กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ “Calcification by Marine Organisms : CalMarO” หรือโครงการศึกษาการสะสมหินปูนของสิ่งมีชีวิตในทะเล เพื่อพัฒนาเป็นฐานความรู้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาระบบนิเวศทางทะเล
นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน (สวพ.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวถึงที่มาของโครงการ“Calcification by Marine Organisms : CalMarO” หรือโครงการศึกษาการสะสมหินปูนของสิ่งมีชีวิตในทะเล ว่า จากการปรากฏการณ์สภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก ทำให้ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์บนโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากจะสะสมอยู่ในอากาศแล้ว ยังได้ละลายลงไปในน้ำ ทำให้ค่าความเป็นกรดด่างของน้ำทะเลเปลี่ยนไป เมื่อน้ำทะเลมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น ได้ส่งผลให้การสะสมของหินปูนในสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลช้าลง การละลายหินปูนมีมากขึ้น สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลโดยเฉพาะสัตว์ที่สร้างหินปูนขึ้นมาในการดำรงชีวิตจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากการสร้างหินปูนเกิดได้ดีในภาวะน้ำทะเลปกติที่มีค่าความเป็นด่างเล็กน้อย ผลจากการเปลี่ยนแปลงการสะสมหินปูนนี้ จะทำให้สัตว์ใต้น้ำจำพวกหอย ปะการัง ดาวทะเล เม่นทะเล ตัวอ่อนของสัตว์ทะเลหลายชนิดเติบโตได้ช้า สัตว์ที่ลอกคราบเพื่อเจริญเติบโตก็จะใช้เวลาในการลอกคราบนานขึ้น นอกจากนี้แพลงก์ตอนและสัตว์เล็ก ๆ ซึ่งเป็นอาหารสำคัญของสัตว์ใต้ทะเลมีจำนวนลดน้อยลง ส่งผลให้ระบบนิเวศทางทะเลเสียสมดุล เพราะห่วงโซ่อาหารถูกทำลายลง นับเป็นปัญหาสำคัญที่จะส่งผลไปในวงกว้างและรุนแรงมากขึ้นหากยังไม่มีการแก้ไข ซึ่งกระทบมาถึงการดำรงชีวิตมนุษย์ในอนาคตด้วย
ด้วยตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการสะสมหินปูนของสิ่งมีชีวิตในทะเลที่จะทำให้ระบบนิเวศตามธรรมชาติของโลกเปลี่ยนแปลงไป จึงเกิดโครงการ “Calcification by Marine Organisms : CalMarO” หรือโครงการศึกษาการสะสมหินปูนของสิ่งมีชีวิตในทะเล ขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์กร หน่วยงานจาก 8 ประเทศ ได้แก่ เยอรมันนี นอร์เวย์ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ออสเตรีย อิสราเอล และไทย รวมทั้งสิ้น 13 สถาบันวิจัย และ 4 บริษัท ประกอบไปด้วยคณะกรรมการ 2 ส่วน คือ คณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการที่ปรึกษา โดยทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission : EU) โดยระยะแรกจะเลือกหานักวิจัย 12 คน มาฝึกอบรมและร่วมศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการสะสมหินปูนสิ่งมีชีวิตในทะเลโดยเฉพาะ โดยมีองค์กร สถาบันเครือข่ายร่วมสนับสนุนการดำเนินการ
ผอ.สวพ. ยังกล่าวต่อว่า ในส่วนของกรมฯ ดร.สมเกียรติ ขอเกียรติวงศ์ นักวิชาการประมง ระดับชำนาญการพิเศษ สวพ. ได้เป็นตัวแทนคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการของโครงการ ทั้งดูแลการดำเนินการกิจกรรมโครงการเฉพาะในส่วนที่กรมฯ รับผิดชอบ ซึ่งได้ร่วมศึกษากับสถาบันในโครงการ CalMarO อีก 2 แห่ง ได้แก่ NIOO-KNAW ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ AWI ประเทศเยอรมันนี เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงค่า pH ในตัวอ่อนปะการังและการเจริญเติบโตของโคโลนี นอกจากนี้กรมฯ ยังได้ร่วมมือกับสถาบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศ เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัย พร้อมทั้งขยายผลการศึกษาให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จากการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศครั้งนี้ จะเอื้อต่อการศึกษา ค้นคว้าวิจัย และเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อันจะนำไปพัฒนาเป็นฐานความรู้ในการป้องกัน แก้ไขปัญหาระบบนิเวศทางทะเลต่อไป
“การร่วมมือครั้งนี้ช่วยขยายเครือข่ายความร่วมมือทางด้านสมุทรศาสตร์ในวงกว้าง รวมทั้งยังช่วยให้หลายฝ่ายตื่นตัว หันมาตระหนักและเห็นความสำคัญของทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเล ที่ถูกคุกคามอยู่ในปัจจุบัน หากไม่เห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังในวันนี้ วันข้างหน้าสัตว์น้ำในท้องทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารแหล่งใหญ่ของมนุษย์อาจไม่มีเหลือ ปะการังอันงดงามก็จะหายไปเหลือเพียงความทรงจำ” นายวรรณเกียรติ กล่าวในที่สุด
กลุ่มสื่อสารองค์กร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 120 หมู่ 3 ชั้น 5 อาคารรวมหน่วยราชการ (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0-2141-1299 โทรสาร 0-2143-9249