กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--เวิรฟ
ยักษ์ตัวแดง: ลิเกร่วมสมัยเรื่องแรกที่ได้รับเชิญไปแสดง ณ ประเทศญี่ปุ่น
ณ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน
1 — 8 พฤศจิกายน 2552
หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน ภูมิใจเสนอ ลิเกร่วมสมัย เรื่อง “ยักษ์ตัวแดง” AKAONI (Red Demon) in Thai Likay style กำกับการแสดงโดย ประดิษฐ ประสาททอง ศิลปินศิลปาธร ปี 2547 ด้วยความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เครือข่ายละครกรุงเทพ Tokyo Metropolitan Art Space ร่วมกับหอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน ซึ่งการแสดงนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลละครกรุงเทพ 2552 คุณประดิษฐได้รับเชิญจาก ฮิเดกิ โนดะ (Hideki Noda) ผู้กำกับการแสดงและนักเขียนบทชาวญี่ปุ่น ผู้เลื่องชื่อทางด้านการละครไปทั่วโลก ให้นำบทละครเรื่องนี้มาดัดแปลงในทางลิเกมะขามป้อม และนำไปแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น ในโครงการ“Mekong Festival 2009” เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองปีแห่งการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในลุ่มน้ำแม่โขงและประเทศญี่ปุ่น“Mekong-Japan Exchange Year 2009”
การแสดงจัดขึ้นระหว่าง วันอาทิตย์ที่ 1 ถึง วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2552 วันธรรมดา รอบ 19.30 น. เสาร์-อาทิตย์ รอบ 14.00 น. ณ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน เลขที่ 6 ซอยเกษมสันต์ 2 ถนนพระราม 1 ปทุมวัน (สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ ทางออก 1)
จองบัตรได้ที่ เบอร์โทร 087 — 221 -3111
บัตรราคา 500 และ 300 บาท
นักเรียน นักศึกษา และผู้สูงอายุ 200 บาท (กรุณาแสดงบัตร)
ที่นั่งมีจำนวนจำกัด 80 ที่นั่ง ต่อรอบเท่านั้น
จุดเด่นของลิเกเรื่องนี้
“ยักษ์ตัวแดง” เป็นลิเกร่วมสมัย ที่ถือเป็นอีกก้าวของศิลปะการแสดงแบบไทยๆที่ผู้กำกับชาวญี่ปุ่นชื่อดังระดับโลก ฮิเดกิ โนดะ (Hideki Noda) ได้สนใจเชิญให้ประดิษฐ ประสาททอง ศิลปินศิลปาธรสาขาการแสดงคนแรกในปี 2547 (รางวัลมอบให้ศิลปินร่วมสมัยจากกระทรวงวัฒนธรรม) เพลงที่ใช้ร้องในลิเกเรื่องนี้ ล้วนเป็นเพลงไทยดั้งเดิมที่หาฟังยาก แต่ได้นำมาเรียบเรียงด้วยภาษากลอนลิเก
ที่สวยงาม น่าฟัง ขับให้ลิเกเรื่องนี้ มีความพร้อมสมบูรณ์และไม่ควรพลาด
เรื่องย่อ ลิเก ยักษ์ตัวแดง
จาก Akaoni (Red Demon) ถึง ยักษ์ตัวแดง ในรูปแบบการแสดงลิเกของไทย
รูปแบบการแสดงนั้นได้มีการปรับรูปแบบการนำเสนอจากละครร่วมสมัยสู่แบบลิเกดั้งเดิมของไทยโดยศิลปินศิลปาธร ประดิษฐ ประสาททอง
ณ หมู่บ้านบนเกาะแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศไทย ชาวบ้านช่วยชีวิตขิณีและขมูขีขึ้นมาจากทะเล ชาวบ้านเอาหูฉลามมาให้ขิณีกินเพื่อบำรุงร่างกายให้ฟื้นคืนแข็งแรง แต่แล้วขิณีก็เกิดคำถาม “นี่ไม่ใช่หูฉลาม” แต่ชาวบ้านก็ตอบย้ำว่ามันคือหูฉลาม แต่เธอว่ารสชาติมันไม่เหมือนกับที่เธอกินทุกวันเมื่อตอนที่ติดอยู่กลางทะเล พูดเสร็จ ...เธอก็ตระหนักได้ถึงความจริงอะไรบางอย่าง แล้วเธอก็วิ่งไปกระโดดหน้าผาตาย
ขมูขีเล่าเรื่องราวย้อนกลับไปว่า ครั้งหนึ่งขิณี เขาและเพื่อนอีกคนที่ชื่อปักหลั่น ได้รู้จักกับยักษ์ตัวแดง และเป็นเพื่อนรักกัน แต่ชาวบ้านไม่มีใครยอมรับและต่างพากันหาทางกำจัดยักษ์ตัวแดงออกไปจากหมู่บ้าน ในที่สุดทั้งสี่คนก็โดนเนรเทศออกจากหมู่บ้านให้นั่งเรือออกไปจากเกาะนั้น ในที่สุดเวลาผ่านไป ขิณีหมดแรงจนสลบเพราะไม่มีน้ำไม่มีอาหารกินและต่อมายักษ์ตัวแดงจากไป เหลือเพียงขมูขี ปักหลั่นและเขาจึงจำต้องหาทางอยู่รอด ด้วยการกินเนื้อเพื่อนของเขา “ยักษ์ตัวแดง”ที่ตายไปก่อนและโกหกขิณีว่าเนื้อที่เธอกินนั้นคือหูฉลาม...
สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องราวนี้ก็คือมีตัวละครและการกระทำหลายอย่างที่จะได้นำเสนออย่างแยบยลในเชิงสัญลักษณ์ ชวนให้ขบคิดให้คติกระตุ้นเตือนใจผู้ชม ซึ่งก่อให้เกิดคุณค่าในความเป็นมนุษยชาติต่อไป
การแสดง ลิเกร่วมสมัยเรื่อง ยักษ์ตัวแดง ในครั้งนี้ได้รับเชิญไปแสดงในเทศกาล Mekong Festival ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 18 — 25 พฤศจิกายน 2552 ด้วย
นอกจากลิเกร่วมสมัยเรื่องนี้ ก็ยังมีละครเรื่อง สาวชาวนา กำกับการแสดงโดย นิกร แซ่ตั้ง โดยใช้นักแสดงมืออาชีพจากเครือข่ายละครกรุงเทพมาร่วมกันแสดงฝีมือ ให้ประจักษ์แก่สายตาผู้ชมญี่ปุ่นและคนไทย โดยทั้งเรื่องยักษ์ตัวแดงและสาวชาวนานั้นเป็นบทประพันธ์ดั้งเดิมของ ฮิเดกิ โนดะ ทั้งสิ้น
เวิรฟ
คุณวงจันทร์ ตั้งทรงศักดิ์ ( จันทร์)
โทร. 0-2204-8221, 089-127-2089
คุณวันวิสาข์ ลิ้มสุมังคลกุล (แคท)
โทร. 0-2204-8213, 089-781-8797
โทรสาร 0-2259-9246
ข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
คุณสิริรัตน์ รัตนขจรสกุล
บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด (จิม ทอมป์สัน)
โทร.0-2762-2562