กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
หน่วยงานหลักของรัฐที่ส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และฟิสิกส์ไทย ประกอบด้วย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) , สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ , สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านฟิสิกส์ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ประกาศเปิดตัว “โครงการนักศึกษาและครูฟิสิกส์ ภาคฤดูร้อนเซิร์น” เพื่อคัดเลือกนักศึกษา และครูสอนฟิสิกส์ให้เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมกิจกรรมภาคฤดูร้อนของเซิร์น ในปี 2553 ณ สมาพันธรัฐสวิส เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ — 30 พฤศจิกายน 2552
ศ.ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานคณะกรรมการโครงการคัดเลือกนักศึกษา และครูสอนฟิสิกส์ เพื่อเข้าร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อนของเซิร์น เปิดเผยถึงความเป็นมาของโครงการว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จเยือนเซิร์น (CERN: The European Organization for Nuclear Research) ในวันที่ 16 มีนาคม 2552 นั้นได้มีการลงนามในเอกสารแสดงเจตจำนงที่จะมีความร่วมมือกัน (Expression of Interest (EOI)) ระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กับเซิร์น (Institutes of CMS Collaboration European Organization for Nuclear Research (CERN) สมาพันธรัฐสวิส เพื่อสนองแนวพระราชดำริที่ทรงมีพระประสงค์ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศไทยกับเซิร์น ในการพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพด้านฟิสิกส์ให้แก่เด็ก เยาวชน ครู และนักวิจัยไทย
“ทั้งนี้จึงร่วมกันจัดทำโครงการการคัดเลือกนักศึกษา และครูสอนฟิสิกส์ เพื่อเข้าร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อนของเซิร์นขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ของไทยได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพ ขีดความสามารถด้านฟิสิกส์ ซึ่งประเทศไทยเองยังขาดบุคลากรที่มีความรู้หรือจบมาในสาขานี้โดยตรงอีกมาก ดังนั้นการส่งนักศึกษาและครูไทยไปเข้าร่วมโครงการดังกล่าวน่าจะเป็นแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสาขานี้ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพสำหรับประเทศไทยในอนาคตด้วย”
ด้าน ผศ.ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล รักษาการหัวหน้าฝ่ายระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโคร ตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในการคัดเลือก คณะกรรมการจะคัดเลือกนักศึกษาและครูที่มีศักยภาพ คุณสมบัติและจำนวนที่เหมาะสมก่อน จากนั้นจึงนำความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงคัดเลือกนักศึกษา 2 คน และครู 2 คน ที่จะเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปเข้าร่วมโปรแกรมของเซิร์นต่อไป โดยคุณสมบัติของผู้สมัครโครงการมีดังนี้คือ
? โครงการสำหรับนักศึกษา (CERN Programme of Summer Student)
ต้องมีสัญชาติไทย เป็นนิสิต/ นักศึกษาที่กำลังศึกษาชั้นปริญญาตรีปีที่ 4 หรือบัณฑิตศึกษาปีที่ 1 ที่ศึกษาอยู่ในประเทศไทย มีอายุไม่เกิน 25 ปี ในวันที่เปิดรับสมัคร ศึกษาอยู่ในสาขาวิชาฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับดีมากสามารถสื่อสารในการพูด ฟัง อ่าน เขียนได้เป็นอย่างดี
? โครงการสำหรับครู /อาจารย์ สอนฟิสิกส์ (CERN Programme for Physics High School Teachers)
ต้องมีสัญชาติไทย เป็นครูที่สอนวิชาฟิสิกส์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ฟิสิกส์พลังงานสูง (High-energy physics) มาก่อน และสอนอยู่ในประเทศไทย ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับดีมาก สามารถสื่อสารในการพูด ฟัง อ่าน เขียนได้ มีทักษะพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ (สามารถใช้อินเทอร์เน็ต รับ-ส่ง อีเมล์ และค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์ได้) สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดโครงการ มีผลการทดสอบภาษาอังกฤษเพื่อประกอบการพิจารณา โดยจะรับผล TOEFL, IELTS และ CU-TEP และคณะกรรมการจะมีการสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษด้วย ผู้สนใจดูรายละเอียดได้ที่ www.slri.or.th หรือ โทรศัพท์ 0-2354-3954
ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้แทนนักศึกษาและครูฟิสิกส์ได้รับจากโครงการคือ ได้เข้าศึกษาดูงาน และสัมมนาเชิงปฎิบัติการ ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จังหวัดนครราชสีมา และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงก่อนเดินทางไปร่วมกิจกรรม ณ เซิร์น พร้อมได้เข้าร่วมกิจกรรมปฎิบัติการวิจัยกับเซิร์น ณ ประเทศสมาพันธรัฐสวิส (ประมาณ 8 สัปดาห์สำหรับโปรแกรมนักศึกษาภาคฤดูร้อน และ 3 สัปดาห์สำหรับโปรแกรมครูสอนฟิสิกส์) ตลอดจนได้รับสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ค่าที่พัก ค่าประกันชีวิต และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพในช่วงเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นการสนับสนุนโดย 4 หน่วยงานหลัก
“ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนั้น นักเรียน นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ไทยในสาขาฟิสิกส์จะได้มีโอกาสเรียนรู้ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการใหม่ๆ จากประสบการณ์ของนักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ของเซิร์น โดยผู้แทนประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการ จะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาถ่ายทอด และจุดประกายให้กับบุคคลในสังคม เช่น เด็ก เยาวชน ครูอาจารย์ และนักวิจัย ตลอดจนเกิดความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์ของนักศึกษาไทยและครูรุ่นใหม่ ระหว่างหน่วยงานเครือข่ายในประเทศกับองค์กรระดับโลก”
พร้อมกันนี้ Professor Dr. Emmanuel Tsesmelis จากสำนักงานอำนวยการ สำนักงานองค์การวิจัยด้านนิวเคลียร์ของยุโรป (Directorate Office, The European Organization for Nuclear Research (CERN) สมาพันธรัฐสวิส ได้เข้าร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการในครั้งนี้ด้วยฯ โดยได้กล่าวแนะนำเซิร์นว่า เซิร์น ตั้งอยู่ ณ เมืองเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เป็นศูนย์วิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นที่ตั้งของเครื่องเร่งอนุภาค แอล เอช ซี ( Large Hadron Collider: LHC) ที่มีพลังงานสูงที่สุดในปัจจุบัน เพื่อทำการทดลองตรวจหาอนุภาคฮิกส์ และศึกษาฟิสิกส์ที่พลังงานระดับเทระอิเล็กตรอนโวลต์
ผู้บริหารเซิร์นกล่าวว่า เซิร์นได้ริเริ่มดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนนานาชาติตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 โดยมีนโยบายให้นักศึกษา และครูสอนวิชาฟิสิกส์จากทั่วโลก ได้มีโอกาสสมัครเข้าร่วมศึกษาและปฏิบัติงานวิจัยกับเซิร์น ซึ่งในเดือนกรกฎาคม ปี 2553 นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสเปิดให้นักศึกษาและครูฟิสิกส์ของประเทศไทยได้เข้าร่วมกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนากำลังคนด้านฟิสิกส์ของเซิร์น โดยจะไปเข้าร่วมในโครงการ CERN’s Summer Student Programme และส่งครูสอนฟิสิกส์ระดับมัธยมศึกษาไปเข้าร่วมกิจกรรม Physics High School Teacher Programme นอกจากนี้เซิร์นยังมีทุนสนับสนุนงานวิจัยด้านฟิสิกส์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ที่สนใจทั่วโลกให้ได้เข้าร่วมโครงการ โดยในอนาคตจะมีโครงการส่งนักวิจัยไทยไปร่วมทำงานวิจัยกับเซิร์นอีกด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
งานเลขานุการโครงการนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ ภาคฤดูร้อนเซิร์น
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
โทร: 0 2354 3954, 0 2354 4466 ต่อ 262 (ติดต่อ คุณศศิพันธุ์)
หรือ 0 2564 7000 ต่อ 1485 (ติดต่อ คุณมยุรี)
E-mail : sasipun@slri.or.th , mayuree@nstda.or.th