กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ปัจจุบัน ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในประเทศไทยถูกคุกคามและถูกทำลาย จากการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมา ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญ ๆ เช่น ปะการังเทียม แหล่งหญ้าทะเล ป่าชายเลน เป็นต้น สิ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือสัตว์น้ำและสัตว์ทะเลหายากที่นับวันจำนวนประชากรก็เริ่มลดลงอย่างน่าใจหาย
ผลพวงของการทำประมงที่ไม่บันยะบันยัง เกินศักยภาพการผลิตของธรรมชาติและการทำประมงอย่างผิดวิธีก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำที่ถูกทำลายอย่างมาก จนขาดสมดุลในระบบห่วงโซ่อาหาร อีกทั้งการทำประมงที่ผิดกฎหมาย เช่น การระเบิดปลา การทำประมงอวนลากในบริเวณแนวปะการัง การเบื่อปลาในแนวปะการังด้วยสารไซยาไนด์ซึ่งส่งผลให้ปะการังเกิดการฟอกขาว ยังไม่รวมถึงมลภาวะที่เกิดจากน้ำเสียหรือการเกิดตะกอนทับถมปะการังจนตาย ส่งผลให้จำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำลดลงจากเดิม และทำให้เรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กประสบปัญหาจนไม่มีความมั่นคงในอาชีพนี้อีกต่อไป ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นปัญหาใหญ่ต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
การจัดสร้างแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล หรือปะการังเทียม จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นอันดับแรก ดุจเป็นทรัพยากรที่ช่วยให้ระบบนิเวศฟื้นฟูเร็วที่สุดและช่วยเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ เป็นที่ยอมรับกันว่าการสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลหรือปะการังเทียมในบริเวณชายฝั่งนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำขนาดเล็กมิให้ถูกนำไปใช้ก่อนถึงเวลาที่เหมาะสมและสามารถดึงดูดสัตว์น้ำนาๆ ชนิดให้เข้ามาอยู่อาศัย หาอาหาร สืบพันธุ์ รวมไปถึงพัฒนาเป็นแหล่งประมงสำหรับการทำประมงขนาดเล็กและเชิงพาณิชย์ได้
ภาพการปะการังเทียมบ้านหลังใหม่ของฝูงปลา
จึงเกิดเป็นโครงการ “ร่วมสร้างบ้านปลา ด้วยปะการังเทียม” ขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและคืนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในทะเล ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือที่เด่นชัดระหว่าง 4 หน่วยงานได้แก่ กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง กองทัพเรือ กรมประมง และกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี โดยทั้ง 4 หน่วยงานจะร่วมกันพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมในจังหวัดที่ชาวประมงได้รับความเดือดร้อน จากปริมาณสัตว์น้ำที่น้อยลงโดยเร่งสร้างปะการังเทียม เพื่อเป็นแหล่งอาศัยใหม่ของสัตว์น้ำ อีกทั้งยังจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่สวยงาม เพื่อการศึกษาธรรมชาติอีกด้วย ถือเป็นการปลุกธรรมชาติให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง
ภาพการปล่อยแท่งปะการังเทียม
หากจะกล่าวถึงความสำคัญของปะการังเทียมนั้น เนื่องจากปะการังเทียมทำหน้าที่คล้ายๆ กับแนวหินหรือแนวปะการังที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยสร้างขึ้นในรูปแบบต่างๆ อย่างมีแบบแผน เพื่อดัดแปลงหรือเพื่อปรับปรุง เสริมแต่งสภาพพื้นที่ท้องทะเลให้เหมาะสมกับรูปแบบที่สัตว์น้ำชอบอยู่อาศัย โดยเลียนแบบบริเวณที่มีกองหินใต้น้ำ ซากเรืออับปางซึ่งมีสัตว์น้ำชุกชุม เป็นสิ่งดึงดูดให้ปลาน้อยใหญ่ได้เข้ามาอาศัยเป็นที่หลบภัย อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์สำหรับพวกปลาที่เข้ามาอยู่อาศัย ด้วยมูลเหตุที่ว่ามีสิ่งมีชีวิตพวกสาหร่ายสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและสัตว์หน้าดินมักจะมาจับจองพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัย ทำให้แหล่งที่มีปะการังเทียมเปรียบเสมือนโอเอซีสที่แสนอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังช่วยให้ตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตในทะเลดำรงสืบพันธุ์อยู่ต่อไปได้ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปช่วงหนึ่งตัวอ่อนของปะการัง หอย ฟองน้ำ จะหาที่เหมาะสมเพื่อเกาะลงพื้น จึงทำให้มีการแพร่ขยายพันธุ์เร็วและเป็นวงกว้าง
ประโยชน์ของปะการังเทียมคือเป็นการสร้างที่อยู่อาศัยแก่สัตว์น้ำและช่วยรักษาแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำวัยอ่อนไม่ให้ถูกทำลายโดยเครื่องมืออวนลากและอวนรุนที่เข้ามาทำการประมงบริเวณชายฝั่ง ขณะเดียวกันการจัดสร้างปะการังเทียมในบริเวณกว้างยังช่วยอนุรักษ์สัตว์น้ำขนาดเล็กทั้งผิวน้ำและปลา หน้าดิน ไม่ให้ถูกจับด้วยอวนลาก ทำให้ชาวประมงมีแหล่งประมงเพิ่มขึ้น สามารถหมุนเวียนออกไปจับสัตว์น้ำสลับกับแหล่งประมงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ต้องออกไปไกลฝั่ง ชาวประมงจึงจับปลาได้สะดวกและจับสัตว์น้ำในปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามมา อีกทั้งยังช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ที่สำคัญช่วยให้ชาวประมงไม่ต้องเข้าไปขายแรงงานตามหัวเมืองใหญ่และกรุงเทพ เป็นการลดช่องว่างระหว่างชุมชนเมืองและชุมชนท้องถิ่น
ภาพการวางแท่งปะการังเทียม
นอกจากนี้แล้วปะการังเทียมยังมีประโยชน์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและช่วยลดการท่วมขัง เนื่องจากจะช่วยทำให้ขนาดคลื่นลดลง และช่วยเปลี่ยนทิศทางของคลื่น สามารถป้องกันแนวชายฝั่งบางส่วนไว้ได้ ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับชายฝั่งและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงได้ รวมถึงเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาทรัพยากรทางทะเล และช่วยสร้างสมดุลในธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
นัยสำคัญของการฟื้นฟูระบบนิเวศที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่เราเข้าไปมีส่วนร่วมกับธรรมชาติให้น้อยที่สุด ทว่าโลกกลมๆ ใบนี้คือสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนที่สุด กล่าวคือแม้เมื่อใดที่มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นด้วยเช่นกัน หากระบบนิเวศกลับคืนมาสู่ความอุดมสมบูรณ์ดังเดิมแล้ว ธรรมชาติและท้องทะเลที่สวยงามก็จะอยู่คู่กับโลกใบนี้ต่อไป
ภาพปะการังและสัตว์น้ำขนาดเล็กลงเกาะที่ปะการังเทียม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
120 หมู่ 3 ชั้น 5 อาคารรวมหน่วยราชการ (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
โทรศัพท์ 0-2141-1299 โทรสาร 0-2143-9249