กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--เอสซีจี
เอสซีจี เคมิคอลส์ จับมือ มหาวิทยาลัยบูรพา และ 3 หน่วยราชการ จังหวัดระยอง เทศบาลเมืองมาบตาพุด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment -HIA) เป็นรายแรก เพื่อมุ่งศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะสุขภาพ และผลกระทบของเหตุอันตรายต่อสุขภาพคนในชุมชนบริเวณรอบนิคมอุตสาหกรรม อาร์ ไอ แอล จ.ระยอง มุ่งหวังเป็นแนวทางป้องกันและดูแลสุขภาพคนในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
โครงการประเมินผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน หรือ Health Impact Assessment (HIA) โครงการแรกนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน โดยมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม พิษวิทยาและการจัดการสารเคมี มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นผู้ดำเนินการประเมินผลกระทบสุขภาพของคนในชุมชนที่อาศัยอยู่รอบโครงการของบริษัทในเอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม อาร์ ไอ แอล จ.ระยอง โดยรูปแบบการศึกษาเป็นการประเมินผลกระทบสุขภาพแบบ เต็มรูปแบบ (Comprehensive HIA) ซึ่งใช้แนวทางการศึกษาของต่างประเทศ เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์ มาพัฒนาร่วมกับแนวทางการศึกษาของประเทศไทยที่ดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ ผู้นำชุมชน อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) เทศบาล ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพด้วย
ดร.พิชาญ สว่างวงศ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยบูรพา มุ่งส่งเสริมและดูแลสุขภาพของประชาชน โดยจัดให้มีการเรียนการสอนในคณะแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ และสาธารณสุขศาสตร์ ทั้งยังให้ความสำคัญกับงานวิจัยด้านสุขภาพมาโดยตลอด สำหรับโครงการประเมินผลกระทบทางสุขภาพนี้ นับเป็นโครงการแรก ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ในการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน ที่เน้นการป้องกันเชิงรุก เพื่อวางแนวทางหรือหามาตรการป้องกันไว้ก่อนที่จะเกิดปัญหา ต้องขอขอบคุณเอสซีจี เคมิคอลส์ที่สนับสนุนทุนวิจัยในการประเมินผลกระทบสุขภาพของชุมชนรอบโครงการเอสซีจี เคมิคอลส์ ในนิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล เพื่อเป็นโครงการนำร่อง และนำไปเป็นต้นแบบจัดทำมาตราฐาน HIA ต่อไป”
ชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า “เอสซีจี เคมิคอลส์ยินดีอย่างยิ่งในการเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีรายแรกของประเทศ ที่ได้มีส่วนร่วมในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนอย่างเต็มรูปแบบ โครงการนี้จะดำเนินการในเขตชุมชนรอบโรงงานของบริษัทในเอสซีจี เคมิคอลส์ ในนิคมอุตสาหกรรม อาร์ ไอ แอล ซึ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตปี 2553 ผลการดำเนินโครงการจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะคาดการณ์ความเสี่ยงต่อสุขภาพ และนำไปสู่มาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งคุ้มครองสุขภาพของคนในพื้นที่ต่อไป เราพร้อมสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถนำผลไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชนในบริเวณนิคมอุตสาหกรรม อาร์ ไอ แอล รวมทั้งขยายผลต่อยอดในชุมชนอื่นๆ เพื่อพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในทุกพื้นที่อุตสาหกรรม เรามุ่งหวังว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักดันที่ดีในการส่งเสริมการดูแลสุขภาพอนามัยของคนไทย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป”
วรวิทย์ สายสุพัฒน์ผล ปลัดจังหวัดระยอง กล่าวว่า “โครงการนี้ นับเป็นตัวอย่างที่ดีและเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ หากทุกอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองสามารถดำเนินการในรูปแบบนี้ได้ ก็จะช่วยส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นได้ การดำเนินโครงการนี้ นอกจากจะเป็นการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนแล้ว ยังมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และการเผยแพร่ข้อมูลให้ชุมชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องด้วย ถือเป็นการสนับสนุนให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ เพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน และเชื่อมั่นว่า โครงการนี้ จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันดีของทุกฝ่าย รวมทั้งการยอมรับจากประชาชน และที่สำคัญคือ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนระยอง และพัฒนาจังหวัดระยองให้เติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป”
สมพงษ์ โสภณ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองมาบตาพุด กล่าวว่า “เทศบาลและชุมชนมาบตาพุด พร้อมที่จะสนับสนุนโครงการนี้ และยินดีที่ได้มีส่วนร่วมกับภาครัฐและเอกชนในการประเมินผลกระทบสุขภาพ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้งในและนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จะต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เป็นอันดับแรก หวังว่าโครงการนี้จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้ประกอบการอื่นๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้ และขยายผลการดำเนินงานในรูปแบบเดียวกันนี้ให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่มาบตาพุดต่อไป”
วีระศักดิ์ เพิ่มแพงพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสหากรรม อาร์ ไอ แอล กล่าวว่า “โครงการประเมินผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนรอบโครงการนิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล นี้ ถือเป็นโครงการที่มีการดำเนินงานเชิงรุกตามยุทธศาสตร์การบริหารงานของการนิคมฯ เพื่อศึกษาถึงผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนที่อาจเกิดขึ้น กำหนดมาตรการป้องกันและดูแล เฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ และที่สำคัญเพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินโครงการกับบริษัทอื่นๆต่อไป“
โครงการ HIA ดำเนินการประเมินผลกระทบจาก 5 โครงการของเอสซีจี เคมิคอส์ ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม อาร์ ไอ แอล ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ได้แก่ บริษัท มาบตาพุดโอเลฟินส์ จำกัด บริษัทไทยโพลิโพรไพลีน จำกัด บริษัทไทยโพลิเอทธีลีน จำกัด บริษัทไทย เอ็มเอ็มเอ จำกัด และบริษัท แกรนด์สยามคอมโพสิต จำกัด โดยมีขอบเขตการประเมินผลกระทบรวม 31 ชุมชน ในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด และ8 หมู่บ้าน ในเขตเทศบาลตำบลมาบข่าพัฒนา มีกรอบการดำเนินการ ดังนี้
- ศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะสุขภาพของพนักงานและประชาชนในชุมชนที่อยู่อาศัยรอบโครงการฯ
- ศึกษาผลกระทบของตัวเหตุอันตรายที่มีต่อสุขภาพของพนักงานและประชาชนในชุมชนที่อยู่อาศัยรอบโครงการฯ เพื่อนำเสนอมาตรการในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของพนักงาน และประชาชน
- จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพของพนักงานและประชาชนในชุมชนที่อยู่อาศัยรอบโครงการของบริษัทในเครือเอสซีจี เคมิคอลส์ ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม อาร์ ไอ แอล
- นำเสนอผลการศึกษาแก่ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ โครงการ HIA มีผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นที่ปรึกษา มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 1 ปีครึ่ง ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2552 ถึง มกราคม 2554 ซึ่งครอบคลุมขอบเขตการพัฒนาโครงการทั้งก่อนเปิดดำเนินโครงการ และหลังจากเปิดดำเนินโครงการ