กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน — มาร์สเตลเลอร์
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนไทยประจำไตรมาส 3/2552 ทรงตัวอยู่ในระดับกลางหลังจากดีดตัวพุ่งขึ้นอย่างเด่นชัดในไตรมาส 2/2552
สวนทางกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เพิ่มขึ้น 24% และะความคาดหวังที่มีต่อแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2
ประเด็นสำคัญจากรายงานการสำรวจภาวะการลงทุนประจำไตรมาสของไอเอ็นจี กรุ๊ป
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนไทยประจำไตรมาส 3/2552 ทรงตัวอยู่ที่ 113 ไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาส 2/2552 ซึ่งน่าจะเป็นผลจากปัญหาการเมือง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจน ผนวกกับการที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงหดตัว
นักลงทุนชาวเอเชียคาดว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการฟื้นตัว เห็นได้จากการที่ดัชนีความเชื่อมั่นเฉลี่ยของนักลงทุนในภูมิภาคแพนเอเชีย เพิ่มขึ้น 8% จาก 132 ในไตรมาส 2/2552 มาอยู่ที่ 143 ในไตรมาส 3/2552 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในไตรมาส 3/2550 เปนต้นมา็น็นต้นมา ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในทุกประเทศยกเว้นไทยและญี่ปุ่นมีทิศทางเชิงบวกอย่างชัดเจน
แม้ความเชื่อมั่นนักลงทุนไทยยังอยู่ในระดับปานกลาง (Neutral) และยังตามหลังประเทศอื่นๆ แต่นักลงทุนไทยยังคงมองว่า เศรษฐกิจและผลตอบแทนในการลงทุนมีการปรับตัวที่ดีขึ้นในไตรมาส 3/2552
นักลงทุนไทยส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่า การฟื้นตัวของการส่งออกและการใช้จ่ายของภาครัฐ จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
นักลงทุนไทยมีสัดส่วนการลงทุนในกองทุน/หุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 37% ในไตรมาส 3/2552 จากเดิม 32% ในไตรมาส 2/2552 ซึ่งนับว่ายังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าไตรมาส 1/2552 ที่ 58% อยู่มาก
นักลงทุนไทยค่อนข้างมีความคาดหวังในเชิงบวกสำหรับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ของไทยในไตรมาส 4/2552
ไอเอ็นจี กรุ๊ป สถาบันการเงินระดับโลก เผยข้อมูลจากรายงานการสำรวจภาวะการลงทุนรายไตรมาสว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศไทยอยู่ที่ 113 ในไตรมาส 3/2552 ซึ่งทรงตัวในระดับเดียวกับไตรมาส 2/2552 แม้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 3/2552 นั้นจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังอยู่ในระดับปานกลาง ขณะที่นักลงทุนในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียนั้นมีระดับความเชื่อมั่นการลงทุนอยู่ในเกณฑ์ที่สูงถึงสูงมาก
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นเฉลี่ยของนักลงทุนในภูมิภาคแพนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ไต่ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 143 ในไตรมาส 3/2552 จากที่ระดับ 132 ในไตรมาส 2/2552 และ 86 ในไตรมาส 3/2551 ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ควบคู่กับการที่นักลงทุนชาวเอเชียเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมมีการปรับตัวดีขึ้น นอกจากนั้น ผลการสำรวจครั้งนี้ ยังบ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวเอเชียที่สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีนี้ขึ้นมาในไตรมาส 3/2550 เป็นต้นมา โดยดัชนีความเชื่อมั่นซึ่งอยู่ในเกณฑ์ “ดี” นั้น ได้ขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกจากไตรมาสก่อน
การสำรวจภาวะการลงทุนไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด (ING Investor Dashboard) ได้ดำเนินการมายาวนานกว่า 2 ปี ซึ่งนับเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายไตรมาสในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ยกเว้นญี่ปุ่น) เป็นรายแรก โดยมีการวัดความเชื่อมั่นของนักลงทุนในแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้ทั้ง 13 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฮ่องกง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อเสนอภาพรวมของตลาดการลงทุนและทัศนคติของนักลงทุนในแต่ละประเทศ และยังมีการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นเฉลี่ยของนักลงทุนในภูมิภาคแพนเอเชียโดยคิดค่าเฉลี่ยจากทุกประเทศข้างต้น ยกเว้นญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อใช้อ้างอิงเปรียบเทียบกับดัชนีความเชื่อมั่นของแต่ละประเทศ
นักลงทุนไทยมองว่า เศรษฐกิจไทยและผลตอบแทนจากการลงทุนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องมาจากความวิตกเกี่ยวกับวิกฤติการเมือง
ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในไทยยังคงทรงตัวอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากปัญหาการเมืองของไทย ทั้งนี้ นักลงทุน 58% ระบุว่า ปัญหาการเมืองปัจจุบันสร้างผลกระทบเชิงลบต่อการลงทุนของพวกเขา ขณะที่นักลงทุนประมาณครึ่งหนึ่ง (49%) ไม่มั่นใจว่า ปัญหาการเมืองดังกล่าวจะคลี่คลายในไตรมาสหน้าหรือไม่
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีความวิตกเกี่ยวกับวิกฤติการเมือง นักลงทุนชาวไทยส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐที่รัฐบาลไทยประกาศจะดำเนินการล่าสุด รวมทั้งยอมรับว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนของตนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นอกจากนี้ นักลงทุนไทย 43% มองเห็นถึงการฟื้นตัวของการส่งออกไทย ขณะที่อีก 29% เชื่อว่า การใช้จ่ายของภาครัฐ คือ แรงขับเคลื่อนสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย นักลงทุนไทยจำนวนมากคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 4/2552 ซึ่งน่าจะทำให้ภาคการส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
นายต่อ อินทวิวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายธุรกิจกองทุนรวมและที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์ไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 3/2552 และผลตอบแทนจากการลงทุนในหลายๆ สินทรัพย์ก็อยู่ในระดับที่เป็นบวก แต่สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มั่นคง และการที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่ส่งผลอย่างชัดเจน ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนของไทย”
นักลงทุนไทยค่อนข้างมีความคาดหวังในเชิงบวกสำหรับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ของไทยในไตรมาส 4/2552
นักลงทุนไทยมีสัดส่วนของการลงทุนในกองทุน/หุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 37% ในไตรมาส 3/2552 เทียบกับ 32% ในไตรมาส 2/2552 ซึ่งนับว่ายังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าไตรมาส 1/2552 ที่ 58% อยู่มาก อันเป็นผลจากการขายเพื่อทำกำไร หลังจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในไตรมาส 3/2552 ทั้งนี้ นักลงทุนชาวไทยยังคงมีทัศนคติที่ดีต่อตลาดหลักทรัพย์ไทย และคาดว่าตลาดจะมีการเติบโตเฉลี่ย 7.2% ในไตรมาส 4/2552 นักลงทุนหลายรายยังคงมุ่งลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีการเติบโตสูง อาทิ กลุ่มธุรกิจการเงิน (44%) พลังงาน (33%) และเทคโนโลยี (17%) ทั้งยังมีความเชื่อมั่นในกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยคาดว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์จะดีดตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.8% ในไตรมาส 4/2552
นายต่อ กล่าวเสริมว่า “แม้เราจะยังไม่ค่อยมั่นใจในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ที่คาดหวังว่าจะหลุดพ้นจากภาวะถดถอยเชิงเทคนิคภายในปลายปี 2552 เรายังคาดว่าหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก หรือ สินค้าโภคภัณฑ์จะให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นกว่าหุ้นในกลุ่มอื่นอันเนื่องจากการที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 4/2552 และครึ่งแรกของปี 2553”
นักลงทุนไทยมองว่าอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยอยู่ในระดับทรงตัว และเลือกการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม
นักลงทุนชาวไทยมิได้มองว่าอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้นและเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุนในระยะปานกลาง ซึ่งแตกต่างจากทัศนคติของนักลงทุนในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ นักลงทุนไทยมากกว่าครึ่ง (55%) คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะไม่เพิ่มขึ้นในปี 2553 ขณะที่ 58% คาดว่าอัตราดอกเบี้ยก็จะไม่เพิ่มขึ้นในปีหน้า
เมื่อคิดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับทรงตัว นักลงทุนจำนวนมากขึ้นจึงหันมาลงทุนแบบอนุรักษ์แต่เน้นลงทุนในระยะยาวขึ้น โดยเน้นความปลอดภัยของเงินต้น ทั้งนี้ นักลงทุนที่เลือกแนวทางดังกล่าวมีสัดส่วน 37% เพิ่มขึ้นจากเดิม 29% ในไตรมาส 2/2552 นอกจากนี้ ในไตรมาส 4/2552 นักลงทุนไทยยังต้องการถือครองสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำต่อไป อาทิ การลงทุนในรูปของเงินฝากและทองคำ
เงินฝากและทองคำยังคงเป็นการลงทุนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มนักลงทุนไทยในไตรมาส 3/2552 โดยมีการจัดสรรการลงทุนในรูปของเงินฝากคิดเป็นสัดส่วน 48% และทองคำ 12% ในไตรมาส 3/2552 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เท่ากับไตรมาส 2/2552 ทั้งนี้ สำหรับไตรมาส 4/2552 นักลงทุนไทยยังจะจัดสรรเงินลงทุนในเงินฝากในสัดส่วนที่สูงขึ้นถึง 63% ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนในทองคำที่ 13% ของสัดส่วนการลงทุนทั้งหมด
นายต่อ ให้ความเห็นว่า “นักลงทุนยังคงเน้นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำทั้งในทองคำและเงินฝาก ซึ่งในระยะใกล้ แม้เราจะยังไม่เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อและทิศทางของการปรับอัตราดอกเบี้ยจะเป็นเรื่องน่ากังวล ทว่าอัตราเงินเฟ้ออาจกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สูงที่สุดในระยะปานกลางสำหรับการลงทุนทั่วโลกในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า เนื่องจากการอุปโภคบริโภคในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็เริ่มที่จะพุ่งสูงขึ้น ดังนั้น นักลงทุนจึงควรมีการคาดการณ์ทิศทางการลงทุนทั้งในระยะปานกลางและระยะยาว โดยลดการถือครองเงินฝากและทองคำ แล้วหันมาเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นการลงทุนที่แท้จริง เช่น หุ้น หรือ อสังหาริมทรัพย์เพื่อรับมือกับสภาวะเงินเฟ้อในระยะยาว ”
นักลงทุนชาวเอเชียเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้น
นักลงทุนส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พึ่งพิงภาคการส่งออกสูงมีทัศนคติเชิงบวกและมีความเห็นว่าเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่บนเส้นทางสู่การฟื้นตัว นักลงทุนจำนวนมากขึ้นในประเทศที่เน้นการส่งออก อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลี และไต้หวัน รับรู้ถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจในประเทศของตน และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจทั้งในประเทศของตนและสหรัฐอเมริกาจะยังคงปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/2552 นอกจากนี้ นักลงทุนชาวเอเชียยังคาดหวังว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศจี-7 จะฟื้นตัวขึ้นด้วยเช่นกัน
มร. นิโคลัส ทูวี่ หัวหน้าฝ่ายการลงทุนในตราสารทุน บริษัทบริหารจัดการการลงทุน ไอเอ็นจี ประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า “ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอชียมองเห็นว่า เศรษฐกิจและภาคการเงินในประเทศของตนมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2552 ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้แก่นักลงทุนเป็นอย่างยิ่ง นักลงทุนชาวเอเชียคาดหวังว่า เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศจี-7 จะมีการฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งเราคาดว่าจะอยู่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เห็นได้จากความเชื่อมั่นและทัศนคติที่เป็นบวกอย่างมากของนักลงทุนในประเทศที่เน้นการส่งออกเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก”
สำหรับการคาดการณ์สถานการณ์ในภายภาคหน้า นักลงทุนชาวเอเชีย(ยกเว้นญี่ปุ่น)ส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา โดย 61% มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะพ้นจากสภาวะถดถอยได้ภายใน 1 ปี นับจากตอนนี้ เช่นเดียวกับนักลงทุนไทยที่มีจำนวน 58% คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะก้าวพ้นจากภาวะถดถอยได้ภายใน 1 ปี
ความเชื่อมั่นนักลงทุนในประเทศที่มีการเติบโตสูงในเอเชียเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัว
ความเชื่อมั่นนักลงทุนในประเทศจีนและอินเดียยังคงอยู่ในระดับสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย แต่ความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในจีนมีการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเพียง 2.5% ขณะที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในอินเดียนั้นลดลง 8% หลังจากที่เคยพุ่งสูงสุดในไตรมาส 2/2552 หลังจากที่พรรคคองเกรสซึ่งเน้นนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง
แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในจีนจะอยู่ในภาวะชะลอตัว นักลงทุนชาวจีนส่วนใหญ่ยังคงมีทัศนคติที่ดีต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยนักลงทุน 93% คาดการณ์ว่า จีนจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่ากับหรือสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 8% สำหรับปี 2552 ขณะที่นักลงทุนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 62% เชื่อว่า จีนจะเป็นกลจักรสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว
แม้อินเดียเป็นประเทศที่มีความเชื่อมั่นนักลงทุนเชิงบวกสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย แต่ดูเหมือนว่า นักลงทุนชาวอินเดียมีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น โดยมีนักลงทุนเพียง 47% เชื่อว่า การเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2552 จะอยู่ในระดับ 7% ตามเป้าที่ตั้งไว้หรือมากกว่านั้น และมีนักลงทุนจำนวนน้อยลงที่มองว่า เศรษฐกิจของอินเดียจะยังคงฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 4/2552
ทั้งนี้ มร.ทูวี่ ได้แสดงความเห็นไว้ว่า “เป็นที่น่าสังเกตว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในจีนและอินเดียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ฟื้นตัวก่อนและมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในหลายไตรมาสที่ผ่านมา แม้ดูเหมือนว่านักลงทุนชาวอินเดียจะเริ่มคลายความดีใจจากผลของการเลือกตั้ง แต่ดัชนีความเชื่อมั่นในจีนและอินเดียยังคงอยู่ในระดับสูงและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศก็มีความมั่นคงเนื่องจากการมีอัตราการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่ง การที่ดัชนีความเชื่อมั่นในสองประเทศนี้จะเพิ่มขึ้นสู่อีกระดับหนึ่งนั้น จำเป็นต้องรอให้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศจี-7 ต้องฟื้นตัวเพิ่มขึ้นก่อน เพื่อผลักดันความต้องการการนำเข้าสินค้าจากนอกประเทศ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของตลาดจีนและอินเดีย”
นักลงทุนชาวเอเชียมีทัศนคติอันสดใสต่อตลาดหลักทรัพย์ของประเทศตน
นักลงทุนชาวเอเชียยังคงมีทัศนคติอันสดใสต่อตลาดหลักทรัพย์ของประเทศตน ปัจจุบัน นักลงทุนหลายรายมุ่งลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อาทิ เทคโนโลยี สินค้าโภคภัณฑ์ พลังงาน และ ภาคธุรกิจการเงิน
“แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์ในหลายๆ ประเทศจะอยู่ในระดับเต็มมูลค่าในขณะนี้ นักลงทุนก็ควรถือหุ้นไว้ก่อน อย่างไรก็ตามนักลงทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นสูงกว่าปกติอาจหาโอกาสขายเพื่อทำกำไร แต่สำหรับนักลงทุนที่ปัจจุบันมีการลงทุนในตลาดหุ้นอยู่ในระดับต่ำก็ควรมองหาโอกาสในการลงทุนเพิ่มเติมเมื่อหุ้นมีราคาลดลงในไตรมาสหน้า ไอเอ็นจีขอแนะนำให้นักลงทุนให้ความสำคัญกับหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง อาทิ เทคโนโลยี และสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งน่าจะมีผลประกอบการที่ดีหากเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศจี-7 ฟื้นตัวขึ้น” มร. ทูวี่ กล่าว
เงินเฟ้อ จัดเป็นความเสี่ยงในระยะกลาง เมื่อความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน นักลงทุนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 55% คาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/2552 ในขณะที่ 71% คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในปี 2553 มีเพียง 43% ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/2552
“เรามองว่า การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ปัญหาสำคัญในระยะใกล้ เนื่องจากเศรษฐกิจในเอเชียยังคงมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปโดยไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อ ดังนั้น เราจึงคาดการณ์ว่าประเทศส่วนใหญ่จะยังไม่ปรับนโยบายทางการเงินให้เป็นแบบตึงตัว อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้ออาจกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีน้ำหนักมากขึ้นในระยะยาวเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น นักลงทุนจึงควรมองสถานการณ์การลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว รวมทั้งกระจายการลงทุนจากเงินฝากไปในยังสินทรัพย์ที่เป็นการลงทุนจริงๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ” มร. ทูวี่ กล่าวปิดท้าย
“แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์ในหลายๆ ประเทศจะอยู่ในระดับเต็มมูลค่าในขณะนี้ นักลงทุนก็ควรถือหุ้นไว้ก่อน อย่างไรก็ตามนักลงทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นสูงกว่าปกติอาจหาโอกาสขายเพื่อทำกำไร แต่สำหรับนักลงทุนที่ปัจจุบันมีการลงทุนในตลาดหุ้นอยู่ในระดับต่ำก็ควรมองหาโอกาสในการลงทุนเพิ่มเติมเมื่อหุ้นมีราคาลดลงในไตรมาสหน้า ไอเอ็นจีขอแนะนำให้นักลงทุนให้ความสำคัญกับหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง อาทิ เทคโนโลยี และสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งน่าจะมีผลประกอบการที่ดีหากเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศจี-7 ฟื้นตัวขึ้น” มร. ทูวี่ กล่าว
เงินเฟ้อ จัดเป็นความเสี่ยงในระยะกลาง เมื่อความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นปัจจุบัน นักลงทุนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) 55% คาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/2552 ในขณะที่ 71% คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในปี 2553 มีเพียง 43% ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/2552
“เรามองว่า การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ปัญหาสำคัญในระยะใกล้ เนื่องจากเศรษฐกิจในเอเชียยังคงมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปโดยไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อ ดังนั้น เราจึงคาดการณ์ว่าประเทศส่วนใหญ่จะยังไม่ปรับนโยบายทางการเงินให้เป็นแบบตึงตัว อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้ออาจกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีน้ำหนักมากขึ้นในระยะยาวเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น นักลงทุนจึงควรมองสถานการณ์การลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว รวมทั้งกระจายการลงทุนจากเงินฝากไปในยังสินทรัพย์ที่เป็นการลงทุนจริงๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ” มร. ทูวี่ กล่าวปิดท้าย
ข้อมูลเพิ่มเติม
การสำรวจของไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด มีขึ้นเพื่อประเมินทัศนคติและพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนรายกลางในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 13 ประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นประจำทุกไตรมาส และนับเป็นการสำรวจรายไตรมาสรายแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งแสดงข้อมูลความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในเขตภูมิภาคดังกล่าว (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยแยกตามภาคอุตสาหกรรม
สำหรับการสำรวจประจำไตรมาส 3/2552 ดำเนินการเมื่อเดือนกันยายน ปี 2552 โดยการสัมภาษณ์ออนไลน์จากกลุ่มตัวอย่างนักลงทุนรายกลางทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 13 ประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,342 คน กลุ่มตัวอย่างมีอายุ 30 ปีหรือสูงกว่า มีสินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 100,000 เหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า ยกเว้น อินโดนีเซีย (สินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 56,000 เหรียญสหรัฐ หรือมากกว่านั้น) และฟิลิปปินส์ (สินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 100,000 เหรียญสหรัฐหรือรายได้ต่อเดือน 250,000 เปโซ หรือมากกว่านั้น) โดยผลสำรวจจัดทำโดยบริษัทวิจัยอิสระ รีเสิร์ช อินเตอร์เนชั่นแนล (Research International) และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ทั้งจากสถาบันการเงินและสื่อมวลชนใน 13 ประเทศ
เกี่ยวกับไอเอ็นจี
ไอเอ็นจี เป็นสถาบันการเงินระดับโลกสัญชาติดัชต์ ที่บริการจัดการด้านการธนาคาร การลงทุน การประกันชีวิต และการวางแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ ให้แก่ลูกค้ารายบุคคล องค์กร และสถาบันจำนวนกว่า 85 ล้านราย ในกว่า 40 ประเทศ ด้วยบุคลากรกว่า 110,000 คน ไอเอ็นจีมุ่งมั่นในการให้บริการด้านการจัดการทางการเงินแก่ลูกค้าด้วยมาตรฐานสูงสุด
เกี่ยวกับทีเอ็นเอส
ทีเอ็นเอสเป็นบริษัทวิจัยตามความต้องการของลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก และล่าสุดได้ผนวกรวมกับบริษัทรีเสิร์ช อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อให้บริการคำปรึกษาแก่ธุรกิจต่างๆ สำหรับนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ คำปรึกษาของทีเอ็นเอสประกอบด้วยข้อมูลจากการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดในอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค เทคโนโลยี การเงิน ยานยนต์ การเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์กลยุทธ์ทางการตลาดและธุรกิจอย่างครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ & นวัตกรรม แบรนด์ & การสื่อสาร การจัดการผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การค้าปลีก & ผู้บริโภค และการวิจัยเชิงคุณภาพ ทีเอ็นเอสเปิดให้บริการที่ปรึกษาที่เปี่ยมคุณภาพสูงสุดในมากกว่า 75 ประเทศ และเป็นบริษัทในเครือของแคนทาร์ (Kantar) ซึ่งเป็นเครือข่ายบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ท่านสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.tns-global.com.hk