กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--ก.ไอซีที
ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 9 หรือ The 9th ASEAN Telecommunications and IT Ministers’ Meeting: (9th TELMIN) ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่า การประชุมฯ ครั้งนี้เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 4 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย โดยการประชุมดังกล่าวได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อการรวมตัวของประชาคมอาเซียนในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะต่อความก้าวหน้าของขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อรองรับการรวมตัวกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 โดยเน้นการบูรณาการระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของอาเซียนให้สามารถเชื่อมโยงติดต่อกันได้ทั้งภูมิภาค และสามารถให้บริการ e-Service แก่ประชากรอาเซียนประมาณ 500 ล้านคนได้อย่างทั่วถึง
“ในการประชุม ASEAN TELMIN ครั้งที่ 9 นี้ รัฐมนตรี ICT อาเซียนต่างเห็นพ้องกันว่า การสร้างความเชื่อมโยงบรอดแบนด์มีความสำคัญต่อความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการรวมตัวและการพัฒนาของภูมิภาคด้วย รัฐมนตรี ICT อาเซียนจึงได้รับรอง “ปฏิญญาเวียงจันทน์” (Vientiane Declaration) ว่าด้วยการสนับสนุนการพัฒนาบรอดแบนด์ทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเรื่องการเชื่อมโยงของระบบบรอดแบนด์ความเร็วสูงระหว่างโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศในอาเซียน และส่งเสริมการริเริ่มใช้บรอดแบนด์ โดยสร้างทางเลือกด้านราคาให้มีความเหมาะสม รวมถึงสร้าง Content ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ และแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ภายในภูมิภาค เป็นต้น“ ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ กล่าว
นอกจากนี้รัฐมนตรี ICT อาเซียนยังเห็นพ้องว่า อาเซียนมีความจำเป็นต้องจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ของอาเซียน 2015 เพื่อเป็นเอกสารด้านยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีของอาเซียน รวมทั้งเพื่อเน้นย้ำบทบาทของไอซีทีในการบูรณาการอาเซียน โดยแผนแม่บทไอซีทีอาเซียน 2015 นั้นได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้คือ “มุ่งสู่การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเสริมสร้างและความเปลี่ยนแปลง : การรวมตัวประชาคมอาเซียนอย่างมีส่วนร่วม” โดยคาดว่าแผนแม่บทฯ นี้จะแล้วเสร็จก่อนการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนครั้งต่อไป
“ประเด็นสำคัญจากการประชุมฯ อีกประการ คือ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ โดยรัฐมนตรี ICT อาเซียนได้ขอให้เจ้าหน้าที่อาวุโสดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือของ ASEAN International Telecommunications Network Connectivity Disaster Preparedness and Recovery อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติ รวมทั้งขอให้เร่งรัดผลการศึกษาคลื่นความถี่ร่วมเพื่อการสื่อสารสำหรับการปฏิบัติการบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติ และพัฒนาระบบการเตือนภัยล่วงหน้าด้วย” ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ กล่าว
ส่วนการพัฒนาความร่วมมือด้านไอซีทีของอาเซียนในระหว่างปี 2551-2552 นั้น มีทั้งการดำเนินโครงการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความมั่นคงด้านข้อมูล พื้นฐานเทคโนโลยีพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการเชื่อมโยงเครือข่ายภูมิภาคอย่างมีความคงทนและหลากหลาย ซึ่งรัฐมนตรี ICT อาเซียนต่างหวังว่า ความริเริ่มเหล่านี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกรรมในภูมิภาคอาเซียนและพัฒนาให้อาเซียนเป็นอีกภูมิภาคที่มีความน่าสนใจสำหรับการลงทุน ทั้งนี้ รัฐมนตรี ICT อาเซียนได้เห็นชอบความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ ซึ่งเน้นถึงการบูรณาการอาเซียนอย่างยั่งยืน ได้แก่ Green ICT, Cyber Education for Children, Mobile Data Roaming, มาตรฐานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดสรรคลื่นความถี่ และ ASEAN Internet Exchange เป็นต้น
สำหรับการขยายความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา รัฐมนตรี ICT อาเซียนได้ร่วมหารือกับนาย Yang Xueshan รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน นาย Kazuhiro Haraguchi รัฐมนตรีกิจการภายในและการสื่อสาร ประเทศญี่ปุ่น นาย Taegun Hyung ผู้ว่าการการสื่อสาร สาธารณรัฐเกาหลี และนาย Chandra Prakash รัฐมนตรีช่วยว่าการกำกับดูแลด้าน Telecommunications กระทรวงการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเทศอินเดีย โดยมีการหารือเกี่ยวกับแผนงานความร่วมมือด้านไอซีทีระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ในช่วงปี 2009 - 2010 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านความมั่นคงทางเครือข่ายและด้านสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งรัฐมนตรี ICT อาเซียนได้รับรองกรอบความร่วมมือ จีนกับสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงบนเครือข่าย เพื่อเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงบนเครือข่ายระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศและจีน และรัฐมนตรีอาเซียนยังได้รับข้อเสนอของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมนโยบายความมั่นคงทางสารสนเทศอาเซียน-ญี่ปุ่น 2010 (ASEAN-Japan Information Security Policy Meeting) ครั้งที่ 2 ในปี 2553 ตลอดจนรับความร่วมมือและโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่องจากเกาหลีใต้ ภายใต้ “ความร่วมมือด้าน ไอซีที เพื่อความมั่งคั่งในเอเชียตะวันออก (2007-2011)” ด้วย
ส่วนการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 10 (10th TELMIN) และการประชุมกับประเทศคู่เจรจาอาเซียนจะมีขึ้น ที่ประเทศมาเลเซีย ประมาณเดือนกันยายน หรือพฤศจิกายน 2553
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 141 6747 ทวิติยา