กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
อดีตเด็กติดเกมเผยประสบการณ์ในเวทีเสวนา “เกมเทพ 5 ขั้น ทางออกเด็กติดเกม” ยันเกมออนไลน์ไม่ใช่ตัวปัญหา แต่ช่วยพัฒนาศักยภาพบุคคล เมื่อรู้จักใช้อย่างสร้างสรรค์ ระบุผู้ปกครองต้องดูแลใกล้ชิดพร้อมให้คำแนะนำอย่างถูกต้อง เน้นการสอนให้รู้จักรับผิดชอบและแบ่งเวลาเป็นสิ่งสำคัญ ด้านจิตแพทย์เผยพ่อแม่เป็นปราการแรกแก้ปัญหาเด็กติดเกม ชี้เล่นติดต่อนาน 3 ชม. สมองเบลอ ส่ออาการโรคซึมเศร้า ขาดสมาธิ เปิดช่องโทรฯสายด่วนปรึกษา 24 ชม.
เกมออนไลน์ยังคงเป็นปัญหาหนักใจของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานตกเป็นทาส แม้หน่วยงานภาครัฐจะพยายามออกมาให้ความรู้และดำเนินการแก้ไขอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง เพราะครอบครัว สังคม และในระดับชุมชนอ่อนแอเกินกว่าจะเข้าไปดูแลได้อย่างทั่วถึง ตัวอย่างที่มีให้เห็น คือ พ่อแม่บางรายทิ้งลูกไว้กับเกมตลอดทั้งวัน เพราะต้องออกไปทำงาน การขาดการดูแลเอาใจใส่และให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดนี่เองจึงกลายเป็นระเบิดเวลาที่สร้างขึ้นโดยไม่รู้ตัว
มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมด้วยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหาดลได้จัดเสวนา หัวข้อ “เกมเทพ 5 ขั้น ทางออกเด็กติดเกม” ในงานมหากรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 1 โดยมีเยาวชนต้นแบบอดีตเด็กติดเกมมาร่วมพูดคุยถึงปัญหาและทางแก้ไข เพื่อหาทางออกให้กับสังคมไทย เพราะเกมไม่ใช้ปัญหาหลัก แต่เกมสามารถช่วยพัฒนาศักยภาพของเยาวชนได้หากรู้จักควบคุม
นายธนากร พุฒิธนะสุนทร อดีตเด็กติดเกมที่ตอนนี้ผันตัวมาทำหนังสั้นที่ตัวเองรัก โดยบอกว่า ติดเกมออนไลน์มาตั้งแต่เด็ก หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา คณะนิเทศศาสตร์ เอกโฆษณา ภาพยนตร์ ก็ยังเล่นเกมอย่างต่อเนื่องเสียเวลาไป 1 ปีโดยไม่ได้ทำงาน วันหนึ่งๆ จะเสียเวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ 8-10 ชั่วโมง ส่วนใหญ่จะนั่งเล่นที่บ้าน ทำให้ไม่ค่อนมีปัญหากับครอบครัว กระทั่งรู้สึกไม่ดีกับตัวเองจึงพยายามให้เล่นน้อยลง
“จุดที่ทำให้เลิกสนใจเกมมาจากคำพูดให้กำลังใจของพ่อแม่ที่แนะนำเรามาตลอดให้พยายามหาจุดยืนให้กับตัวเอง ท่านพูดว่าถ้ามัวแต่เล่นเกมเราก็จะไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถในสิ่งที่รัก ลองออกไปแสดงศักยภาพของเราให้คนในสังคมเห็นว่าเราทำได้”นายธนากร กล่าว
นี่เอง...จุดประกายให้คิดใหม่ทำใหม่ ซึ่งต่อมาจึงได้ร่วมกับเพื่อน 3 คน เขียนสคลิปหนังสั้น 5 นาทีส่งเข้าประมูลที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กระทั่งสามารถชนะการประกวดราคาในปี 2551 แต่หนังเพิ่งถูกนำออกมาเผยแพร่ในปี 2552 หนังสั้นที่ผลิตขึ้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของเด็กติดเกม เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไข ชื่อเรื่อง “ลูกผู้ชายออนไลน์ หัวใจหาสั้น (Life Online)”
“วันนี้ผมถือว่าตัวเองได้ผ่านวิกฤตชีวิตในช่วงเป็นวัยรุ่นติดเกมมาแล้ว เมื่อหันกลับไปมองในอดีต หากผมไม่มีพ่อแม่คอยพูดให้กำลังใจและประคับประคอง ชีวิตคงไม่ได้มาถึงตรงนี้”นายธนากร กล่าว
ด้าน นายพลตรี กวินวัฒน์ นักกีฬา E-spot ตัวแทนจากทีม Eternal fear ที่มีโอกาสเดินทางไปแข่งขันการเล่นเกม Special force ในต่างประเทศ กล่าวด้วยว่า การเล่นเกมเป็นการพัฒนาศักยภาพอีกด้านหนึ่ง แต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองสูง รู้จักแบ่งเวลาให้เป็น การเรียนไม่เสีย เพื่อพิสูจน์ให้ผู้ปกครองเห็นว่าเราสามารถทำได้ ไม่เดือดร้อนครอบครัว จึงไม่ค่อยมีปัญหากับพ่อแม่ทั้งๆที่เป็นอีกคนหนึ่งที่ติดเกมมาตั้งแต่เด็ก เล่นตั้งแต่ยังเป็นเกมกด เกมบอย กระทั่งมาเป็นเกมออนไลน์ในยุคปัจจุบัน
นายพลตรี เปิดเผยอีกว่า ปัจจุบันเรียนจบระดับปริญญาตรี จากคณะนิเทศศาสตร์ สาขาประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ด้วยเกรดเฉลี่ย 2.98 ทำงานเป็นพนักงานบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น ช่อง 26 ซึ่งเป็นรายการเกี่ยวกับการแนะนำเกมใหม่ๆ วิธีการเล่น รวมถึงความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และไลท์สไตล์ของวัยรุ่น
“แม้การเรียนกับงานที่ทำจะไม่สอดคล้องกันแต่ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เกมออนไลน์ไม่ได้เป็นอันตรายอย่างที่หลายๆคนคิด เพียงแต่เราต้องรู้จักที่จะควบคุมไม่ปล่อยให้ตัวเองตกเป็นทาส จึงอยากฝากถึงผู้ปกครองทุกคนที่มีบุตรหลานมีพฤติกรรมติดเกมว่าต้องสอนให้น้องๆ มีความรับผิดชอบโดยเฉพาะการให้ความสำคัญเรื่องความมีระเบียบวินัยในการแบ่งเวลา”นายพลตรี กล่าว
ขณะที่แพทย์หญิงณัฎฐินี ชินะจิตพันธุ์ จิตแพทย์ ประจำ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ราชนครินทร์ กล่าวว่า ปัญหาเด็กและเยาวชนติดเกมถือเป็นปัญหาของสังคม บุคคลแรกที่จะทำให้เด็กรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีคือพ่อแม่ ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องให้ความรู้ความเข้าใจในการเลือกใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ แต่พบว่าในสังคมไทยพ่อแม่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในด้านนี้ ดังนั้นสังคมต้องช่วยกันสร้างกิจกรรมดีๆ เผยแพร่ความรู้เพื่อสร้างชุมชนให้แข็งแรง บ้าน โรงเรียนจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการหยุดปัญหา ในขณะที่ทางกระทรวงสาธารณสุขเปิดสายด่วน 1323 ให้ผู้ที่มีปัญหาบุตรหลานติดเกมโทรศัพท์เข้ามาปรึกษา
แพทย์หญิงณัฎฐินี เปิดเผยอีกว่า จากการสำรวจพบว่าเด็กไทยติดเกมร้อยละ 5 เป็นเด็กที่เล่นเกมติดต่อกันนานกว่า 3 ชั่วโมง ทำให้สมองเบลอเพราะมกมุ่นอยู่กับเกมทั้งวัยโดยไม่ทำกิจกรรมอย่างอื่น เด็กจะมีภาวะซึมเศร้า เก็บตัว ขาดสมาธิ หรือแม้กระทั่งก่อปัญหารุนแรงขึ้น แต่ก็อาจจะไม่ใช่เด็กทั้งหมดร้อยละ 5 ที่จะมีปัญหา และจากการศึกษาเด็กที่ก่อเหตุรุนแรงโดยมีสาเหตุมาจากการติดเกมพบว่า เด็กขาดโอกาส ขาดพื้นที่การแสดงออก บางครั้งครอบครัวมีปัญหา พ่อแม่มักชอบใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เป็นการผลักเด็กให้ออกจากบ้าน ร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ และร้านเกมออนไลน์จึงเป็นทางออกสุดท้ายที่ให้เขาได้ระบาย เนื่องจากปัจจุบันมีร้านเกมมากมายเปิดแข่งกันทำให้ราคาค่าชั่วโมงถูกลงด้วย ประกอบกับคอมพิวเตอร์เป็นสื่อที่มีราคาถูกลงเด็กก็เข้าถึงง่ายขึ้น ดังนั้นอาจพูดได้ว่าเกมเป็นดัชนีชี้วัดความรุนแรงของสังคมในเบื้องต้นเท่านั้น
“พ่อแม่เป็นบุคคลสำคัญต่อการสร้างระเบียบวินัยให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก ต้องรู้จักสื่อสารต่อรองกับลูก สอนให้รู้จักการแบ่งเวลา การอดทน การรอคอย ควรให้คำแนะนำและใกล้ชิด พูดจาลักษณะความเข้าใจมากกว่าจะดุด่า”แพทย์หญิงณัฎฐินี กล่าว
การแก้ปัญหาเรื่องเด็กติดเกมคงไม่ใช่เรื่องเฉพาะครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องระดับประเทศที่ต้องเริ่มตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน ที่ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลเด็กและเยาวชนด้วยความเข้าใจ เพราะวันนี้ปัญหาเด็กติดเกมไม่ได้เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาระดับชาติที่แม้จะมีกฎหมายออกมาควบคุม ป้องกัน แต่หากเครือข่ายผู้ปกครองหรือโรงเรียนไม่เข้มแข็งก็จะไม่สามารถใช้เป็นกำแพงป้องกันเด็กและเยาวชนได้