สถาบันอาหาร หนุนกลุ่มเอสเอ็มอี สร้างคุณค่าผลิตภัณฑ์อาหารต่อยอดโครงการครัวไทยสู่โลกระยะที่ 2

ข่าวทั่วไป Tuesday October 27, 2009 15:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--สถาบันอาหาร สถาบันอาหารสรุปผลงานโครงการครัวไทยสู่โลก มั่นใจอาหารไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จำนวนร้านอาหารไทยเพิ่มขึ้นเป็น 13,149 แห่งทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากปี 2541 ที่มีเพียง 6,537 ร้าน ทวีปอเมริกายังมาแรง ครองแชมป์เปิดร้านอาหารไทยสูงสุดร้อยละ 50 เผยอนุมัติสินเชื่อให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหม่-เก่าไปแล้วกว่า 200 ราย วงเงินรวม 1,372 ล้านบาท ทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดยส่งเสริมงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและบรรจุภัณฑ์ สนับสนุนมาตรฐานและประสิทธิภาพการแข่งขันเพื่อการส่งออก ยกระดับการบริหารจัดการร้านอาหารไทยและพัฒนาหลักสูตรอบรมพ่อครัว-แม่ครัวไทย เตรียมเดินหน้าโครงกา ครัวไทยสู่โลกระยะที่ 2 หากรัฐบาลอนุมัติงบประมาณ หวังกระตุ้นความเชื่อมั่นอาหารไทยให้ปลอดภัยทั่วโลก ตามแนวทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์(Creative Economy) เน้นหนุนผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs เป็นหลัก ใช้ยุทธศาสตร์สร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์อาหาร(Food Value Creation) รักษามาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยให้ครอบคลุมทั้งระบบห่วงโซ่การผลิตอาหาร พร้อมทำตลาดเชิงรุก เร่งผลักดันเอกลักษณ์ความเป็นไทย ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอาหารของไทยสู่สากล นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาแห่งความสำเร็จของโครงการครัวไทยสู่โลก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน เป็นการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อการสร้างความรู้จักอาหารไทย หรือ Thai Kitchen to the World การขยายช่องทาง(outlet)จำหน่ายอาหารไทยในต่างประเทศ การพัฒนาบุคลากรเข้าสู่ระบบครัวไทยในต่างประเทศ การยืนยันภาพลักษณ์สู่เอกลักษณ์ร่วมของร้านและภัตตาคารอาหารไทยในต่างประเทศภายใต้เครื่องหมาย Thai select และเมื่อมาตรฐานความปลอดภัยในอาหารเป็นเงื่อนไขแรกของอุตสาหกรรมอาหารโลก ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค ทั่วโลกว่า “อาหารไทยปลอดภัยทั่วโลก” ดังนั้นก้าวต่อไปของโครงการครัวไทยสู่โลกระยะที่ 2 จึงมุ่งความสำคัญไปที่การสร้างเศรษฐกิจโดยรวมของไทยให้เติบโตอย่างแท้จริง โดยการ “เสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารของไทย” ภายใต้แนวความคิด “เชื่อมั่นอาหารไทย : Thailand Food Forward” ซึ่งนำหลักเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์(Creative Economy) มาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ โดยเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีอยู่ถึงร้อยละ 90 เพื่อสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจอาหารไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อาหารจากภูมิปัญญาของไทย เน้นการประชาสัมพันธ์และการตลาดเชิงรุกเพื่อส่งเสริมการส่งออกวัฒนธรรมอาหารของไทยสู่สากลโดยการสร้างมาตรฐานคุณภาพความปลอดภัยในอาหาร และคุณภาพการผลิตให้ครอบคลุมทั้งระบบห่วงโซ่การผลิตอาหาร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอาหาร ด้วยระบบการสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์อาหาร(Food Value Creation) และรณรงค์ให้เกิดความเชื่อมั่นในระดับโลก” นายอมร งามมงคลรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ในฐานะเลขาธิการ คณะอนุกรรมการบริหารและติดตามโครงการครัวไทยสู่โลก เผยว่า ในการดำเนินงานโครงการครัวไทยสู่โลกที่ผ่านมานั้น ใช้งบประมาณราว 500 ล้านบาท ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการพัฒนาอาหารไทยและครัวไทยสู่โลก ซึ่งได้กำหนดยุทธศาสตร์และวางแผนแนวทางการพัฒนาครัวไทยสู่โลก ภายใต้กรอบ 9 กิจกรรมหลักด้วยกัน โดยสถาบันอาหารในฐานะเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานและติดตามการดำเนินการดังกล่าว ได้แก่ 1. จัดตั้งศูนย์พัฒนาอาหารไทยและครัวไทยสู่โลก 2. ทำการสำรวจข้อมูลผู้บริโภคและแนวโน้มความต้องการอาหารไทยในตลาดโลก โดยศึกษาในกลุ่มประเทศเป้าหมาย 3. สร้างและรักษาภาพลักษณ์อาหารไทยและร้านอาหารไทย โดยใช้กิจกรรมโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยจัดงานประชาสัมพันธ์และกิจกรรมส่งเสริมการขายในต่างประเทศ, กิจกรรมสร้างมาตรฐานร้านอาหารไทยในต่างประเทศผ่านเครื่องหมาย Thai Select และกิจกรรมส่งเสริมธุรกิจอาหารไทย โดยสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในต่างประเทศ 4. การพัฒนาบุคลากรผู้ปรุงอาหารไทย โดยจัดอบรมให้พ่อครัวแม่ครัวไทยที่ประกอบการในต่างประเทศกว่า 20 ประเทศทั่วโลก 5. การแก้ไขปัญหาเรื่องวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน โดยขอความร่วมมือระหว่างองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการเจรจาเพื่อขอแก้ไขข้อบังคับด้านการเข้าไปทำงานของพ่อครัวแม่ครัวไทยในต่างประเทศ 6. การยกระดับการบริหารจัดการร้านอาหารไทย โดยการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารไทยและผู้ปรุงอาหารไทยเพื่อประกอบธุรกิจ 7. การให้การสนับสนุนด้านการเงิน โดยประสานงานกับสถาบันการเงินที่เป็นแกนหลักด้านเงินทุน ในการให้สิทธิและประโยชน์พิเศษภายใต้โครงการครัวไทยสู่โลกของรัฐบาล 8. การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดยส่งเสริมงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและบรรจุภัณฑ์ และ 9. การสนับสนุนมาตรฐานและประสิทธิภาพการแข่งขันเพื่อการส่งออก โดยการจัดกิจกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศทางวิชาการด้านห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหาร การฝึกอบรมผู้ตรวจประเมินระบบผลิต GAP ที่เป็นระดับสากล เป็นต้น “สถาบันอาหาร ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาอาหารไทยและครัวไทยสู่โลกขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารอำนวยการโครงการครัวไทยสู่โลก ได้พัฒนาศูนย์ข้อมูลสารสนเทศด้านอาหารไทยและร้านอาหารไทย รวมทั้งพัฒนาระบบการจัดการเพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกในการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ผลิตอาหารไทย ผู้นำเข้าหรือค้าปลีกอาหารไทยในต่างประเทศ และร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ผ่านเว็บไซต์ของโครงการครัวไทย สู่โลก ปัจจุบันมีรายชื่อพ่อครัวแม่ครัวคนไทยที่แจ้งความประสงค์การทำงานในต่างประเทศและขึ้นทะเบียนกับศูนย์พัฒนาอาหารไทยและครัวไทยสู่โลกแล้วประมาณ 1,151 คน และจนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552 มีฐานข้อมูลร้านอาหารไทยทั่วโลกแล้วทั้งสิ้นประมาณ 13,149 แห่ง เพิ่มขึ้นจากในปี 2541 ที่มีจำนวนร้านอาหารไทยเพียง 6,537 ร้านทั่วโลก โดยจากการสำรวจพบว่าร้านอาหารไทยกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ดังนี้ ทวีปอเมริกาเหนือและใต้ ร้อยละ 50 ทวีปเอเชียรวมตะวันออกกลาง ร้อยละ 18 ทวีปโอเชียเนีย ร้อยละ 16.5 ทวีปยุโรป ร้อยละ 14.5 และทวีปแอฟริกา ร้อยละ 1 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังคงผลักดันให้เกิดร้าน/ภัตตาคารอาหารไทยในต่างประเทศ และขยายเครื่องหมาย Thai select ที่เป็นเครื่องหมายคุณภาพร้านอาหารไทยมาตรฐานในต่างประเทศให้กับร้านอาหารไทยทั่วโลก รวมทั้งสร้างและรักษาภาพลักษณ์ร้านอาหารไทย เน้นการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในเรื่ององค์ความรู้ วัฒนธรรม ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาหารไทยและบริโภคอาหารไทย โดยปัจจุบัน(ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2552) มีร้านอาหารไทยที่ได้รับตรา Thai Select แล้วราว 1,179 ร้านทั่วโลก ขณะเดียวกันยังให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการร้านอาหารไทย โดยประสานงานกับสถาบันการเงินที่เป็นแกนหลักด้านเงินทุน ในการให้สิทธิและประโยชน์พิเศษภายใต้โครงการครัวไทยสู่โลกของรัฐบาล ทั้งนี้จากข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2552 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) ได้อนุมัติสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในต่างประเทศไปแล้วกว่า 200 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 1,372 ล้านบาท ทั้งยังมีผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่าง การพิจารณาอนุมัติสินเชื่ออีก 19 ราย คิดเป็นวงเงิน 142 ล้านบาท โดยเป็นการกู้สินเชื่อเพื่อไปเปิดหรือขยายกิจการร้านอาหารในประเทศสหรัฐอเมริกาสูงเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 111 ราย รองลงมาคืออังกฤษและออสเตรเลีย ประเทศละ 20 ราย” นายอมร กล่าวสรุป ในส่วนการประชาสัมพันธ์ในภาพรวม สถาบันอาหารได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัทการบินไทย กระตุ้นการรับรู้เรื่องอาหารไทย โดยการจัดงานเทศกาลอาหารและวัฒนธรรมไทย การประชาสัมพันธ์อาหารไทยในสื่อต่างๆ โดยการจัดทำคู่มือตำรับอาหารไทย การทำหนังสือแนะนำอาหารไทย และร้านอาหารไทยในเมืองหลวงที่สำคัญทั่วโลก ถึงแม้ว่าการดำเนินโครงการครัวไทยสู่โลกในระยะที่ 1 ที่ผ่านมาจะมีปัญหาและอุปสรรคพอสมควรแต่ด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งโอกาสทางการตลาดที่อาหารไทยกำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ทำให้โครงการครัวไทยสู่โลกบรรลุวัตถุประสงค์ตามแผนงานที่ตั้งเป้าไว้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการครัวไทยสู่โลกระยะที่ 2 ต่อไป ทั้งนี้สถาบันอาหารจะให้ความสำคัญกับสินค้าอาหารมาตรฐานความปลอดภัย คุณภาพของอาหารไทยและร้านอาหารไทยตลอดห่วงโซ่ การผลิตอาหารของไทย โดยใช้ยุทธศาสตร์การสร้างคุณค่า(Value Creation) ให้กับผลิตภัณฑ์อาหาร โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมที่เป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้อาหารไทยทั้งระบบในก้าวต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ