มหัศจรรย์พันธุ์ไม้แห่งความรัก มหัศจรรย์ ราชพฤกษ์ 2549

ข่าวทั่วไป Tuesday February 14, 2006 11:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--รี้ด เทรดเด็กซ์
อีกเพียงแค่ 38 สัปดาห์เท่านั้น ที่งานมหกรรมระดับโลกอย่าง งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 กำลังจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะการแสดงพันธุ์พืชไม้เขตร้อนกว่า 2,200 ชนิด กว่า 2.5 ล้านต้น ในพื้นที่ประเทศไทย และในเทศกาลแห่งความรักนี้ เราจึงอยากนำเสนอเรื่องราวของดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก
“ความรัก” นับเป็นสิ่งสวยงามซึ่งแต่ละคนมีวิธีการสื่อและแสดงออกถึงความรักแตกต่างกัน แต่ที่นิยมกันอย่างแพร่หลายเห็นจะเป็นการมอบดอกกุหลาบให้แก่ผู้เป็นที่รัก ในช่วงวันหวานวาเลนไทน์ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี
“กุหลาบ” จัดเป็นดอกไม้ที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่โบราณ ว่ากันว่ากุหลาบนั้นถือกำเนิดมาเมื่อกว่า 70 ล้านปีก่อน ซึ่งมีการค้นพบฟอสซิลของกุหลาบใน รัฐโคโลราโด และ รัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา และจากผลการพิสูจน์พบว่ากุหลาบป่าเป็นพืชที่มีอายุถึง 40 ล้านปี โดยมีต้นกำเนิดในภาคกลางของทวีปเอเชีย แล้วค่อย ๆ แพร่ขยายพันธุ์ไปยังดินแดนในแถบซีกโลกเหนืออย่าง อาร์กติก อลาสก้า ไซบีเรีย หรือในแถบอากาศร้อนอย่าง อินเดีย แอฟริกา
ตามตำนานเล่าขานกันว่า กุหลาบป่าถูกนำมาปลูกไว้ในพระราชวังของจักรพรรด์จีน ในสมัยราชวงศ์ฮั่นราว 5,000 ปีมาแล้ว ขณะที่อียิปต์เองก็ปลูกกุหลาบเป็นไม้ดอกส่งไปขายให้แก่ชาวโรมันซึ่งมีความเชื่อว่าดอกกุหลาบคือ สัญลักษณ์ของความรักและความโรแมนติก บางตำนานยังกล่าวอีกว่า ดอกกุหลาบนั้นเปรียบเสมือนเครื่องหมายแทนการกำเนิดของเทพธิดาวีนัส ซึ่งเป็นเทพแห่งความงาม และความรัก
ยังมีบางตำนานที่กล่าวอีกว่า “กุหลาบ” เกิดมาจากการชุมนุมของบรรดาทวยเทพที่มารวมตัวกันเพื่อประทานชีวิตใหม่ให้กับกินรีนางหนึ่ง โดยมี เทพอโฟรไดท์ เป็นผู้ประทานความงามนอกจากนี้ยังมีเทพอีกสามองค์ที่ประทานความสดใส เสน่ห์ และความน่าอภิรมย์ พร้อมทั้งมีลมตะวันตกที่เรียกกันว่า เซไฟรัส ช่วยพัดพากลุ่มเมฆเพื่อเปิดฟ้าให้กับแสงของเทพอพอลโลหรือแสงอาทิตย์ส่องลงมาเพื่อประทานพรอมตะ หลังจากนั้นไดโอนีเซียสเทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่นก็ได้ประทานน้ำอมฤตและกลิ่นหอม เมื่อบุปผาชาติดอกใหม่นี้ถือกำเนิดขึ้น เทพทั้งหลายก็เรียกดอกไม้ซึ่งมีกลิ่นหอมและทรงเสน่ห์นี้ว่า Rosa ซึ่งเทพธิดาคลอริสได้รวบรวมหยดน้ำค้างมาประดับเป็นมงกุฎเพื่อมอบให้ดอกไม้นี้เป็น “ราชินีแห่งบุปผาชาติ” และประทานดอกกุหลาบให้กับ อีโรส เทพเจ้าแห่งความรัก ก่อนที่เทพอีโรสจะประทานกุหลาบนี้ให้แก่ ฮาร์โพเครติส เทพแห่งความเงียบเพื่อที่จะเก็บซ่อนความอ่อนแอของทวยเทพทั้งหลาย นับแต่นั้นมาดอกกุหลาบจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเงียบและความเร้นลับอีกอย่างหนึ่ง
ในประเทศไทยว่ากันว่าคำว่า “กุหลาบ” มาจากคำว่า "คุล" ในภาษาเปอร์เชีย แปลว่า "สีแดง ดอกไม้ หรือดอกกุหลาบ" การเดินทางของกุหลาบในประเทศไทยมีความเป็นมาอย่างไรไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่จากบันทึกของ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกไว้ว่าได้เห็นกุหลาบที่กรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ในละครพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 เรื่อง มัทนะพาธา ในเรื่องเล่าถึงเทพธิดาองค์หนึ่งชื่อ "มัทนา" ซึ่งนางได้มีเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ "สุเทษณะ" ซึ่งพระองค์ทรงหลงรักเทพธิดา "มัทนา" มากแต่นางไม่มีใจรักตอบ จึงถูกสาบให้ไปเกิดเป็นดอกกุหลาบ จึงกลายเป็นตำนานดอกกุหลาบในเมืองไทยตั้งแต่นั้นมา
ด้วยเพราะความสวยงามและมีกลิ่นหอมทำให้ดอกกุหลาบได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชินีแห่งดอกไม้” ตามลักษณะทางพฤกษศาสตร์กุหลาบจัดเป็นไม้ดอกประเภทพุ่ม-ผลัดใบ มีลำต้นตั้งตรงหรือเลื้อย แข็งแรงมีใบย่อย 3-5 ใบ ใบมีสีเขียวเข้ม เป็นมันและมีรอยย่นเล็กน้อย ดอกมี 2 เพศในดอกเดียวกันมีเกสรตัวผู้และตัวเมียทั้งดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน มีหลายสี แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
Single color มีสีของกลีบดอกสีเดียว เช่น พันธุ์ Christian Dior
Multi-color มีสีของกลีบดอกเปลี่ยนไปตามอายุการบานของดอก จะมีหลายสีเพราะบานออกไม่พร้อมกัน ส่วนมากจะเป็นกุหลาบพวง เช่น พันธุ์ Sambra หรือ Charleston
Bi-color มีสีของกลีบดอก 2 สี คือ กลีบด้านในสีหนึ่ง ด้านนอกอีกสีหนึ่ง เช่น พันธุ์ Forty Nine
Blend-color มีสีของกลีบดอกด้านในมากกว่า 2 สีขึ้นไป เช่น พันธุ์ Monte Carlo
Striped color กลีบดอกในแต่ละกลีบมีสีมากกว่า 2 สีขึ้นไป เป็นสีสลับเป็นเส้นตามความยาวของกลีบดอก เช่น พันธุ์ Candy Stripe
นอกจากความสวยงามแล้วสีของดอกกุหลาบยังสื่อถึงความหมายของความรักได้เป็นอย่างดี ได้แก่
สีแดง หมายถึง ความรัก ความปรารถนา ความเคารพ,
สีแดงเข้ม หมายถึง ความงามที่เจ้าตัวไม่ตระหนัก,
สีชมพู หมายถึง ความสุข ความชื่นชม มิตรภาพ ความเห็นอกเห็นใจ
สีชมพูอ่อน หมายถึง ความนิ่มนวล ความร่าเริง และความชื่นชม,
สีชมพูเข้ม หมายถึงคือ ความรู้สึกสำนึกบุญคุณ ,สีขาว ความหมายคือ ความบริสุทธิ์ ฯลฯ
ปัจจุบันมีการนำกุหลาบมาขยายและแพร่พันธุ์ออกไปอย่างกว้างขวางและหนึ่งในความงามของดอกกุหลาบเหล่านั้น ก็คือ กุหลาบควีนสิริกิติ์ ซึ่งจัดอยู่วงศ์ ROSACEAE เป็นลูกผสมระหว่างกุหลาบพันธุ์ Konigin der Rosen และ Golden Giant เกิดเป็นสายพันธุ์ " Peer Gynt " ที่มีความสวยงามระดับโลก โดยมีการนำมาออกเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.2511 และได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดกุหลาบที่กรุง Belfast ประเทศไอร์แลนด์เมื่อปี พ.ศ.2513
หลังจากนั้น นายอ็องเดร เฮนเดริคส์ ชาวเบลเยี่ยม ผู้อำนวยการเรือนกุหลาบในประเทศฝรั่งเศสได้พัฒนาสายพันธุ์ของดอกกุหลาบจนได้สายพันธุ์ใหม่ซึ่งมีโครงสร้างของลำต้นและองค์ประกอบของดอกที่สวยงามสมบูรณ์ มีลักษณะดอกใหญ่ สีเหลือง กิ่ง ก้าน และใบแข็งแรง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ สีปลายกลีบจะเปลี่ยนเป็นสีส้มเรื่อๆ นายอ็องเดร จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย "สิริกิติ์" ขานท้ายชื่อดอกกุหลาบชนิดนี้ว่า “กุหลาบควีนสิริกิติ์” เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2514 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถที่ทรงพระสิริโฉมงดงามปรากฏเป็นที่เลื่องลือแก่ชาวโลก
ในเดือนแห่งความรักนี้หรือวันแห่งความรักที่จะมาถึงนี้ หากคุณกำลังมองหาดอกกุหลาบสักดอกเพื่อสื่อรักแทนใจให้กับคนที่คุณชอบอยู่ล่ะก็ อย่าลืมบอกรักด้วยดอกกุหลาบ ควีนสิริกิติ์ แต่ถ้าต้องการบอกรักนานๆ ให้หัวใจอบอวลด้วยความรัก ขอเชิญพบกัน ณ ดินแดนมหัศจรรย์ ศูนย์รวมของกุหลาบทุกสายพันธุ์พร้อมทั้งพืชพันธุ์ไม้เขตร้อน กว่า 2,200 ชนิด มากกว่า 2 ล้านห้าแสนต้น จะมารวมตัวกันในดินแดนมหัศจรรย์แห่งนี้ ในงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ ฯ ราชพฤกษ์ 2549 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 - 31 มกราคม 2550 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวง ต.แม่เหียะ จ.เชียงใหม่
งานนี้ทุกหัวใจของคนรักต้นไม้ไม่ควรพลาด...!
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ :-
สำนักงานผู้บริหารงานปฏิบัติการ กิจกรรม และ ประชาสัมพันธ์ งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ ราชพฤกษ์ 2549
นวพร โรจน์อารยานนท์ โทร. 0-2686-7252 หรือ 05-9079490 email:nawaporn@royalfloraexpo.com
สุวรรณา จารุธนกิจพานิช โทร. 02-6867329 หรือ 01-615-2558 email:suwanna@royalfloraexpo.com
เกศินี พันธุ์ธีรานุรักษ์ โทร. 0-2686-7360 หรือ 01-9893416 email:kaesinee@royalfloraexpo.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ