กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--เดอะ เวย์ คอมมิวนิเคชั่น
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเรื่อง สิทธิบัตรพันธุกรรมข้าวหอมมะลิ : ยุทธศาสตร์การคุ้มครองพันธุ์ข้าวไทย ณ ห้องประชุม ๑๐๒๐๑ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. จีรเดช อู่สวัสดิ์ อธิการบดีฯ กล่าวให้การต้อนรับ
สำหรับการสัมมนาดังกล่าว เป็นโครงการสัมมนาวิชาการของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ครั้งที่ ๑ ประจำปี ๒๕๕๒ สืบเนื่องจากประเทศไทยนับเป็นแหล่งที่มีพันธุ์ข้าวหลากหลายมากที่สุดประเทศหนึ่ง และมีการส่งออกข้าวในอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งข้าวหอมมะลินับเป็นพันธุ์ข้าวที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมาก จนทำให้หลายประเทศพยายามพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อแข่งขันกับข้าวหอมมะลิของประเทศไทย และนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สามารถค้นพบกระบวนการที่ทำให้ข้าวหอม จนสามารถนำไปยื่นขอสิทธิบัตรในหลายประเทศ จนกระทั่งปัจจุบันสำนักงานสิทธิบัตรของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้สิทธิบัตรแก่นักวิจัยไทยสำหรับการค้นพบดังกล่าวแล้ว จากความสำเร็จดังกล่าวนำไปสู่การเรียกร้องให้ประเทศไทยรับจดสิทธิบัตรในพันธุกรรมข้าวหอมมะลิ เพื่อเพิ่มการปกป้องผลประโยชน์ในพันธุ์ข้าวหอมมะลิของประเทศไทย แต่ปัจจุบันกฎหมายสิทธิบัตรของประเทศไทย (พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.๒๕๒๒) ไม่ได้ให้สิทธิบัตรแก่พันธุกรรม เนื่องจากถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิต เป็นผลผลิตของธรรมชาติมิใช่สิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น
อย่างไรก็ดี กระบวนการควบคุมความหอมของข้าวเป็นสิ่งที่จดสิทธิบัตรในประเทศไทยได้โดยถือเป็นสิทธิบัตรในกรรมวิธี (Process) ดังนั้น การเรียกร้องให้ประเทศไทยต้องจดสิทธิบัตรแก่พันธุกรรม จึงไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิบัตรที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งข้อเสนอให้ขยายขอบเขตการคุ้มครองสิทธิบัตรแก่สิ่งมีชีวิตนี้ จึงเป็นทิศทางเดียวกับข้อเรียกร้องของประเทศอุตสาหกรรมที่มี
ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ดังจะเห็นได้จากความพยายามของประเทศสหรัฐอเมริกาในเวทีองค์การการค้าโลกที่ต้องการให้ตัดข้อยกเว้นการคุ้มครองสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต เพื่อให้คุ้มครองในเทคโนโลยีทุกสาขาโดยไม่มีข้อยกเว้น อย่างไรก็ตามข้อเสนอเช่นนี้ไม่ตรงกับความคิดเห็นของประเทศกำลังพัฒนาหลายๆประเทศ ที่กังวลว่าการยกเลิกข้อยกเว้นดังกล่าวจะเปิดช่องให้จดสิทธิบัตรในทรัพยากรชีวภาพได้อย่างแพร่หลาย ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้เกิดการฉกฉวยประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในประเทศกำลังพัฒนา และก่อให้เกิดการผูกขาดด้วยผลของการคุ้มครองสิทธิบัตร ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ ทำให้เกิดการระดมความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในอนาคตต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : บริษัท เดอะ เวย์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
จตุพล นาคนิ่ม (ต้อม) 081-689-8245 , วลี อร่ามยิ่ง (บี) 081-648-2327
Email: bewalee@gmail.com