จีเอ็มโอไม่ใช่ทางออก ชาวนาไทยนำเสนอเกษตรกรรมอินทรีย์วิถีไทยแก่คณะกรรมาธิการยุโรป

ข่าวทั่วไป Thursday October 15, 2009 17:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--กรีนพีซ ชาวนาไทยผู้ร่วมสรรค์สร้างศิลปะบนนาข้าวอินทรีย์กับกรีนพีซ ได้นำเสนอการทำเกษตรกรรมอินทรีย์ให้ปรากฏแก่สายตาชาวโลก พร้อมร่วมปฏิเสธพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ ณ สำนักงานคณะกรรมาธิการยุโรป กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียมในวันนี้ โดยได้เข้าพบแอนดรูลา วาสซีลิว คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสุขภาพ และร่วมยื่นข้อเรียกร้องผลักดันให้หยุดข้าวจีเอ็มโอของบริษัทไบเออร์ ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อผลักดันทั้งสิ้น 180,000 คน นางสำเนียง ฮวดลิ้ม อายุ 62 ปี ชาวนาจากจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรจากทั้งหมด 3 ประเทศ ได้เข้าพบคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อนำเสนอความสำเร็จของการทำเกษตรกรรมอินทรีย์ ผ่านภาพศิลปะบนผืนนาของเธอ ซึ่งสะท้อนภาพวิถีชีวิตชาวนาไทยที่กำลังถือเคียวก้มเกี่ยวข้าว ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก (1) แต่ในขณะนี้ ข้าวไทยกำลังตกอยู่ในภัยคุกคามจากการดัดแปลงพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ “ฉันภูมิใจที่ได้แสดงให้คณะกรรมาธิการยุโรปได้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตข้าวได้มากที่สุดในโลก โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเสี่ยงอย่างจีเอ็มโอ ชาวนาไทยถือเป็นกระดูกสันหลังของชาติ และการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนเป็นวิธีที่ดีกว่าและปลอดภัยกว่า หากวิถีชีวิตชาวนาไทยสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยเกษตรกรรมแบบยั่งยืนนี้ ประเทศในสหภาพยุโรปย่อมทำได้เช่นเดียวกัน” นางสำเนียง ฮวดลิ้มกล่าว ในการเข้าพบคณะกรรมาธิการยุโรปครั้งนี้ นอกจากชาวนาไทยแล้ว ยังมีเกษตรกรจากประเทศสเปนและสวีเดน ที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผืนดินของตนเอง รวมถึงกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงของผลกระทบอันร้ายแรงจากการปนเปื้อนจีเอ็มโอ ซึ่งแตกต่างจากวิถีเกษตรกรรมที่พึ่งพิงธรรมชาติของเกษตรกรทั้งสามโดยสิ้นเชิง เกษตรกรทั้งสามประเทศยังได้นำตัวอย่างผลผลิตที่ได้จากการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนของตน ซึ่งได้แก่ ข้าวโพด มันฝรั่ง และข้าว ซึ่งพืชเหล่านี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสหภาพยุโรปให้การดัดแปลงพันธุกรรมในพืชผลดังกล่าวมีผลถูกต้องตามกฎหมาย “การร่วมลงชื่อยุติข้าวจีเอ็มโอนั้น ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้บริโภคกว่าแสนคนไม่ต้องการอาหารจีเอ็มโอ” นางสาวณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว “ข้าวโพดจีเอ็มโอได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของเกษตรกรในยุโรปแล้ว บทเรียนดังกล่าวจะต้องไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย คนไทยจึงควรร่วมกันปกป้องเกษตรกรและผู้บริโภค โดยการสนับสนุนและสืบทอดวิธีการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนให้แก่คนรุ่นต่อไป” กรีนพีซยังได้เปิดเผยรายงาน “กรณีศึกษาการปนเปื้อนจีเอ็มโอ” ให้แก่คณะกรรมาธิการยุโรป รายงานดังกล่าวเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลของอันตรายจากการปนเปื้อนจีเอ็มโอและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรชุมชนท้องถิ่นในยุโรป กรีนพีซเห็นว่าการอนุมัติให้ข้าวหรือผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอใดๆของบริษัทไบเออร์นั้น เป็นการเดินผิดทาง เนื่องจากเป็นการปูทางให้อาหารหลักของโลกตกอยู่ในความเสี่ยง ในทางกลับกัน การทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนจะช่วยปกป้องดิน น้ำ และถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังเป็นการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปลูกพืชเชิงผสมเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงเนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ผลผลิตทางการเกษตรได้ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ต้านทานโรคมากขึ้นและลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง กรีนพีซเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปปกป้องอาหารและพื้นที่เพาะปลูก โดยยับยั้งการอนุมัติข้าวจีเอ็มโอของบริษัทไบเออร์ มันฝรั่งจีเอ็มโอของ BASF และข้าวโพดจีเอ็มโอ MON810 ของมอนซานโต ในประเทศไทย กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาปฏิเสธการดัดแปลงพันธุกรรม โดยเฉพาะข้าวจีเอ็มโอ เนื่องจากจีเอ็มโอไม่เคยได้รับการพิสูจน์ว่ามีความปลอดภัยต่อการบริโภคของมนุษย์ ทำลายวิถีดั้งเดิมของเกษตรกร และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หมายเหตุ (1) เดือนมกราคมที่ผ่านมา กรีนพีซเปิดตัวกินเนสส์ เวิร์ลด์ เรคคอร์ด ที่ออกประกาศนียบัตรยกย่องให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวน 8,094,000 ตัน และคิดเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ของตลาดข้าวส่งออกทั่วโลก (2) อ่านเรื่องราวศิลปะบนนาข้าว ได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/organic-rice-art ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน โทร. 085 843 7300 วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร.089 487 0678, 02 357 1921 ต่อ 115

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ