศ กำหนดจัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 27 ขึ้น ในระหว่างวันที่ 27 — 29 พฤศจิกายน 2552 โรงแรมเลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางการปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย คณะกรรมการหอการค้าไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานหอการค้าจังหวัด เลขาธิการหอการค้าจังหวัด ผู้แทนจากหน่วยงานราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และสื่อมวลชน ประมาณ 800 คน
นายดุสิต กล่าวว่า หอการค้าไทยจะระดมความคิดเห็นจากผู้บริหารหอการค้าทั่วปรเทศ ว่าด้วยกระบวนการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยหอการค้าไทยได้มอบหมายให้คณะทำงานในแต่ละด้านได้ร่วมมือกับหอการค้าจังหวัด จัดทำประเด็นและหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจขึ้นมาเพื่อเป็นกรอบในการระดมความคิดเห็น
นายไพรัช บูรพชัยศรี กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าว่า ภาพรวมของการจัดสัมมนา ในช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2552 จะมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง ”ทิศทางยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย” โดย นายยุทธศักดิ์ สุภสรและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม : บทเรียนจากประเทศญี่ปุ่น” โดย MR.MUNENORI YAMADA JETRO BANGKOK PRESIDENT (JAPAN EXTERNAL TRADE ORGANIZATION) ส่วนในวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2552 จะเป็นพิธีเปิดการสัมมนา หลังจากนั้น จะเป็นการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “แนวทางในการทำงาน กรอ.ยุคใหม่” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และการบรรยายพิเศษ เรื่อง “AEC : โอกาสทองทางเศรษฐกิจของไทย” โดยนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน
ส่วนในช่วงบ่ายจะมีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “เติมเต็มยุทธศาสตร์เศรษฐกิจประเทศไทย” โดยแบ่งกลุ่มสัมมนาออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 เรื่อง “แผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจประเทศไทย”
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีแนวคิดที่จะจัด“ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจประเทศไทย” ซึ่งเสมือนแผนที่พัฒนาภาคเศรษฐกิจของประเทศ (Economic Development Mapping)ทั้งระดับภาคธุรกิจที่แท้จริง(Real Sector) และระดับรายพื้นที่ โดยReal Sector ดำเนินการนำร่อง 7 กลุ่มธุรกิจประกอบด้วยธุรกิจเกษตรและอาหาร,ธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพ,ธุรกิจท่องเที่ยว,ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์,ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ,ธุรกิจสิ่งทอ,และธุรกิจการค้าชายแดน ส่วนระดับรายพื้นที่นั้น ประกอบด้วยหอการค้าจังหวัด 75 จังหวัด (18 กลุ่มจังหวัด) ซึ่งแผนที่พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศของภาคเอกชนดังกล่าวนี้ นับว่าจะเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจในมุมมองของภาคเอกชนที่ครอบคลุมการพัฒนาธุรกิจ SMEs ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งหอการค้าไทยและ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะใช้เป็นเข็มทิศนำทางการพัฒนาธุรกิจ และจะนำเสนอให้กับทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจของประเทศ
กลุ่มที่ 2 เรื่อง “ บทบาทใหม่ กรอ. : กลไกลเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
การสัมมนาฯในกลุ่มที่ 2 นี้ จึงได้กำหนดประเด็นหลักๆ เพื่อระดมความคิดเห็น ดังนี้
1.เรื่อง ความเหมาะสมขององค์ประกอบโครงสร้างคณะกรรมการ กรอ.จังหวัด/กลุ่มจังหวัด รวมทั้งกลไกการประสานความร่วมมือ/แนวทาง ภายใต้คณะกรรมการ กรอ. จังหวัด/กลุ่มจังหวัดสู่กรอ.ระดับชาติ นั้น ควรมีทิศทางหรือควรมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร
2. เรื่อง กระบวนการหรือแนวทางในการขับเคลื่อน ประเด็นและ ข้อเสนอของ กรอ.จังหวัด/กลุ่มจังหวัดไปสู่การแก้ไขให้ทันกับความเร่งด่วนของปัญหา รวมทั้งสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ได้อย่างไร
3. เรื่อง การเชื่อมโยง บทบาทและลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน ระหว่าง กรอ.จังหวัดกับคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) และ กรอ.กลุ่มจังหวัด กับ คณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก) อันจะนำไปสู่การวางแผน ยุทธศาสตร์และการจัดทำแผนงาน/โครงการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
4. เรื่อง การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกระบวนการกรอ.จังหวัด กรอ.กลุ่มจังหวัด อาทิ งบประมาณสนับสนุน หรือการออกระเบียบสำนัก นายกรัฐมนตรีว่าด้วยความ ร่วมมือภาครัฐและเอกชน อย่างเช่นในอดีต เพื่อรองรับ การดำเนินงานของกรอ.ในระยะยาว
กลุ่มที่ 3 เรื่อง “ อีก 5 ปี ไทยชนะหรือแพ้ ภายใต้ AEC”
สืบเนื่องจากประเทศไทยและกลุ่มประเทศในอาเซียนรวม 10 ประเทศได้บรรลุข้อตกลงที่จะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจะมีผลสมบูรณ์ในปี 2015 (พ.ศ. 2558) ส่งผลต่อกฎเกณฑ์ทางการค้า การผลิต การส่งออกที่จะเปลี่ยนไปทั้งในทางที่ก่อให้เกิดโอกาสใหม่ และอาจเป็นอุปสรรคต่อนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ เกษตรกร ประชาชนในประเทศไทย โดยสมาชิกบางส่วนที่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของข้อตกลงดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถเตรียมความพร้อมเพื่อฉกฉวยโอกาสในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้
การจัดสัมมนากลุ่มย่อย ภายใต้หัวข้อดังกล่าว ต้องการให้สมาชิกได้รับทราบข้อมูลอย่างชัดเจนเพื่อกำหนดทิศทางธุรกิจเตรียมรับโอกาสใหม่ และหลีกเลี่ยงอุปสรรคที่เกิดจากข้อตกลงการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนครั้งนี้ ซึ่งอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติที่กระทบกับหลายภาคส่วน การศึกษาได้เน้นถึงความพร้อมของภาคเอกชนในการปรับตัวเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในอีก 5 ปี 3 เดือนข้างหน้าปัญหา อุปสรรค ตลอดจนแนวทางการพัฒนา
สำหรับวันสุดท้ายของการสัมมนา จะเป็นการนำเสนอผลการสัมมนา และพิธีปิดการสัมมนา โดย นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีปิดงาน และกล่าวปาฐกถาพิเศษ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร. 02-622-1860 -76 ต่อ 402-7