กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--ศปถ.
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวบรวมข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเดือนมกราคม — สิงหาคม ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ - ๒๕๕๒ เพื่อนำไปวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระยะยาวของประเทศ โดยเน้นการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทย ควบคู่กับการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนน เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้ดำเนินการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลสถิติอุบัติเหตุจราจรทางบก ในช่วงเดือนมกราคม — สิงหาคม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ - ๒๕๕๒ เพื่อนำไปวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระยะยาวของประเทศ ซึ่งจากสถิติดังกล่าว พบว่า จำนวนคดีอุบัติเหตุจราจรทางบกช่วงเดือนมกราคม —สิงหาคม ปี ๒๕๕๐ เกิดขึ้น ๖๘,๐๘๕ ครั้ง ปี ๒๕๕๑ เกิดขึ้น ๕๘,๐๙๒ ครั้ง และในปี ๒๕๕๒ เกิดขึ้น ๕๘,๘๓๘ ครั้ง สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนช่วง ๘ เดือน ปี ๒๕๕๐ จำนวน ๘,๓๓๓ คน ปี ๒๕๕๑ จำนวน ๗,๓๗๓ คน และปี ๒๕๕๒ จำนวน ๗,๕๖๒ คน ส่วนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนช่วง ๘ เดือน ปี ๒๕๕๐ จำนวน ๕๒,๙๐๕ ราย
ปี ๒๕๕๑ จำนวน ๔๖,๘๐๖ ราย และในปี ๒๕๕๒ จำนวน ๔๔,๑๙๒ ราย และเมื่อนำสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเดือนมกราคม — สิงหาคม ของปี ๒๕๕๑ — ๒๕๕๒ นำมาเปรียบเทียบ พบว่า ในปี ๒๕๕๒ มีจำนวนคดีอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๑ จำนวน ๗๔๖ คดี หรือร้อยละ ๑.๒๘ ผู้เสียชีวิต เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๑ จำนวน ๑๘๙ คน หรือร้อยละ ๒.๕๖ โดยช่วงเดือนที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด ได้แก่ เดือนมกราคม ๑,๑๒๑ ราย รองลงมา ได้แก่ เดือนมีนาคม จำนวน ๑,๐๙๕ ราย และเดือนเมษายน จำนวน ๑,๐๙๑ ราย สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด จำนวน ๙,๗๖๔ ราย รองลงมา ได้แก่ ขับรถโดยประมาท (ตัดหน้ากระชั้นชิด) จำนวน ๙,๐๔๖ ราย ขับรถชนท้าย จำนวน ๕,๐๐๖ ราย แซงรถผิดกฎหมาย จำนวน ๓,๒๔๒ ราย ในขณะที่เมาแล้วขับ และหลับใน ยังเป็นพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุทางถนน รวมจำนวน ๙๕,๕๙๑ คัน
โดยรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด จำนวน ๓๖,๗๓๐ คัน รองลงมา ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล จำนวน ๒๖,๙๒๗ คัน ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการวางแผน กำหนด และปรับปรุงยุทธศาสตร์
การดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมาย และมีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับประเทศ ทั้งในช่วงเทศกาลสำคัญและระยะยาวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจะได้ประสานให้จังหวัดนำข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของแต่ละจังหวัด โดยจะมุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ได้แก่ เร็ว เมา ง่วง โทร ควบคู่กับการให้ความรู้เกี่ยวกับวินัยจราจร การใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เริ่มจากระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน และร่วมเป็นเจ้าภาพในการสร้างความปลอดภัยทางถนนของประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น