กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--พม.
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดตัวภาพลักษณ์ใหม่ “ศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม” (The Sirens Society) เน้นกลไกการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้สโลเกน “ข้อมูลถูกต้อง ชัดเจน เชื่อถือได้ และให้ทางออกแก่สังคม” พร้อมเร่งเสริมศักยภาพด้านวิชาการเฝ้าระวังและเตือนภัย ควบคู่องค์ความรู้ด้านการคิด วิเคราะห์ การบริหารความเสี่ยง และการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีแก่เจ้าหน้าที่ ฝากย้ำเตือนผู้ปกครองเฝ้าระวัง ดูแลบุตร-หลาน ช่วงเทศกาลลอยกระทง หลังผลสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงสูง
วันนี้ (๒๖ ต.ค.๕๒) เวลา ๑๑.๐๐ น. ที่ รร.มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในการแถลงข่าวเปิดตัวภาพลักษณ์ใหม่ “ศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม” (The Sirens Society) ว่า การเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม เป็นเครื่องมือในการบ่งชี้สถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์และช่วยเร่งให้คนที่เกี่ยวข้องหรืออาจมีผลกระทบ ได้มีการจัดการป้องกัน และร่วมกันหาทางแก้ไข มิให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง หรือลดความถี่ หรือความรุนแรง คนในสังคมสามารถรู้เท่าทันปัญหา มีความเสี่ยงน้อยลง หรือไม่ต้องเผชิญกับปัญหา มีความปลอดภัยและมั่นคงในการดำรงชีวิตยิ่งขึ้น
นายอิสสระ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ปรับปรุงกลไกการให้บริการของศูนย์ประชาบดี โทร.๑๓๐๐ พร้อมทั้งขยายบทบาทของบ้านพักเด็กและครอบครัวทั่วประเทศ ให้เป็น Call Center ของศูนย์ประชาบดี ในส่วนภูมิภาค ดำเนินการรับเรื่อง แจ้งเหตุ ข้อมูล และให้บริการคำปรึกษา แนะนำ รวมทั้งการเข้าไปคุ้มครองสวัสดิภาพและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ประสานส่งต่อบริการที่สอดคล้อง เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความจำเป็น เป็นต้น โดยจากข้อมูลสถิติผู้ใช้บริการ ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ส.ค. — ๒๐ ต.ค. ๒๕๕๒ สามารถให้บริการประชาชน จำนวน ๘,๖๑๗ ราย แบ่งเป็น ปัญหาเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ๑,๖๕๕ ราย ปัญหาชีวิตและครอบครัว ๑,๒๗๕ ราย ปัญหาในกลุ่มคนพิการ ๗๗๖ ราย ปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ๖๐๙ ราย การกระทำความรุนแรงในครอบครัว ๔๓๑ ราย ปัญหาเกี่ยวกับสตรี ๑๙๘ ราย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้รับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการขอทาน และเบาะแสเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม อาทิ ขบวนการค้ามนุษย์ การค้าประเวณี การพนัน สิ่งเสพติด ร้านเกมส์ และอื่นๆ ๓๙๙ ราย ข้อมูลเหล่านี้ กระทรวงได้ดำเนินการเพื่อหามาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยการพัฒนางานศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคมของกระทรวงฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านข้อมูล และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ
“การมีข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน เชื่อถือได้ และมีนักเฝ้าระวังฯ ที่มีศักยภาพทั้งในด้านวิชาการเฝ้าระวังและเตือนภัย ควบคู่ไปกับองค์ความรู้ในการคิด วิเคราะห์ การบริหารความเสี่ยง และการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี รวมทั้งสามารถปฏิบัติงานและได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายด้านข้อมูลสารสนเทศ เครือข่ายเฝ้าระวัง และเครือข่ายสื่อสาธารณะ เป็นต้น จะทำให้กลไกการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคมมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ขณะนี้ กระทรวงฯ ได้เร่งปรับปรุง พัฒนางานของศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภายใต้สโลเกนข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน เชื่อถือได้ และให้ทางออกแก่สังคม ” นายอิสสระ กล่าว
นายอิสสระ สมชัย ยังได้เปิดเผยถึงผลการศึกษาพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนในเทศกาลวันลอยกระทง ซึ่งตรงกับวันที่ ๒ พ.ย.นี้ โดยศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม พม. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ว่า จากการสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ ๑๖ — ๒๑ ต.ค.๒๕๕๒ จากกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ ๖๓ จังหวัดทั่วประเทศ และ กทม. จำนวน ๒๑,๗๓๓ คน ซึ่งมีอายุระหว่าง ๑๖-๒๕ ปี พบพฤติกรรมการเข้าร่วมงานประเพณีลอยกระทงมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไปในเชิงเสี่ยงเพิ่มขึ้น อาทิ การไปท่องเที่ยวกับครอบครัวเฉลี่ยเพียง ๔๐.๙ % ขณะที่การไปท่องเที่ยวกับเพื่อน, แฟนหรือคนรัก สูงถึง ๓๘.๒ % ส่วนกิจกรรมที่มีแผนจะทำในวันลอยกระทง คือ การร่วมดื่มแอลกอฮอล์กับกลุ่มเพื่อน ๑๘% การมีเพศสัมพันธ์กับแฟนหรือคนรัก ๔.๘% ซึ่งกลุ่มตัวอย่างยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงพฤติกรรมในเทศกาลลอยกระทงปีที่ผ่านมาว่า ร้อยละ ๑๗.๔% เคยดื่มแอลกอฮอล์กับกลุ่มเพื่อนจนเมา และเคยมีเรื่องทะเลาะวิวาทชกต่อยกันถึง ๖.๙% ในขณะที่ ๕.๗% ตั้งกลุ่มแข่งขันจักรยานยนต์บนท้องถนน และข้อมูลที่น่าตกใจ คือ ๕.๓% มีเพศสัมพันธ์กับแฟนหรือคนรัก
“พฤติกรรมที่ได้ทำการสำรวจมาทั้งหมด เป็นพฤติกรรมซึ่งส่งสัญญาณอันตรายมายังสังคมและครอบครัวหรือคนใกล้ตัวของทุกท่าน เราต้องช่วยกันเป็นหู เป็นตา สอดส่องดูแลพฤติกรรมเด็กและเยาวชนในสังคม โดยเริ่มจากคนในครอบครัวของเราก่อน พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ต้องช่วยกันดูแลลูก-หลาน เจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้มงวดกวดขันการขับขี่รถจักรยานยนต์ และการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสถานประกอบการ สถานบริการต่าง ๆ ต้องเข้มงวดไม่อนุญาตให้ผู้ที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์กฎหมายกำหนดเข้าใช้บริการ ในส่วนของ พม. ศูนย์ระวังและเตือนภัยทางสังคม และศูนย์ประชาบดี ๑๓๐๐ จะร่วมเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังและเตือนภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงกับทุกหน่วยงานอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งเปิดบริการรับแจ้งเบาะแส ผ่านศูนย์ประชาบดี โทร. ๑๓๐๐ โทรฟรีตลอด ๒๔ ชั่วโมง ทั่วประเทศ” นายอิสสระ กล่าว