กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--ธนาคารเอชเอสบีซี
มิสซูบรีนา โชว ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง ประจำประเทศสิงคโปร์ (Hong Kong Economic and Trade Office: HKETO) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ “Hong Kong: Seize Now Your Opportunities for Business in China and Beyond” เมื่อวานนี้ (27 ต.ค.) ว่า ไทยและฮ่องกงมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างแน่นแฟ้นมายาวนาน ขณะนี้ฮ่องกงได้บูรณาการระบบเศรษฐกิจเข้ากับระบบของจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้การแลกเปลี่ยนค้าขายกับคู่ค้าดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ไทยและฮ่องกงยังเป็นคู่ค้าสำคัญโดยมีปริมาณการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 13 ระหว่างปี 2004-2008 และเชื่อว่าการค้าระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับฮ่องกงจะมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและเอเชียเริ่มฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติแล้ว
มิสโชว กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของฮ่องกงกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยมีอัตราเติบโตร้อยละ 3.3 ในไตรมาส 2/52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หลังจากหดตัวติดต่อกันมา 4 ไตรมาส อัตราการว่างงานคงที่มาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากแผนกระตุ้นและการบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลของเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 18 เดือนที่ผ่านมา แผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวมีมูลค่ากว่า 8.7 หมื่นล้านเหรียญฮ่องกง (หรือ 11 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) หรือคิดเป็นร้อยละ 5.2 ของจีดีพีของฮ่องกง นอกจากนี้ยังได้จัดสรรงบประมาณอีกกว่า 1 แสนล้านเหรียญฮ่องกง (หรือ 13 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) เป็นกองทุนประกันสินเชื่อแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีอีกด้วย
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของฮ่องกงฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว คือ ภาวะเศรษฐกิจอันแข็งแกร่งของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นคู่ค้าที่ใกล้ชิดที่สุด โดยฮ่องกงเป็นผู้ลงทุนต่างประเทศรายใหญ่ที่สุด และเป็นคู่ค้าที่มีมูลค่าค้าขายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจีน
การลงทุนของฮ่องกงในประเทศจีนคิดเป็นมูลค่ารวมราว 3.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 40 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดของฮ่องกงในปี 2008 ขณะเดียวกันจีนยังเป็นผู้ลงทุนโดยตรงรายใหญ่ที่สุดของฮ่องกงอีกด้วย การลงทุนโดยตรงมีมูลค่ารวมถึง 4.79 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2007 คิดเป็นร้อยละ 41 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดที่มีอยู่ในฮ่องกง
จีนและฮ่องกงได้ร่วมมือกันบูรณาการระบบเศรษฐกิจมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมานับจากที่จีนเปิดประเทศ ความร่วมมือดังกล่าวได้พัฒนามาถึงจุดสูงสุดในปี 2003 เมื่อจีนและฮ่องกงร่วมลงนามในสัญญาการค้าเสรีเพื่อพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (The Mainland and Hong Kong Closer Economic Partnership Agreement: CEPA) ในฐานะที่ทั้งสองเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO)
มิสโชว เผยว่า “ภายใต้สัญญาดังกล่าว สินค้าและบริการของบริษัทที่จดทะเบียนในฮ่องกง สามารถนำเข้าไปขายในตลาดประเทศจีนได้เป็นกรณีพิเศษ ไม่ว่าบริษัทนั้นจะมีแหล่งเงินทุนมาจากที่ใด หรือเป็นบริษัทสัญชาติใด”
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์และบริการด้านการเงินระหว่างฮ่องกงและจีนยังพัฒนาอย่างต่อเนื่องและก้าวหน้าไปมาก อาทิ ความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งฮ่องกง และตลาดหลักทรัพย์แห่งเสินเจิ้นและเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น ธนาคารในฮ่องกงเริ่มให้บริการการเงินในสกุลเงินหยวนของจีนมาตั้งแต่ปี 2004 และฮ่องกงเป็นตลาดแห่งเดียวนอกผืนแผ่นดินใหญ่ของจีนที่มีตลาดซื้อขายพันธบัตรสกุลเงินหยวนมาตั้งแต่ปี 2007
ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ระบบขนส่งยังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งประสิทธิภาพของพนักงานและการขนถ่ายสินค้าระหว่างจีนและฮ่องกง เส้นทางรถไฟสายด่วนระหว่าง กวางเจา-เสินเจิ้น-ฮ่องกง (The Guangzhou-Shenzhen-Hong Kong Express Rail Link) และสะพานเชื่อมระหว่างฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า (The Hong Kong-Zhuhai-Macao Bridge) จะช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างเมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล (The Pearl River Delta) ได้มาก เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2015 และ 2016 ตามลำดับ
สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของฮ่องกงในระยะต่อไป มิสโชว เผยว่า ประธานบริหาร สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงแถลงเมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ว่า ฮ่องกงมีแผนสำหรับส่งเสริมอุตสาหกรรมที่จะเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจฮ่องกงรวม 4 ประเภท นอกจากนี้ยังพร้อมจะสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอีก 6 ประเภท ซึ่งจะเป็นกลจักรสำคัญในการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้แก่ บริการทางการแพทย์ การศึกษา วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม อุตสาหกรรมการตรวจสอบและการรับรอง และสุดท้ายคือ นวัตกรรมและเทคโนโลยี
“กลยุทธ์สำคัญของเรา คือ เร่งขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้ง 6 ประเภทนั้น และช่วยเหลือในการเปิดประตูการค้าสู่ประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ประเทศไทยมีความก้าวหน้าด้านบริการทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจดังกล่าวในประเทศไทยจึงควรติดตามสถานการณ์และโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในฮ่องกงอย่างใกล้ชิด เพื่อขยายตลาดในโอกาสอันใกล้นี้”
นอกจากนี้ เธอยังชี้ให้เห็นว่า ฮ่องกงมีจุดเด่นหลายประการที่เอื้อประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ เช่น ระบบภาษีที่ไม่ซับซ้อน อัตราภาษีต่ำ ข้อมูลข่าวสารที่พรั่งพร้อม ระบบปริวรรตเงินตราเสรี ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานชั้นเยี่ยม รัฐบาลที่ทำงานอย่างโปร่งใส ระเบียบและกฎหมายที่เป็นอิสระ ความปลอดภัย และความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดนักธุรกิจให้เข้ามาลงทุนในฮ่องกง
ในงานสัมมนาดังกล่าวยังมีวิทยากรอีก 4 ท่านที่มาร่วมชี้แจงรายละเอียดและตอบข้อซักถามเกี่ยวกับโอกาสและมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ฮ่องกงมอบให้แก่ภาคธุรกิจไทยที่ประสงค์จะขยายตลาดในประเทศจีนโดยใช้ฮ่องกงเป็นฐาน อาทิ รายละเอียดในสัญญาการค้าเสรีเพื่อพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและฮ่องกง (CEPA) อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Double Taxation Agreement: DTA) ระหว่างไทยและเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ความร่วมมือและบริการการค้าข้ามแดนด้วยสกุลเงินหยวนกับฮ่องกง เพื่อการขยายธุรกิจไปสู่จีนและตลาดอื่นๆ
มร. ลอ คิน-ไว รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง ประจำประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า CEPA เป็นสัญญาการค้าเสรีที่ให้ผลดีแก่ทุกฝ่าย ช่วยนำโอกาสธุรกิจใหม่ๆ มาสู่จีน ฮ่องกง ตลอดจนผู้ลงทุนจากต่างประเทศ
“ภายใต้สัญญา CEPA สินค้าจากฮ่องกงที่เข้าไปขายในประเทศจีนจะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และฮ่องกงยินดีต้อนรับผู้ลงทุนจากต่างประเทศที่ประสงค์จะตั้งโรงงานในฮ่องกง เพื่อผลิตสินค้าตามระเบียบของ CEPA และรับประโยชน์ทางการค้าและภาษีต่างๆ” มร.ลอ คิน-ไว กล่าว
นอกจากนี้ CEPA ยังให้สิทธิพิเศษแก่คู่ค้าด้านบริการในฮ่องกง (Hong Kong service suppliers: HKSS) อีก 42 ประเภท โดยผู้ลงทุนจากทุกชาติจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมสำหรับการเริ่มธุรกิจในฮ่องกง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อกิจการ หรือร่วมทุนกับธุรกิจที่มีอยู่แล้วในฮ่องกงเพื่อใช้เป็นฐานในการขยายตลาดเข้าสู่ประเทศจีน ปัจจุบันมากกว่าครึ่งหนึ่งของคู่ค้าด้านบริการในฮ่องกงเป็นของนักลงทุนจากต่างประเทศ ในจำนวนนี้มาจากประเทศไทย 38 บริษัทซึ่งมีสำนักงานระดับภูมิภาคหรือระดับท้องถิ่นตั้งอยู่ในฮ่องกง และมีโอกาสรับสิทธิประโยชน์จาก CEPA
มร.พอล สติตต์ หุ้นส่วน บริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายและภาษี ไพร้ซ์วอร์เตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ส จำกัด สรุปประเด็นสำคัญของอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยและฮ่องกง ตลอดจนประโยชน์ที่ภาคธุรกิจไทยจะได้รับจากสัญญาดังกล่าว
ระบบภาษีของจีนและฮ่องกงมีความสัมพันธ์ในลักษณะเกื้อหนุนกัน ซึ่งทำให้ฮ่องกงเป็นฐานการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจที่ต้องการขยายตลาดเข้าไปสู่ประเทศจีน โดยอาจช่วยลดภาระภาษีได้ราวร้อยละ 8 จากผลกำไรที่นำส่งแก่บริษัทในประเทศฮ่องกง
นอกจากนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยังมีการริเริ่มโครงการทดลองให้บริการการค้าระหว่างประเทศในสกุลเงินหยวนระหว่างจีนและประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยธนาคารที่ได้รับการแต่งตั้งสามารถให้บริการการค้าระหว่างประเทศในสกุลเงินหยวนแก่ธุรกิจที่มีบริษัทคู่ค้าในประเทศจีน
มร.นิค เลวิตต์ ผู้อำนวยการ แผนกลูกค้าองค์กรต่างประเทศ ฝ่ายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าวสรุปในงานสัมมนาถึงบริการการค้าระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวนที่จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าองค์กรในการทำธุรกรรมการค้ากับประเทศจีน และการฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจในอนาคต
มิสลอเรตตา แวน ผู้อำนวยการประจำภูมิภาค สภาพัฒนาการค้าฮ่องกง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย (Southeast Asia and India, Hong Kong Trade Development Council) กล่าวสรุปแก่ผู้ร่วมสัมมนาว่าฮ่องกงเป็นฐานการลงทุนและคู่ค้าธุรกิจที่ดีที่สุด สำหรับองค์กรธุรกิจที่ต้องการขยายตลาดเข้าไปสู่จีนและประเทศอื่น พรั่งพร้อมด้วยกลยุทธ์และสิทธิประโยชน์สำหรับธุรกิจและผู้ลงทุนจากต่างประเทศ
งานสัมมนาครั้งนี้มีผู้บริหารจากบริษัทธุรกิจชั้นนำ และผู้แทนจากสมาคมการค้าระหว่างประเทศในประเทศไทยเข้าร่วมฟังประมาณ 100 คน
HONG KONG ECONOMIC & TRADE OFFICE
9 Temasek Boulevard, #34-01 Suntec Tower Two, Singapore 038989
Tel: (65) 6338 1771 Fax: (65) 6339 2112 E-mail: hketo_sin@hketosin.gov.hk