กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--วช.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำหนดจัดการสัมมนาผลการวิจัย เรื่อง “โครงการพัฒนาสื่อซอฟต์แวร์ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) ตามมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2544 ช่วงชั้นที่ 1 - 2” ในวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2548 ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีศาสตราจารย์อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เวลา 09.00 น.
จากการที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
(Knowledge — Based Education) โดยให้โอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาแก่เยาวชนไทย ซึ่งปัจจุบันการเรียนรู้ในตำราเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังมีปัญหาการเรียนรู้ที่ไม่สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การเรียนการสอนในปัจจุบันจึงมุ่งทิศทางไปยังการเรียนการสอนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-learning แต่เนื่องจากสื่อการสอนประเภทซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้ในการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
ล้วนนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาแพง มีเนื้อหาไม่ตรงกับหลักสูตรการเรียนการสอนและวัฒนธรรมไทย
ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ บริษัทชูโอ เซ็นโก (ประเทศไทย) จำกัด โดยความร่วมมือจากนักวิจัยคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัทแอ็กทีฟ พอยต์ จำกัด และบริษัทยูโทรซอฟต์ จำกัด ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง “โครงการพัฒนาสื่อซอฟต์แวร์ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) ตามมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2544 ช่วงชั้นที่ 1 - 2” โดยมี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชวนะ ภวกานันท์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการนำร่องในด้านการพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 และได้จัดการสัมมนาขึ้นในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอผลการวิจัยและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในด้านการพัฒนาด้านสื่อการเรียนรู้ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) สู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อการศึกษา รวมทั้งแนวทางในการสร้างสื่อความรู้ที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนสามารถพัฒนาและประเมินสื่อซอฟต์แวร์ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม อันได้แก่ การงานอาชีพและเทคโนโลยี, คณิตศาสตร์, ภาษาไทย, ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ), วิทยาศาสตร์, ศิลปะ, สุขศึกษาและพลศึกษา และสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับทั้งในด้านเนื้อหา รูปแบบ กิจกรรม เทคโนโลยี
และการนำไปใช้ โดยผู้เข้าร่วมการสัมมนา ประกอบด้วย นักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิ ครู อาจารย์ นักวิชาการจากหน่วยงานของภาครัฐบาลและเอกชน จำนวนประมาณ 300 คน--จบ--