กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--
เทศกาลกินเจจะเริ่มตั้งแต่ 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 นับตามปฏิทินจีน ซึ่งจะตรงกับเดือนตุลาคมของไทยเรา ตามตำนานเล่าว่า เมื่อเล่าจื๊อ ศาสดาแห่งลัทธิเต๋าเกิดขึ้นได้ถือพรตของลัทธิเต๋าแต่นั้นมา เมื่อก่อนนั้นการกินเจไม่มีการกำหนดว่าจะกินกันเมื่อไร แต่ถือเอาความสะดวกของผู้กิน จะกินวันไหน เดือนไหนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้คนนิยมกินเจในช่วงไว้ทุกข์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการปฏิบัติตนในทางที่ดีงาม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว สำหรับในปี 2552 นี้ เทศกาลถือศีลกินเจ คือระหว่างวันที่ 17-26 ตุลาคมนี้
ตำนานเทศกาลกินเจ มีความเชื่ออย่างแรก คือ เชื่อกันว่าในสมัยโบราณมีเทพหรือพระราชาที่ปกครองมนุษย์ เรียกกันว่าเป็น “ราชามนุษย์” และพระองค์ท่านมีพระโอรส 9 องค์เกิดในวันเดียวกันคือ 9 ค่ำเดือน 9 ประเพณีกินเจ 9 วันในเดือน 9 ตามปฏิทินจีน และคงเริ่มมาจากความเชื่อนี้
ส่วนตำนานที่ 2 ระบุว่าในปี พ.ศ. 2187 อันเป็นปีแห่งการสิ้นราชวงศ์หมิง มีจักรพรรดิฉงเจิงเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายที่ประชาชนรักใคร่ เมื่อตอนที่จะแพ้สงครามครั้งที่ข้าศึกมาประชิดที่กรุงปักกิ่ง ฉงเจิงชิงผูกคอตาย ณ ด้านหลังภูเขาเหมยซังก่อนที่จะให้ข้าศึกจะมาประชิดตัว
ต่อมาหลังจากสิ้นราชวงศ์หมิง ราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นกลุ่มแมนจูเข้ามาปกครอง กลุ่มแมนจูจะประกาศห้ามชาวจีนไหว้เจ้า และไหว้บรรพบุรุษหรือแม้กระทั่งการทำบุญให้กับจักรพรรดิองค์ก่อน เมื่อถูกทางการห้ามชาวจีนที่รักใคร่ในจักรพรรดิองค์ก่อน จึงกำหนดให้มีการกินเจ แต่มีจุดประสงค์เพื่อที่จะทำบุญให้กับจักรพรรดิองค์ก่อน ขณะเดียวกันคนจีนที่อพยพไปอยู่ต่างถิ่นก็นำวัฒนธรรมนี้ตามติดตัวไปด้วย
ส่วนข้าราชการที่มีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์หมิงต่างหนีการจับกุม โดยตั้งกลุ่มศาสนาเป็นการบังหน้าตามหัวเมืองต่างๆ และบางกลุ่มย้ายมาทางเอเชียอาคเนย์ กลุ่มเหล่านี้หวังฟื้นฟูราชวงศ์หมิง จึงจัดเทศกาลทางศาสนาตามที่ตนนับถือ โดยเลือกวันที่ 9 เดือน 9 เป็นวันทำพิธี ขณะเดียวกันในประเทศจีนเองก็มีเทศกาลวันที่ 9 เดือน 9 เรียกว่า “ฉงหยางเจี๋ย” แปลว่าวันที่เป็นหยางซ้อนกัน 2 วัน