กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--ไอบีเอ็ม
ผลสำรวจชี้ซีไอโอในอาเซียนล้วนมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมและการเติบโตในรูปแบบใหม่ๆ และยังมีบทบาทมากขึ้นในฐานะผู้บริหารระดับสูงขององค์กร
ไอบีเอ็มได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง หรือซีไอโอ (Chief Information Officer - CIO) กว่า 2,500 คนทั่วโลก รวมถึงซีไอโอ 86 คนจากภูมิภาคอาเซียน พบว่าเทคโนโลยีที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับซีไอโอคือ “การจัดการธุรกิจอัจฉริยะ” (Business Intelligence) และ “การวิเคราะห์ข้อมูล” (Analytics) ทั้งนี้เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันและปรับปรุงการตัดสินใจทางด้านธุรกิจ โดย 83% ของซีไอโอทั่วโลก หรือ 87% ของซีไอโอในระดับอาเซียนที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า ระบบจัดการธุรกิจและวิเคราะห์ข้อมูลจะช่วยให้องค์กรมองเห็นรูปแบบของข้อมูลจำนวนมหาศาล สามารถกลั่นกรองข้อมูลดังกล่าวในเชิงลึกและนำไปใช้งานได้จริง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร
ทั้งนี้รายละเอียดของผลการสำรวจดังกล่าว ได้ถูกนำมาเผยแพร่ในผลการศึกษาซีไอโอทั่วโลกประจำปี 2009 (IBM Global CIO Study 2009) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับซีไอโอครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยได้ทำการสัมภาษณ์ซีไอโอแบบตัวต่อตัว และรายงานผลการศึกษาดังกล่าวมีชื่อว่า “The New Voice of the CIO” ซึ่งในรายงานจะมีข้อมูลเชิงลึกและวิสัยทัศน์ของซีไอโอจาก 78 ประเทศใน 19 กลุ่มอุตสาหกรรม และจากองค์กรทุกขนาดในทุกระดับของการเติบโต โดยผลการศึกษาฉบับนี้เน้นย้ำถึงบทบาทเชิงกลยุทธ์ที่เพิ่มมากขึ้นของซีไอโอ ในฐานะผู้นำทางด้านวิสัยทัศน์และเผู้ผลักดันการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการขยายธุรกิจให้เติบโต
นอกเหนือจากการมุ่งเน้นระบบวิเคราะห์ข้อมูล (Analytics) เพิ่มมากขึ้น ผลการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ยังเปิดเผยอีกด้วยว่า เสถียรภาพและความปลอดภัยของข้อมูล (Data Reliability and Security) เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนมากขึ้น โดย 71% ของซีไอโอทั่วโลก (อาเซียน: 76%) มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมในด้านการบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฏระเบียบ (Risk Management and Compliance)
ประเด็นสำคัญอื่นๆ จากการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ได้แก่:
- ผู้บริหารระดับซีไอโอทั่วโลกยังคงเดินหน้าลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน โดย 76% (อาเซียน: 63%) กำลังดำเนินการหรือวางแผนเกี่ยวกับโครงการทางด้านการแบ่งปันทรัพยากร หรือเวอร์ช่วลไลเซชั่น (Virtualization)
- 76% ของซีไอโอทั่วโลก (อาเซียน: 74%) คาดการณ์ว่าจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบรวมศูนย์ที่แข็งแกร่งในช่วง 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ กว่าครึ่งหนึ่งของซีไอโอมีแผนที่จะปรับใช้ระบบจัดการขั้นตอนธุรกิจ (Business Process) ที่เป็นมาตรฐานและเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง
- แม้จะมีต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบมาตรฐานดังกล่าว แต่ซีไอโอทั่วโลกก็ยังสามารถใช้เวลา 55% ไปกับการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการขยายธุรกิจให้เติบโต ส่วนงานทางด้านไอทีทั่วไป เช่น การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและการดำเนินงาน ซีไอโอใช้เวลาเพียงแค่ 45 % เท่านั้น
“บรรดาซีไอโอหันมาลงทุนในระบบวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ เพื่อช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจในทุกระดับ” มร. เจฟฟรีย์ วิครีย์ รองประธานฝ่ายโกลบอล บิสซิเนส เซอร์วิส จาก ไอบีเอ็ม โกรธ มารเก็ตส์ ยูนิต ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลธุรกิจไอบีเอ็มในประเทศที่อยู่ในกลุ่มตลาดที่กำลังเติบโต (Growth Markets) กล่าว “นอกจากนี้ ในสภาวะเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทายนี้ ผู้บริหารระดับซีไอโอเข้าใจว่า การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการขยายธุรกิจในตลาดใหม่ๆ การจัดการและใช้ประโยชน์จากข้อมูลโดยอาศัยระบบวิเคราะห์ข้อมูล จึงเป็นสิ่งที่ซีไอโอกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน”
จากผลการศึกษาดังกล่าว ซีไอโอยังระบุถึงโครงการสำคัญๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ หรือมีแผนที่จะดำเนินการในอนาคต ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การปรับปรุงระบบงานไปจนถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มสถานะทางการเงินขององค์กรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การจัดการธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence), ระบบวิเคราะห์ข้อมูล (Analytics) ระบบเวอร์ช่วลไลเซชั่น (Virtualization) และกรีนไอที (Green IT) สถาปัตยกรรมการบริการ (Service Oriented Architecture - SOA) การจัดการบริการ (Service Management) และระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) นอกจากนั้น ซีไอโอยังมุ่งเน้นโซลูชั่นแบบเคลื่อนที่ (Mobility) และระบบสื่อสารแบบครบวงจร (Communications) เครื่องมือสำหรับการทำงานร่วมกัน (Collaboration) และเครือข่ายทางสังคม (Social Networking) และโครงการเว็บ 2.0 (Web 2.0) เพื่อรองรับการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับพนักงาน ลูกค้า และคู่ค้า
ซีไอโอในอาเซียนได้รับการยอมรับในฐานะผู้บริหารระดับสูงที่มีบทบาทในการกำหนดกลยุทธ์ทางด้านธุรกิจ
นาง เมเรอร์ดิต อัควิน ผู้จัดการประจำประเทศไทย ไอบีเอ็ม โกลบอล บิสิเนส เซอร์วิสเซส เปิดเผยว่า ผู้บริหารระดับซีไอโอในอาเซียนมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกับซีไอโอจากภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของบทบาทในการกำหนดวิสัยทัศน์ การสร้างมูลค่า การชี้นำธุรกิจ การลงมือปฏิบัติ และการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย ในขณะที่ซีไอโอในอาเซียนได้รับความสำคัญและไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพียง “ผู้จัดการฝ่ายไอที” เท่านั้น “ซีไอโอในภูมิภาคอาเซียนต่างมุ่งเน้นในการวางแผนเกี่ยวกับวิสัยทัศน์สำคัญๆ ในอนาคต ซึ่งส่วนที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับซีไอโอจากอาเซียนและทั่วโลกคือการจัดการธุรกิจและการวิเคราะห์ข้อมูล ตามมาด้วยประเด็นเรื่องการบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฏระเบียบ โดยซีไอโอจากอาเซียนและทั่วโลกพยายามเข้าไปดูแลธุรกิจมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังสามารถผสานรวมธุรกิจและเทคโนโลยีเข้าด้วยกันอย่างจริงจัง เพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรมให้องค์กร”
อย่างไรก็ตาม ซีไอโอในภูมิภาคอาเซียนได้รับการยอมรับในฐานะผู้บริหารระดับสูงในสัดส่วนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับซีไอโอจากทั่วโลก และมีส่วนร่วมในทุกด้านของการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร และมีบทบาทในการประสานงานร่วมกับผู้บริหารจากผ่ายอื่นๆ รวมถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ และในฐานะผู้ประสานงานทางธุรกิจนี้เองทำให้ซีไอโอในอาเซียนสามารถกำหนดรูปแบบธุรกิจได้ดีกว่า และได้รับคำชื่นชมจากคณะผู้บริหารระดับสูงมากกว่าเมื่อเทียบกับซีไอโอจากทั่วโลก
นอกจากนี้ ซีไอโอขององค์กรในอาเซียนที่มีการเติบโตสูง เมื่อเทียบกับองค์กรที่มีการเติบโตต่ำ จะใช้ประโยชน์จากศักยภาพของบริการทางด้านธุรกิจและไอทีจากองค์กรภายนอกเพื่อเพิ่มความคล่องตัวของธุรกิจได้ดีกว่า และยังเข้าใจความต้องการของพนักงานและลูกค้าอย่างลึกซึ้ง โดยซีไอโอเหล่านี้มีแผนที่จะพัฒนาช่องทางใหม่ๆ ภายในช่วง 5 ปีข้างหน้า และมีแนวโน้มที่จะใช้เวลามากขึ้นไปกับการพัฒนาวิสัยทัศน์ทางด้านธุรกิจขององค์กร ในขณะที่ซีไอโอขององค์กรในอาเซียนที่มีการเติบโตต่ำจะแตกต่างออกไปเล็กน้อย กล่าวคือ จะใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นในการจัดหาบริการด้านเทคนิค และเชื่อมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบรวมศูนย์มากกว่า
“ผลการสำรวจชี้ชัดว่าบทบาทของซีไอโอกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก” นางเมเรอร์ดิต กล่าวเพิ่มเติม “ซีไอโอกำลังพยายามไปให้ถึงเป้าหมายในสามด้าน คือ การสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง การเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนด้านไอที และการขยายบทบาททางธุรกิจ หรือกล่าวได้ว่า ซีไอโอพยายามที่จะปรับเปลี่ยนระบบงานต่างๆ ให้สอดคล้องตามมาตรฐาน และลดความซับซ้อนของโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเพื่อลดค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงมีความสนใจเพิ่มมากขึ้นในเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง และซีไอโอเหล่านี้ยังมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นในการผลักดันรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เช่น ระบบกริด ระบบขนส่งอัจฉริยะ หรือระบบซัพพลายเชนด้านอาหารที่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ซีไอโอเหล่านี้ใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นในการกระตุ้นการเติบโตขององค์กรในรูปแบบใหม่ๆ”
หนึ่งในซีไอโอของไทยที่ร่วมตอบแบบสอบถามในครั้งนี้ นายจรัมพร โชติกเสถียร รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จากผลสำรวจจะเห็นได้ชัดว่า ปัจจุบันไอทีได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจธนาคาร โดยซีไอโอที่ประสบความสำเร็จจะมีส่วนร่วมอย่างมากในการกำหนดกลยุทธ์ การสร้างความยืดหยุ่นและความเปลี่ยนแปลงให้องค์กร รวมถึงการแก้ไขปัญหาทางด้านธุรกิจ ไม่ใช่เพียงแค่ผู้แก้ปัญหาทางด้านไอทีเท่านั้น ปัจจุบันซีไอโอทั่วโลก รวมถึงซีไอโอในภาคธุรกิจธนาคารในประเทศต่างๆ ต่างใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้องค์กร เช่น การจัดทำแผนจัดซื้อเทคโนโลยีเพื่อรองรับนวัตกรรม การปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และการเชื่อมโยงไอทีเข้ากับธุรกิจ”
ทั้งนี้ นายจรัมพรกล่าวเสริมว่า จากผลการสำรวจความคิดเห็นของซีไอโอทั่วโลก สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ธนาคารไทยพาณิชย์กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน “กลยุทธ์หลักของเราคือ การเพิ่มผลกำไรด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาดในช่วงเวลาที่เหมาะสมและการให้บริการอย่างไร้ที่ติ และการบริหารความเสี่ยงอย่างแข็งแกร่ง เพื่อการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่องสำหรับอนาคต ทั้งหมดนี้เพื่อตอบโจทย์ของธนาคารไทยพาณิชย์ในการเป็นธนาคารชั้นนำที่ให้บริการอย่างครบวงจร หรือเป็น The Premier Universal Bank ของไทยในปัจจุบัน”
เกี่ยวกับผลการศึกษาซีไอโอประจำปี 2009 ของไอบีเอ็ม
ผลการศึกษาซีไอโอประจำปี 2009 (2009 CIO Study) เป็นส่วนหนึ่งของผลการศึกษาเกี่ยวกับผู้บริหารระดับสูง (C-Suite Study Series) ของไอบีเอ็ม ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่โดย IBM Institute for Business Value ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รายการผลการศึกษาเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกต่างๆ แก่ผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กร ได้แก่ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล เป็นต้น โดยผลการศึกษาซีไอโอครอบคลุมการสัมภาษณ์ซีไอโอแบบตัวต่อตัวกว่า 2,500 คน โดยดำเนินการในช่วงระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ เดือน มกราคม - เมษายน ในปี 2009 นอกเหนือจากรายละเอียดข้อคิดเห็นแล้ว ไอบีเอ็มยังได้ระบุดัชนีชี้วัดด้านการเงิน พร้อมด้วยข้อมูลวิเคราะห์เชิงสถิติสำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นในแต่ละประเด็น นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังประกอบด้วยคำแนะนำต่างๆ เช่น การดำเนินการทางด้านธุรกิจ และการใช้เทคโนโลยีสำคัญๆ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นของซีไอโอ ผลการศึกษาซีไอโอประจำปี 2009 ฉบับสมบูรณ์พร้อมบทสัมภาษณ์ สามารถเข้าดูได้ที่ www.ibm.com/ciostudy
บรรยายภาพ จากซ้ายไปขวา
1. เจฟฟรีย์ วิครีย์ รองประธานฝ่ายโกลบอล บิสซิเนส เซอร์วิส จาก ไอบีเอ็ม โกรธ มารเก็ตส์ ยูนิต
2. เมเรอร์ดิต อัควิน ผู้จัดการประจำประเทศไทย โกลบอล บิสิเนส เซอร์วิสเซส บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
3. จรัมพร โชติกเสถียร รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
4. ชนิตา สายเชื้อ Business Development Executive โกลบอล บิสิเนส เซอร์วิสเซส บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
Photo shows (from left)
1. Geoffrey Vickrey, Partner and Vice President, Global Business Services IBM Growth Markets Unit
2. Meredith Angwin, Country Manager, Global Business Services of IBM Thailand Co.,Ltd.
3. Charamporn Jotikasthira, Senior Executive Vice President, Chief Information Officer, Siam Commercial Bank PCL
4. Chanita Saicheua, Business Development Executive, Global Business Services, IBM Thailand Co.,Ltd.
เผยแพร่โดยบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
กมลวรรณ มักการุณ โทรศัพท์: 02-273-4889 อีเมล: kamolwan@th.ibm.com