กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
เพราะเชื่อว่า “เยาวชน” เป็นวัยที่มีพลัง มีศักยภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำสิ่งดีอื่นๆ อีกมากมาย งานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 1 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ร่วมสร้างประเทศไทย...ด้วยการให้” จึงถูกจัดขึ้นในวันที่ 9-11 ตุลาคม 2552 โดยความสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับเจ้าภาพร่วม 11 องค์กร และองค์กรภาคีเครือข่ายพัฒนาเยาวชน 88 องค์กร ณ สยามดิสคัฟเวอรี่ พลาซ่า, สยามเซ็นเตอร์, พาร์คพารากอน, อุทยานการเรียนรู้ (TK Park) และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
งานในครั้งนี้ถือเป็นการผนึกกำลังของเหล่าเยาวชนจากทั่วประเทศซึ่งพร้อมใจกันมาโชว์ผลงานที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้น ทั้งยังถ่ายทอดเรื่องราวในบทบาทที่ตนเองเป็นพลังขับเคลื่อนให้กับสังคม โดยหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจในงานครั้งนี้คือ กลุ่มเยาวชนผู้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ทำโครงงานและกิจกรรมที่โรงเรียน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เป็นไปอย่างยั่งยืนและเหมาะสม ...
“เราต้องมีความรู้ควบคู่ไปกับคุณธรรม การทำงานต่างๆ จึงจะประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี” คือความเข้าใจต่อองค์ความรู้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ “อภิสรา เกตุนุติ” หรือ “น้ำ” นักเรียนชั้นม. 4 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี นำมาใช้เป็นหลักในการทำ “โครงงานกระดาษหน้าที่ 3”
กิจกรรมของน้ำและเพื่อนๆ ใน ร.ร. จุฬาภรณราชวิทยาลัย คือการทำสื่ออักษรเบรลล์ให้กับเพื่อนผู้พิการทางสายตา ทั้งที่เป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษ พระบรมราโชวาท และเรื่องราวความรู้นอกห้องเรียนทั่วไป โดยมีแบบอย่างแรงบันดาลใจมาจากรุ่นพี่ที่บุกเบิกทำโครงการนี้มาก่อน
อดีตแกนนำโครงการนี้ “ตฤณ ธรรมเนียม” เล่าถึงช่วงเวลาเริ่มแรกของโครงการนี้ว่า หลังจากไปเข้าค่ายแล้วมีโอกาสช่วยดูแลน้องๆ ผู้พิการทางสายตา ทำให้เขากลับมานึกย้อนดูตัวเองอีกครั้งว่า ตัวเขาเองจะมีส่วนช่วยดูแลน้องๆ ตาบอดได้มากกว่าเพียงการบริจาคกระดาษเหลือใช้อีกบ้างไหม
“ทราบมาว่าทางโรงเรียนสอนคนตาบอดต้องการกระดาษเหลือใช้ ผมเลยมองกลับไปที่โรงเรียนว่าเรามีกระดาษที่ใช้สองด้านแล้วอยู่มากทั้งส่วนที่ดีและไม่ดีอยู่เยอะมาก จึงคัดแยกกระดาษส่วนที่ดีออกมาทำอักษรเบรลล์ให้ความรู้กับน้องๆ ผู้พิการทางสายตา มันเป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์ที่ว่ากระดาษที่เราไม่ต้องการ แต่มันเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับน้องคนตาบอดได้อย่างดี”
และพวกเขาก็ช่วยกันคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรกับกระดาษหนังสือพิมพ์ ยับ เปื้อนน้ำหมึกต่อไป
จนในที่สุดพวกเขานำกระดาษส่วนที่ไม่ดีนั้นไปทำเปเปอร์มาเช่ ประดิษฐ์เป็นตุ๊กตาหรือพวงกุญแจหารายได้มาสมทบเป็นค่าใช้จ่ายของโครงงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดหาทางออกว่าปลายทางของกระดาษที่เสื่อมคุณภาพ จนไม่สามารถนำไปทำให้เกิดประโยชน์ใดได้อีกนั้นจะกลับมามีคุณค่าใหม่ได้อย่างไร
สำหรับ “น้ำ“ แม้แรกเริ่มจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการในการทำสื่อการเรียนรู้ให้ผู้พิการทางสายตาในชุมนุมจิตประภัสสรตั้งแต่ต้น แต่แวบแรกที่เห็นรอยยิ้มส่งผ่านออกมาจากภาพการทำกิจกรรมในชุมนุม ใจของเธอก็อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเพื่อทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นบ้าง
“พอได้เข้ามาทำแล้วก็ยังได้รับความรู้มากขึ้นด้วย คือเขามองไม่เห็น เขาก็ไม่สามารถอ่านได้เหมือนเรา ฉะนั้นพอเรามาช่วยเขาทำสื่อการเรียนตรงนี้ให้ ก็เท่ากับว่าเรามีโอกาสช่วยเปิดโลกของเขาให้กว้างออกไปได้มากยิ่งขึ้น ทำให้เขามีโอกาสเรียนรู้เหมือนกับที่พวกเรามีโอกาส ซึ่งก็ถือว่าเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนตาดีกับคนตาบอด ทำให้เราเกิดจิตอาสาในตัวเอง แล้วยังได้ฝึกสมาธิในการทำงาน มากไปกว่านั้น พวกเราเองยังได้เห็นพลังความสามัคคีจากเพื่อนๆ ด้วย”
สำหรับความเชื่อมโยงในการทำกิจกรรมตรงนี้กับหลักเศรษฐกิจพอเพียง สาวน้อยหน้าใสคนนี้ตอบว่า “พวกเราใช้กระดาษที่ใช้แล้วทั้งสองหน้า ไม่ได้ฟุ่มเฟือยไปการใช้กระดาษใหม่ แต่เราจะเก็บกระดาษเอ 4 ที่เด็กบางคนไม่ใช้แล้วทิ้งมาทำเกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณธรรม โครงการนี้จึงสำเร็จไปได้ด้วยดี แล้วการทำงานตรงนี้ก็ใช่ว่าจะใช้แต่ความรู้ เรายังต้องใช้คุณธรรมในหลายๆ อย่างด้วย งานที่ทำจึงจะประสบความสำเร็จได้อย่างสวยงาม”
กลุ่ม MoYo คลับ กิจกรรมชุมนุมของนักเรียนจิตอาสา ร.ร.โยธินบูรณะ ที่ทำหน้าที่เผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในและนอกสถานศึกษา ด้วยการแต่งนิทาน เล่าเรื่องคนใกล้ตัว รวมถึงการเล่นเกมเพื่อกระตุ้นให้เกิดจิตสาธารณะ และตระหนักรู้ในเรื่องความพอเพียง เพื่อให้สามารถนำกลับไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตของตัวเอง
“อ๋อ” หรือ “ธนพล กัณหสิงห์” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ตัวแทนกลุ่ม Moyo Club บอกเล่าแนวความคิดตรงนี้ว่า แต่เดิมคนส่วนมากมักเข้าใจกันว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร หรือการทำสวน แต่ด้วยบริบทของความเป็นโรงเรียนในสังคมเมือง พวกเขาจึงต้องบูรณาการกิจกรรมและถ่ายทอดความคิดออกมาในรูปแบบของ play & learn วิธีสนุกสนานแต่ได้ความรู้ไปด้วยพร้อมกัน
“บางครั้งเรายกตัวอย่างเรื่องของคนใกล้ตัวว่าสิ่งที่เขาทำลงไป มันให้แง่คิดอะไรได้บ้าง เช่น เพื่อนคนหนึ่งมีสอบวันรุ่งขึ้น ฉะนั้นเขาควรจะอ่านหนังสือเรียน แต่เขากลับใช้เวลาตอนกลางวันในการเล่นเกม แล้วไปเริ่มอ่านหนังสือตอนตีหนึ่ง อ่านจบตีห้า จึงทำให้เขาอาเจียนจนไปสอบไม่ได้...
หลังจากนั้นเราก็เอาเรื่องนี้มาสอนว่า เพื่อนคนนี้ไม่มีภูมิคุ้มกันอะไร เขาไม่ได้มีความระมัดระวังว่าจะต้องใช้หลักพอเพียงอย่างไร แล้วควรจะแบ่งเวลาในการเรียนและเล่นอย่างไรถึงจะเหมาะสม ก็จะเป็นการสอนจากเหตุการณ์ที่เกิดไปแล้ว ซึ่งเราสามารถยกตัวอย่างแล้วเอามาประยุกต์ใช้ได้เลยทันที”
น้องอ๋อแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเองว่า หลักคิดพอเพียงสอนเขาให้รู้จักแบ่งเวลาในชีวิตเป็นมากขึ้น และรู้ว่าควรทำอะไรก่อนหรือหลัง อย่างการออกมาทำกิจกรรมในวันนี้ หากเป็นเมื่อก่อนอาจารย์จะเป็นคนบอกว่าต้องทำอะไรบ้างงานถึงจะออกมาดี แต่ด้วยประสบการณ์ที่เรียนรู้มาจากหลักความพอเพียง ประกอบกับทำกิจกรรมมามาก ทำให้เขาในวันนี้มีวิธีคิดที่จะวางแผนการทำงานของตัวเองได้ดีขึ้น
เขามีมุมมองถึงความพอเพียงว่า การนำความพอเพียงมาประยุกต์ใช้นั้นแฝงอยู่ในชีวิตตั้งแต่ตื่นนอนอยู่แล้ว แต่คนทั่วไปอาจจะยังไม่เข้าใจขอบเขตของเศรษฐกิจพอเพียง จึงไม่รู้ว่าบางพฤติกรรมหรือความคุ้นเคยที่ปฏิบัติกันอยู่นั้น จริงๆ แล้วเราใช้หลักของเศรษฐกิจพอเพียงโดยแท้
อีกมุมหนึ่งคือ “เกมเศรษฐกิจพอเพียง” ที่งานนี้ได้ “อยู่ยง เชาว์ปรีชา” หรือ “เทค” ศิษย์เก่า ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.เพชรบุรี (ปัจจุบันเรียนม.เกษตรฯ) หนึ่งในสมาชิกทีม “เดอะ มิราเคิล เวย์” ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันออกแบบเกมเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อปี 2551 มาร่วมแนะนำหลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านการเล่นเกม Give and Take
“เกมนี้เป็นเกมที่แตกต่างจากเกมอื่นๆ ตรงที่เราไม่เน้นเรื่องการแข่งขัน แต่กลับไปเน้นปลูกฝังเรื่องการแบ่งปันและความอาทรให้กับผู้เล่น เสมอเหมือนเป็นสังคมจำลองหนึ่ง”
น้องเทค กล่าวถึงผลที่ตัวเขาได้รับจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงว่า ทำให้เขาเรียนได้ดีขึ้น จากที่เป็นเด็กขี้เกียจ และไม่ชอบเรียนวิชาอื่นเลยนอกจากคณิตศาสตร์ ระยะหลังเขาสามารถปรับปรุงตัวและวางแผนการเรียนให้ตัวเองจนสอบเข้าเรียนในคณะและมหาวิทยาลัยที่ตัวเองคาดหวังได้
ด้าน “ตูน” หรือ “อธิวัฒน์ พงษ์พานิช” เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ในโครงการแข่งขันเกมเศรษฐกิจพอเพียงก็มาร่วมงานนี้ด้วยเช่นกัน
“การ์ดเกมของผมเป็นแบบเล่นไป ต้องอธิบายไป ถึงจะทำให้ผู้เล่นเข้าใจถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียงมากยิ่งขึ้น เพราะมันเป็นเกมเกี่ยวกับการบริหารประเทศ ให้ 2 ฝ่ายที่ต่างเป็นนายกรัฐมนตรี คนละประเทศ มาแข่งกันบริหาร”
เขาให้มุมมองถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงว่า เป็นหลักคิดที่เอาไปใช้ได้กับทุกๆ เรื่อง แม้แต่หลักในการบริหารประเทศที่เขานำไปประยุกต์เป็นเกมการ์ดนั้น ก็สามารถนำไปใช้ได้เช่นเดียวกัน แต่สำหรับตัวเขาเองเห็นว่า ความพอเพียงที่มีคุณประโยชน์กับเขามากที่สุด ดูจะเป็นเรื่องการแบ่งเวลาให้เหมาะสมว่าควรทำอะไรก่อนหรือหลัง สอนให้รู้จักมีเหตุผล รู้จักตัวเอง และรู้จักพอประมาณอย่างพอดี
สำหรับผู้มาร่วมงานอย่าง ‘อัญชลี แซ่วุ่น’ คุณแม่ของน้องซินดี้ วัย 4 ขวบ 8 เดือน ที่กำลังสนุกสนานกับการเรียนรู้ในการทำอักษรเบรลล์ที่บูธเล่าว่า เห็นบูธนี้น่าสนใจตั้งแต่คืนวันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา แต่วันนั้นดึกไปที่จะเข้ามาดูว่ามีอะไรบ้าง จึงพาลูกสาวกลับบ้านไปก่อนจะกลับมาใหม่ในช่วงเช้าของวันที่ 11 ตุลาคม
“จริงๆ เช้านี้จะพาน้องซินดี้มาดูหนัง แต่มาเร็วก็เลยยังพอมีเวลาเดินเล่น เลยตั้งใจพาน้องมาที่บูธนี้ก่อน ซึ่งเขาก็ดูสนใจการทำอักษรเบรลล์มาก ส่วนตัวแล้วไม่ได้ตั้งใจว่าจะเลือกกิจกรรมไหนให้ลูกทำเป็นพิเศษ แต่ดูจะประโยชน์ที่ลูกของเราได้รับมากกว่า ซึ่งการทำอักษรเบรลล์นี้ ไม่ได้หาโอกาสเข้าไปเจอกับมันได้บ่อยๆ”
นอกจากจะเป็นการเรียนรู้อักษรที่ไม่ได้มีอยู่ตามห้องเรียนทั่วไปแล้ว ผู้เป็นแม่ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมที่เห็นลูกทำ ก็พอจะเข้าใจว่า กิจกรรมการทำสื่ออักษรเบรลล์นี้เป็นการฝึกให้รู้คุณค่าของสิ่งที่ดูจะไร้ประโยชน์ไปแล้ว ให้กลับมามีคุณค่าและมีประโยชน์กับคนอื่นได้อีก