กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--ปตท.
โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ได้รับการออกแบบใช้เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมที่ทันสมัยที่สุด เพื่อเป็นต้นแบบในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชนในพื้นที่มาบตาพุด โดยโครงการฯ ไม่มีการใช้วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) และ สารอันตรายที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ (Hazardous Air Pollutants) อีกทั้งยังมีการลงทุนในเรื่องระบบทางด้านสิ่งแวดล้อมในทุกด้าน เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานโรงแยกก๊าซฯ จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ในขณะที่ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากก๊าซธรรมชาติ ลดภาระการนำเข้าเชื้อเพลิง และสนองตอบความต้องการการใช้ก๊าซธรรมชาติ ทั้งในภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน ได้อย่างทั่วถึง
นายสุชาติ เทวีทิวารักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารโครงการ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กว่า 20 ปี ที่ ปตท. ดำเนินงานโรงแยกก๊าซธรรมชาติตั้งแต่หน่วยที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ปตท. ยึดมั่นดำเนินงานควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม และชุมชน มาโดยตลอด สำหรับโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 นั้น ปตท.ได้ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท ในการออกแบบและติดตั้งระบบลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสุดกับโครงการนี้ อาทิ ระบบลดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (DeNOx) แบบ Selective Catalytic Reduction (SCR) เป็นแห่งแรกในพื้นที่มาบตาพุด, การปรับลดการระบายมลสารตามหลักเกณฑ์ 80:20 (ทุกอัตราระบายมลสาร 100 หน่วยที่โรงงานเดิมปรับลดลงนั้น โครงการใหม่จะสามารถนำไปใช้ได้แค่ 80 หน่วย ซึ่งทำให้เกิดการลดมลสารในพื้นที่ลง 20 หน่วย) และออกแบบให้ไม่มีการใช้วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ถูกจัดว่าเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รวมถึงสารที่ก่อให้เกิดมลสารทางอากาศที่เป็นอันตราย (Hazardous Air Pollutants) ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งได้ลงทุนในเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งให้หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้โครงการนี้เป็นต้นแบบในการป้องกันมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนในพื้นที่มาบตาพุด ทั้งนี้ โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ยังสามารถผลิตก๊าซหุงต้มได้ปีละประมาณ 1 ล้านตันเพื่อป้อนให้กับตลาดภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยลดภาระการนำเข้าก๊าซหุงต้มจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นทุกปี โดยปี 2552 นี้คาดว่าประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซหุงต้มในปริมาณ 700,000 ตันคิดเป็นมูลค่านำเข้าประมาณ 12,000 ล้านบาท
นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2550 มีผลบังคับใช้ แต่กลับอยู่ในเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นการให้ข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน ประเด็นนี้ ปตท.ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญโครงการฯ ได้ดำเนินการครบถ้วนตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และแนวทางที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งได้มีการบูรณาการการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ใน EIA เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ปตท.พร้อมที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ของภาครัฐที่กำลังจะออกมาในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถที่จะอยู่ร่วมกันและเกื้อกูลกันได้ทั้งธุรกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคมและชุมชน
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
โทรศัพท์ 0-2537-1629-30