สรุปภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ เดือนกันยายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 15, 2009 07:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--ตลท. ภาวะตลาดหลักทรัพย์ของไทยในเดือนกันยายน 2552 ปรับตัวดีขึ้น ทั้งด้านดัชนีตลาดหลักทรัพย์ และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด โดยเฉพาะมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันที่สูงที่สุดในรอบ 26 เดือน โดยได้รับปัจจัยบวกจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และนักลงทุนมีการกระจายการลงทุนไปสู่หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2/2552 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 4/2551 ทั้งด้านกำไรสุทธิ อัตรากำไรสุทธิ อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น และความสามารถในการชำระหนี้ จากการควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ในไตรมาส 3 ปี 2552 การระดมทุนในตลาดแรก (IPO) มีมูลค่าสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปี สะท้อนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น 1. ภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ไทยเทียบกับต่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 9.8 จากสิ้นเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งสอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค โดยปรับสูงขึ้นเป็นอันดับ 2 ของตลาดในภูมิภาครองจากไต้หวัน และหากเทียบกับสิ้นปี 2551 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯได้ปรับสูงขึ้นร้อยละ 59.4 ทั้งนี้อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2552 ได้ปรับสูงขึ้นเป็น 29.2 เท่า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวตลาดส่วนใหญ่ในภูมิภาค ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทน (Market Dividend Yield) ของไทยยังสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค 2. สรุปภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั้งของ SET และ mai ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกด้านภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2551 พบว่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของ SET เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.4 เป็น 5,724,241 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 15 เดือนจากการปรับเพิ่มขึ้นของดัชนี SET ที่ปรับขึ้นร้อยละ 59.4 เป็น 717.07 จุด นอกจากนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดและดัชนี mai ปรับตัวในทิศทางสูงขึ้นเช่นกัน คือมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดปรับสูงขึ้นร้อยละ 53.4 เป็น 29,865 ล้านบาท และดัชนีราคาตลาด mai ปรับสูงขึ้นร้อยละ 23.4 เป็น 201.02 จุด จากการที่ราคาหลักทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น จึงทำให้จำนวนหลักทรัพย์ที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (P/BV < 1) มีจำนวนลดลงจาก 353 หลักทรัพย์ เมื่อสิ้นปี 2551 มาเหลือ 277 หลักทรัพย์ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 จากหลักทรัพย์ทั้งหมด 517 หลักทรัพย์ หรือคิดเป็นร้อยละ 53.58 ของหุ้นสามัญทั้งหมด 3. ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันปรับตัวสูงสุดในรอบ 26 เดือน ในเดือนกันยายน 2552 มูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์อยู่ที่ 573,526 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 จากเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา และมีมูลค่าซื้อขายรายวันเฉลี่ยสูงถึง 26,069 ล้านบาทต่อวัน สูงสุดในรอบ 26 เดือน นับจากเดือนกรกฎาคม 2550 ที่มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวัน 32,189 ล้านบาท โดยกลุ่มนักลงทุนทั่วไปในประเทศยังมีสัดส่วนการซื้อขายสูงสุดที่ร้อยละ 65 ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด มูลค่าการซื้อขายรวมที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศซึ่งหาช่องทางในการเพิ่มผลตอบแทนจากสถานการณ์สภาพคล่องที่มีอยู่มากโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยในเดือนกันยายนนี้ นักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิด้วยมูลค่า 22,900 ล้านบาท นับเป็นการซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 หากนับตั้งแต่ต้นปี 2552 นักลงทุนต่างประเทศมีการซื้อสุทธิรวม 55,105 ล้านบาท เทียบกับปี 2551 ที่นักลงทุนต่างประเทศมีการขายสุทธิรวมกว่า 162,357 ล้านบาท สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายแยกตามกลุ่มหลักทรัพย์และหมวดอุตสาหกรรมมีการกระจายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยการกระจายตัวของสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในกลุ่มหุ้นต่างๆที่มีเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ SET Index เริ่มปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมีนาคม 2552 และมีการกระจายตัวต่อเนื่องเรื่อยมา โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม SET10 จากที่เคยมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดที่ร้อยละ 57 ในเดือนมีนาคม 2552 ได้ลดลงเรื่อยมาจนเหลือเพียงร้อยละ 35 ในเดือนกันยายน 2552 ซึ่งการปรับลดลงนี้เป็นผลมาจากการที่นักลงทุนซื้อขายหุ้นในกลุ่ม Non-SET50 มากขึ้น และเมื่อพิจารณาสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายแยกตามหมวดอุตสาหกรรมพบว่า สัดส่วนการซื้อขายหุ้นในกลุ่มพลังงานและธนาคารลดลงต่ำที่สุดในรอบปีเหลือเพียงร้อยละ 50 จากเดิมที่เคยสูงสุดถึงร้อยละ 65 ในเดือนมีนาคม 2552 โดยหมวดอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนมูลค่าซื้อขายที่เพิ่มขึ้นคือหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้างที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น 4. จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในสิงหาคม 2552 เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ร้อยละ 34 โดยมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีที่ 3.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมปีที่แล้วร้อยละ 24 อัตราส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขาย (Active Rate) ในเดือนสิงหาคม 2552 อยู่ที่ร้อยละ 23.2 สูงขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2552 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 20.6 ในส่วนการซื้อขายหลักทรัพย์ทางอินเทอร์เน็ต (Internet Trading) ในเดือนกันยายน 2552 ทั้งจำนวนบัญชีและมูลค่าการซื้อขายผ่าน Internet ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมูลค่าการซื้อขายที่มีสูงถึง 128,878 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 22.5 ของมูลค่าซื้อขายรวมทั้งหมด ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เปิดให้มีการซื้อขายผ่าน Internet และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 224 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายนปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีที่ 2.79 ล้านบาท 5. สรุปภาวะตลาดอนุพันธ์ จำนวนสัญญาซื้อขาย Gold Futures เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์โดยรวมในเดือนกันยายน 2552 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวัน 13,164 สัญญา เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากเดือนสิงหาคม 2552 ที่สำคัญจาก Gold Futures ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 และในเดือนนี้ Gold Futures มีปริมาณการซื้อขายรายวันสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มซื้อขายในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 จากราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 6. ภาพรวมด้านการระดมทุน ในไตรมาส 3 ปี 2552 มีมูลค่าระดมทุนรวม 7,109 ล้านบาท โดยเป็นการระดมทุนในตลาดแรก 5,158 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ปรับสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปี สะท้อนถึงความเชื่อมั่นจากภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น บริษัทจดทะเบียนใหม่ที่มีการระดมทุนสูงสุด 2 อันดับแรกได้แก่ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต มูลค่า 2,619 ล้านบาท รองลงมาคือ บมจ. สยามโกลบอลเฮ้าส์ มูลค่า 663 ล้านบาท ในขณะที่มีการระดมทุนในตลาดรองจำนวน 1,951 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการระดมทุนในตลาดรองในปี 2552 อาจมีมูลค่าการระดมทุนไม่สูงมาก เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในระดับค่อนข้างต่ำ จึงอาจไม่มีความจำเป็นต้องระดมทุนจากตราสารทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หัวข้อพิเศษ 1. รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนงวดไตรมาส 2/2552 [1] ผลการดำเนินงาน และประสิทธิภาพการดำเนินงาน การควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้กำไรสุทธิ อัตรากำไรสุทธิ อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น และความสามารถในการชำระหนี้ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 4/2551 : มีบริษัทจดทะเบียนที่มีผลกำไร 283 บริษัท จาก 379 บริษัท โดยมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 101.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 78 จากไตรมาส 1/2552 ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น โดยมีอัตราส่วนต้นทุนต่อยอดขาย (Cost to Income Ratio) ลดลงจากจุดสูงสุดในไตรมาส 4/2551 ที่ร้อยละ 100.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 90.7 ทำให้อัตรากำไรสุทธิปรับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 7.2 ซึ่งเป็นอัตรากำไรสุทธิที่สูงกว่าไตรมาส 2/2551 ที่ร้อยละ 6.6 ทั้งนี้ กำไรสุทธิที่ปรับสูงขึ้นได้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.84 จากไตรมาส 1/2552 ที่ร้อยละ 2.20 นอกจากนี้ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวที่ 1.16 เท่า เทียบกับ 1.14 เท่าในไตรมาส 1/2552 และ 1.07 เท่าในไตรมาส 2/2551 โดยมีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 8.15 เท่า เนื่องจากผลบวกของกำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับลดลง 2. การจ่ายเงินปันผลตอบแทนของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ในช่วงมกราคม — กันยายน 2552 มีการจ่ายเงินปันผลสูงกว่าในช่วงเดียวกันในปี 2551 เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ดีขึ้น โดยพบว่าบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดมีการจ่ายเงินปันผลรวมกว่า 198,104.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันในปี 2551 และมีมูลค่าการจ่ายเงินปันผลต่ำกว่าช่วงเดียวกันในปี 2550 เพียงร้อยละ 0.25 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าศักยภาพของบริษัทจดทะเบียนในการจ่ายเงินปันผลเริ่มฟื้นตัวมาอยู่ระดับใกล้เคียงกับปี 2550 แล้ว [1] ไม่รวมข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มธุรกิจการเงิน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทที่เข้าข่ายเพิกถอนกิจการ จัดทำโดยฝ่ายวางแผนกลยุทธ์องค์กร ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 / กนกวรรณ เข็มมาลัย โทร. 0-2229 — 2048 / วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร 0-2229-2797

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ