กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--เวิรฟ
ตั้งแต่เกิด แต่ไร ไม่เคยยิ้ม
ปากกลับอิ่ม ยิ้มกลับคืน ชื่นสดใส
ยิ้มของน้อง ที่ต้องซ่อน กลับมาทันใด
คืน...“ยิ้มพิมพ์ใจ” ให้เด็กไทย ด้วยใจแอมเวย์
“ครั้งหนึ่งเคยคิดจะทิ้งลูกในไส้ของตัวเอง เพราะเขาเกิดมาไม่เหมือนชาวบ้าน ไม่รู้จะทำยังไง อายก็อาย เงินรักษาก็ไม่มี ได้แต่คิดว่าเราไปทำบาปทำกรรมอะไรไว้ถึงต้องมาเจออะไรแบบนี้”
“ตั้งแต่ลูกคนนี้เกิดมาก็เครียด วิตกกังวลตลอด รักเขาก็รักนะ แต่พอมองหน้าลูกทีไรก็รู้สึกแย่เหลือเกินที่เห็นว่าเขาปากแหว่ง ทั้งเสียใจ ทั้งสงสาร แต่ก็จนปัญญาที่จะช่วย เรามันจน แค่จะหาเงินมากินแต่ละวันก็ยากแล้ว ก็คงต้องปล่อยไปตามยถากรรม”
“ทุกวันลูกจะร้องไห้ไม่ยอมไปโรงเรียน บอกว่าเพื่อนล้อว่าเป็นตัวประหลาด สงสารลูกเหลือเกิน เวลาจะกินก็ลำบาก พูดก็ไม่ชัด กลายเป็นเด็กเก็บตัว โดนเพื่อนๆ ล้อ หัวอกคนเป็นแม่มันเจ็บกว่าลูกหลายเท่านัก แต่ที่เจ็บกว่านั้นคือ หาทางช่วยลูกไม่ได้”
นี่คือคำบอกเล่าจริงจากพ่อแม่ที่มีลูกปากแหว่งเพดานโหว่ ที่มักจะต้องทนทุกข์ทรมานจากการที่เห็นลูกเกิดมาผิดปกติ ไม่เหมือนคนอื่น และไร้หนทางที่จะช่วยลูก!
แม้วิวัฒนาการทางด้านวิทยาการและเทคโนโลยีในปัจจุบันจะพัฒนาและก้าวไกลจนสามารถผลักดันให้ประชากรมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง แต่ “รอยยิ้ม” ที่อิ่มไปด้วยความทุกข์ของเด็กอีกหลายต่อหลายคนยังคงปรากฎให้เห็นอยู่ทุกปี ด้วยโรคที่ยังคงไม่สามารถระบุสาเหตุการเกิดอันแน่ชัดที่เรียกว่า “ปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการบนใบหน้า”
ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการบนใบหน้า เป็นภาวะความไม่สมบูรณ์ของเซลล์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ของมารดาและส่งผลกระทบโดยตรงต่อทารกในครรภ์ โดยอาการที่พบคือการขาดแหว่งของอวัยวะต่างๆ บนใบหน้า ซึ่งตามปกติมักเริ่มจากริมฝีปากบน จมูกส่วนบน พื้นจมูก ไปจนถึงเพดานปาก ซึ่งทารกที่ประสบภาวะดังกล่าวเมื่อคลอดออกมาอาจมีอาการขาดแหว่งของอวัยวะเพียงบางส่วนหรือทั้งหมดทุกส่วนดังระบุข้างต้นก็เป็นได้
ผู้ป่วยที่มีอาการปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการบนใบหน้าต้องทนทุกข์ทรมานและประสบกับปัญหาหลายด้านทั้งทางร่างกาย ระบบหายใจ การรับประทานอาหาร การพูด และจิตใจ เนื่องจากไม่สมบูรณ์ดังกล่าวจะแปรเปลี่ยนไปเป็นปมด้อยติดตัวไปโดยอัตโนมัติ ดังนั้น หากไม่ได้รับการรักษา พวกเขาก็จะต้องแบกรับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสนับแต่วินาทีที่ได้ลืมตาดูโลกเรื่อยไปจนถึงบั้นปลายของชีวิต รวมไปถึงบิดามารดาและผู้ปกครองของผู้ป่วย ซึ่งก็จะต้องเผชิญและรับชะตากรรมเช่นเดียวกันนี้ด้วย
จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีเด็กไทยที่ต้องประสบปัญหากับภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ประมาณ 2,000 คนต่อปี ซึ่งโรคปากแหว่งเพดานโหว่นี้สามารถพบได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะที่ภาคตะวันออก เฉียงเหนือหรืออีสาน โดยมีสัดส่วนของอาการ 1 ต่อ 500 ราย ทั้งนี้ สาเหตุของโรคยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด
ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญและตระหนักถึงคุณค่าการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเด็กไทย มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยและเครือข่ายนักธุรกิจแอมเวย์ จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม สาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ ริเริ่มโครงการ “One by One: ยิ้มสยาม” ขึ้นนับแต่ปี 2540 เพื่อดำเนินการผ่าตัดรักษาอาการปากแหว่งเพดานโหว่ให้กับเด็กและเยาวชนไทยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศปีละ 1 ครั้ง
ล่าสุดในปี 2552 นี้ มูลนิธิแอมเวย์ฯ ยังคงเดินหน้าจัดโครงการ “One by One: ยิ้มสยาม” อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นปีที่ 12 ของโครงการ โดยจัดขึ้นที่โรงพยาบาลยโสธรในระหว่างวันที่ 14-18 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนี้สามารถผ่าตัดรักษาเด็กที่มีอาการปากแหว่งและเพดานโหว่ให้กับเด็กๆ ในจังหวัดยโสธรและจังหวัดใกล้เคียงได้ทั้งสิ้น133 คน
นายศักดิ์ ธนประกอบ รองประธานกรรมการมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย กล่าวว่า “มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยได้ดำเนินงานของโครงการ “One by One: ยิ้มสยาม” ซึ่งเป็นโครงการที่มอบโอกาสให้แก่เด็กปากแหว่งเพดานโหว่และมีความพิการบนใบหน้าได้มีรอยยิ้มอันสดใสมาตั้งแต่ปี 2540 ปัจจุบันมีเด็กที่ได้รับการผ่าตัดในโครงการแล้วทั้งสิ้น 1,475 คน จากการดำเนินการ 12 ครั้ง แบ่งเป็นใน 6 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร 5 ครั้ง นครศรีธรรมราช 2 ครั้ง สุรินทร์ 2 ครั้ง ลำปาง ยะลา และตาก แห่งละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ มูลนิธิแอมเวย์ฯ ได้มอบเงินสนับสนุน 1.5 ล้านบาทเพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรม พร้อมทั้งยังได้ระดมพลังเครือข่ายนักธุรกิจแอมเวย์มาร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลืองานต่างๆ ของทางโรงพยาบาล เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันและสร้างรอยยิ้มใหม่ที่สดใสให้แก่เด็กๆ อีกเป็นจำนวนมาก”
นายแพทย์อภิชัย อังสพัทธ์ หัวหน้าทีมแพทย์อาสาสมัคร มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม เปิดเผยว่า “สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดโรคปากแหว่งและเพดานโหว่นั้นยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่จากข้อมูลคาดว่าอาจจะเกิดจากองค์ประกอบมวลรวม เช่น บางคนมีพันธุกรรมการใช้ยาบางประเภท การบริโภคอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการหรือไม่ทานครบ 5 หมู่ เป็นต้น สำหรับวิธีการป้องกันในเบื้องต้นกรณีที่พ่อแม่วางแผนจะมีลูก คือ ต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีและทานอาหารให้ครบถ้วน โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ของแม่จะเป็นช่วงที่
สำคัญ เพราะทารกในครรภ์จะเริ่มสร้างปาก จมูก และเพดาน ดังนั้นช่วงเวลานี้จึงต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด อย่าให้ครรภ์ได้รับการกระทบการเทือน มิฉะนั้นเด็กที่เกิดมาก็มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ได้”
“ในกรณีที่ป่วยเป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่แล้ว การรักษานั้นจะทำได้โดยการผ่าตัด โดยเด็กที่ป่วยต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม สุขภาพร่างกายจะต้องแข็งแรง เพื่อจะให้ได้ผลการผ่าตัดที่ดีที่สุด หลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้นผู้ปกครองจะต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันนี้การผ่าตัดผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่มีความทันสมัยมากขึ้นและให้ผลการรักษาที่ดีขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากมีอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษา”
ความรู้สึกจากใจของแม่ เมื่อรู้ว่าลูกจะได้รับการรักษา
นางสาวกัลยาณี สมรักษ์ คุณแม่ของน้องวรัญญา สมรักษ์ อายุ 4 เดือน กล่าวว่า “รู้สึกดีใจมากที่แอมเวย์มาจัดโครงการที่นี่ มีหมอเก่งๆ จากกรุงเทพมาผ่าตัดให้ลูกฟรี โดยไม่คิดสตางค์ ขอขอบคุณจากใจจริงที่ได้มอบรอยยิ้มใหม่ให้แก่ลูกสาวของเรา และเด็กคนอื่นๆ ด้วย หากเป็นไปได้อยากให้มีโครงการดีๆ อย่างนี้อีกเยอะๆ เพราะเหมือนเป็นการมอบชีวิตใหม่ให้กับเด็กๆ ที่สำคัญอยากให้มาที่ยโสธรบ่อยๆ เพราะคนที่นี่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่กันมาก”
ด.ญ.ณัฐธิดา ไชยเวช ผู้ป่วยเป็นโรคปากแหว่งและเพดานโหว่ กล่าวว่า “การมีปากแหว่ง ใครๆ ก็มองว่าน่าเกลียด เป็นปมด้อยในชีวิตของหนูมาตลอด แต่ต่อจากนี้ไปหนูก็จะได้เป็นปกติเหมือนกับเพื่อนๆ แล้วค่ะ หนูดีใจมากที่สุดที่จะได้รับการผ่าตัดในครั้งนี้ และขอฝากถึงผู้ใหญ่ของโครงการว่า อยากให้จัดโครงการนี้ทุกๆ ปีเลยค่ะ เด็กๆ ที่มีปากแหว่งเพดานโหว่จะได้มีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นเหมือนกับหนู”
เด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ เมื่อได้รับการดูแลรักษาตามขั้นตอนครบถ้วน ก็จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมด้วยรอยยิ้มใหม่ที่สดใสได้อย่างปกติ ในทางตรงกันข้าม หากเด็กไม่ได้รับการรักษาก็อาจส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจของพวกเขา ดังนั้น การได้รับการรักษาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเด็กๆ ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่
วันนี้ความฝันของพวกเด็กๆ ในการมีรอยยิ้มสดใสเบิกบาน ได้กลายเป็นความจริง ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งจากมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย เครือข่ายนักธุรกิจแอมเวย์ โรงพยาบาลยโสธร และมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม
ภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้าคือรอยยิ้มใหม่ของเด็กๆ นับร้อยคน “ภาพรอยยิ้มพิมพ์ใจ” ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงแต่น้องๆ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงรอยยิ้มของพ่อแม่และครอบครัว ตลอดจนอาสาสมัครทุกคนอย่างไม่รู้ลืม เพราะนั่นมิเพียงหมายถึงการมีรอยยิ้มและเพดานปากที่เป็นปกติเหมือนคนทั่วไป แต่ยังเปรียบเสมือนการมอบชีวิตใหม่เพื่อให้พวกเขาสามารถอยู่ร่วมกับสังคมรอบข้างได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม
มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด และนักธุรกิจแอมเวย์เพื่อเป็นศูนย์รวมในการดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์และสาธารณกุศล เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2545 และได้รับการพิจารณาเห็นชอบในการเข้าเป็นสมาชิกสมาคมสันนิบาตมูลนิธิแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ประเภทตลอดชีพ ในปี 2546
มูลนิธิมุ่งเน้นในการดำเนินกิจกรรมเพื่อมอบโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เด็กและเยาวชนในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดการช่วยเหลือแบบคนละไม้ละมือ (One by One) ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ One by One: ยิ้มสยาม, One by One: หนูฝันอยากเป็น ..., One by One: เปิดโลกกว้างทางปัญญา เป็นต้น ส่งผลให้แต่ละปีมูลนิธิสามารถให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนปีละไม่ต่ำกว่า 15,000 คน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ เวิรฟ:
วรญา มณีวรรณ (เพชร) โทร.0-2204-8229
พรชนันท์ มงคลกุล (กิฟท์) โทร.0-2204-8223