กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
สภากทม. แนะผู้บริหารกทม. ให้ดำเนินการเร่งให้ความรู้กับประชาชนให้ทั่วถึง อีกทั้งจัดอบรมแลกเปลี่ยนความคิดของอาสาสมัครเจ้าหน้าที่ทั้ง 50 เขต เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมไข้หวัดใหญ่ 2009 พร้อมทั้งหวังให้ประชาชนปลอดภัยและมีความเข้าใจในการรับมือกับกับไข้หวัดใหญ่ 2009 หากมีการระบาดอีกครั้งหนึ่ง
นางกนกนุช นากสุวรรณ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการการสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ ประชุมรับทราบการเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ระลอกที่ 2 ในกรุงเทพมหานคร โดยมี นายวงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ ผู้อำนวยกองควบคุมโรค สำนักอนามัย ร่วมให้ข้อมูล ณ ห้องประชุม 1 สภากทม.
นายวงวัฒน์ กล่าวว่า สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2009 ในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน ถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2552 มีผู้ป่วยยืนยันสะสมจำนวน 4,732 ราย และมีผู้ป่วยยืนยันเสียชีวิตสะสมจำนวน 22 ราย ในปัจจุบันสถานการณ์การระบาดรุนแรงน้อยลง แต่ในอนาคตอาจจะมีการระบาดของไข้หวัด 2009 รอบที่ 2 ซึ่งกรุงเทพมหานครมีการเตรียมความพร้อม โดยมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ของกรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการป้องกันไข้หวัดใหญ่2009 อาทิเช่น ให้ทุกศูนย์บริการสาธารณสุขทำแผนลงพื้นที่เร่งรัดมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในบริเวณสถานที่เสี่ยง เช่น ร้านเกมส์ ร้านอินเตอร์เน็ต โรงเรียนกวดวิชา ศูนย์การค้า แหล่งชุมชน หรือบริเวณจัดกิจกรรมที่คนมารวมกันจำนวนมาก อีกทั้งเข้าประสานในสถานที่ชุมนุมชน เช่น ค่ายทหาร เรือนจำ สถานพินิจ สถานสงเคราะห์เด็ก เพื่อควบคุมดูแลด้านมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และประสานการสนับสนุนในทุกๆ ด้าน
สำหรับกองเภสัชกรรมมีการสำรองหน้ากากอนามัยชนิดใช้แล้วทิ้งจำนวน 1,300,000 ชิ้น ซึ่งจะต้องสำรองไว้เตรียมรับการระบาดระลอกที่สองจำนวน 5,000,000 ชิ้น เจลล้างมือมีสำรองอยู่จำนวน 3,000 แกลลอน นอกจากนี้จะมีการซ้อมรับมือการระบาดใหญ่ของไข้หวัด 2009 ในโรงเรียนใหญ่ๆ และทบทวนซ้อมแผนฯ ในโรงเรียน พร้อมจัดทำเป็นคู่มือ แจกจ่ายให้กับโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกัน ในส่วนของกองสร้างเสริมสุขภาพจะทำการจัดตั้งยุวทูต 2009 ในโรงเรียนทุกสังกัด โดยคัดเลือกตัวแทนห้องเรียนทุกแห่ง เพื่อนำมาอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ในการควบคุมโรคติดต่อในโรงเรียน แล้วให้ตัวแทนนักเรียนเหล่านี้นำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ให้แก่นักเรียนในห้องเรียน และให้สำนักพัฒนาระบบสาธารณสุขจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น ซีดี คู่มือ และแผ่นพับเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อแจกให้กับประชาชนได้รับรู้และได้เข้าใจ พร้อมทั้งรู้ถึงวิธีการรับมือกับการระบาดของไข้หวัด2009 อีกด้วย
ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ควรเพิ่มการอบรมและให้ความรู้เรื่องไข้หวัดใหญ่ 2009 แก่ภารโรง แม่บ้าน และคนทำอาหารของโรงเรียนทุกแห่ง เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ 2009 และจะได้นำไปใช้ป้องกันน้ำท่วมพร้อมทั้งควบคุมได้ถูกวิธี อีกทั้งทำการจัดอบรมหรือสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดของผู้ที่เป็นอาสาสมัครหรือเจ้าหน้าที่อบรมชาวบ้านใน 50 เขต เพื่อนำปัญหาและวิธีการแก้ไขเรื่องต่างๆ มาแลกเปลี่ยนความคิดกัน ซึ่งตัวแทนแต่ละเขตจะได้นำข้อคิดเห็นต่างไปใช้แก้ไขและพัฒนาวิธีการในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในพื้นที่ตัวเองต่อไป