กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--มหาวิทยาลัยศรีปทุม
“ศรีปทุมโพล” โดยสำนักวิจัย มหาวิทยาลัยศรีปทุม เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเขตกรุงเทพฯ หัวข้อ “การสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับการจัดการประชุม Asean Summit ครั้งที่ 15” จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 3,000 คน เนื่องด้วยประเทศไทยได้รับเกียรติสูงสุดให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมอาเซียนซัมมิท (Asean Summit) ครั้งที่ 15 ซึ่งเป็นงานใหญ่ของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน ซึ่ง ดร.ปิยากร หวังมหาพร ผู้อำนวยการสำนักวิจัย มหาวิทยาลัยศรีปทุมได้สรุปผลการสำรวจได้ดังนี้
เมื่อถามถึงสถานที่จัดการประชุม Asean Summit ครั้งที่ 15 ประชาชนส่วนใหญ่ตอบว่า หัวหิน ร้อยละ 40.40 รองลงมา คือ ภูเก็ต ร้อยละ 26.33, กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 15.23, พัทยา ร้อยละ 14.97 และไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 3.07
และเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของรัฐบาลไทยว่าสามารถจัดประชุมได้สำเร็จหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า สำเร็จ ร้อยละ 50.50 รองลงมา คือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 34.67, ไม่สำเร็จ ร้อยละ 14.33 และไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 0.50
ส่วนความคิดเห็นถึงผลประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับจากการประชุม Asean Summit ประชาชนส่วนใหญ่ เห็นว่า เป็นด้านเศรษฐกิจการค้า ร้อยละ 64.40 รองลงมา คือ ความร่วมมือทางด้านการเมือง ร้อยละ 20.70, ความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม ร้อยละ 9.40 และความร่วมมือทางด้านการทหาร ร้อยละ 4.80 และไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 0.70
เมื่อถามถึงบทบาทปัจจุบันของประเทศไทยในเวทีอาเซียนเป็นอย่างไร ประชาชนส่วนใหญ่ ตอบว่า ไม่แน่ใจในบทบาท ร้อยละ 29.07 รองลงมา คือ เห็นว่าประเทศไทยเป็นผู้นำ ร้อยละ 28.73, เห็นว่าประเทศไทยเป็นผู้ตาม ร้อยละ 24.10, เห็นว่าประเทศไทยเป็นแค่ผู้จัดประชุม ร้อยละ 17.03 และไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 1.07
และเมื่อถามถึงผู้นำของประเทศอาเซียนที่ชื่นชมมากที่สุด ประชาชนส่วนใหญ่ เห็นว่า คือนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 49.57 รองลงมา คือ ลี เซียนลุง (นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์) ร้อยละ 14.13, สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ (สุลต่านและนายกรัฐมนตรีบรูไน) ร้อยละ 7.70, ไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 6.60, กลอเรีย มาคาปาคาล อาโรโย (ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์) ร้อยละ 5.50, นาจิบ ราซัค (นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย) ร้อยละ 4.73, เหวียน มินห์ เจียต (ประธานาธิบดีเวียดนาม) ร้อยละ 3.63, สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน (นายกรัฐมนตรี) ร้อยละ 3.30, ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน (ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย) ร้อยละ 2.93 และพลเอกเทียน เส่ง(นายกรัฐมนตรีพม่า) ร้อยละ 1.90
ด้านผศ.กิตติภูมิ มีประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ให้ความคิดเห็นผลจากการสำรวจเรื่อง “การสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับการจัดประชุม Asean Summit” ในประเด็นที่น่าสนใจว่า ภาพรวมโดยทั่วไปประชาชนส่วนใหญ่รับทราบและให้ความสำคัญกับการจัดประชุมอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 15 ว่าจะมีการจัดประชุมขึ้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี สูงถึงร้อยละ 40.40 ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้นำพรบ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไทยมาใช้ ระหว่างวันที่ 12 - 27 ตุลาคม 2552 โดยประกาศใช้ในพื้นที่ 5 ตำบล ในอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และ 4 ตำบลในอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และทะเลอาณาเขตชายฝั่ง ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และตำบลหัวหิน ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เว้นเขตพระราชฐานวังไกลกังวล โดยมอบให้กอ.รมน.รับผิดชอบในการดำเนินการตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551
ประชาชนส่วนใหญ่มั่นใจว่า ประเทศไทยจะจัดการประชุมได้สำเร็จ ถึงร้อยละ 50.50 ซึ่งถือเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งในฐานะประธานอาเซียน ที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมถึง 2 ครั้งติดต่อกัน ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าการนำพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไทยมาใช้จะเป็นมาตรการทางกฎหมายที่ช่วยให้รัฐบาลสามารถจัดการประชุมได้สำเร็จ แม้ที่ผ่านมาจะเกิดปัญหาระหว่างการประชุมไปบ้างแต่ก็เป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้แสดงภาวะความเป็นผู้นำในอาเซียนอีกครั้ง
ที่ผ่านมาประเทศไทยในฐานะของประธานอาเซียนนั้นปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่แน่ใจในบทบาทที่ไทยเราได้แสดงออกให้ปรากฏในเวทีระหว่างประเทศว่าไทยเป็นผู้นำ ผู้ตาม หรือเพียงแค่ผู้ดำเนินการจัดประชุมเท่านั้น ซึ่งการจัดประชุมครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ฝีมือในการเป็นผู้นำของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งประชาชนได้เห็นบทบาทในการเข้าร่วมประชุมในเวทีระดับโลกหลายต่อหลายครั้งว่าในบ้านของตนเองแท้ๆ ไทยจะมีศักยภาพดำเนินการจัดประชุมได้สำเร็จหรือไม่ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายและจับตามองต่อบทบาทและภาวะผู้นำของคนรุ่นใหม่ของนายกรัฐมนตรีที่ชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อีกครั้งหนึ่งหลังจากเหคุการณ์ที่พัทยายังคงเป็นฝันร้ายของคนไทยมาจนปัจจุบัน
สำหรับผู้นำประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศที่ประชาชนไทยชื่นชมมากที่สุดคงหนีไม่พ้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้รับความนิยมสูงถึงร้อยละ 49.57 รองลงมาคือ นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์
อย่างไรก็ตามประชาชนส่วนใหญ่ยังให้ความหวังว่าในระหว่างการประชุมซึ่งจะมีการหารือระหว่างผู้นำอาเซียน และการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้นำประเทศคู่เจรจา เกี่ยวกับการสร้างประชาคมอาเซียน ให้บรรลุตามเป้าหมายภายในปี 2558 ในการนี้ ประเทศไทยจะได้รับความร่วมมือและประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจการค้าสูงถึงร้อยละ 64.40 รองลงมาคือ อยากให้อาเซียนเกิดความร่วมมือทางการเมืองเป็นประชาคมที่เน้นการปฏิบัติ มีการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงต่าง ๆ รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์และปัญหาที่ท้าทายต่าง ๆ ทั้งจากภายในและภายนอกภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ถึงร้อยละ 20.70
บทสรุป หากรัฐบาลและประชาชนไทยสามารถร่วมกันทำให้การจัดประชุมอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 15 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ก็จะสามารถทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศกลับคืนมาสู่สายตาของชาวโลกอีกครั้ง อันจะส่งผลให้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นด้วย ประชาชนคนไทยไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายขึ้น เพราะจะส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ของประเทศ และอยากให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม
ภารกิจของคนไทยทั้งชาติครั้งนี้ฝากไว้กับพวกเราคนไทยทั้ง 64 ล้านคนว่าจะทำให้อนาคตของคน 550 ล้านคน ที่จะรวมกันเป็นประชาคมอาเซียนใสสว่างหรือมืดมนอย่างไรในอนาคต