กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--ปภ.
ช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงเปลี่ยนจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศของประเทศไทยจะมีความแปร ปรวน โดยพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์จะมีฝนตกหนักและฝนตกชุกหนาแน่น เนื่องจากอิทธิพลร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่วนประเทศไทยตอนบน โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุม ส่งผลให้อากาศหนาวเย็นและอุณหภูมิลดลง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และดินโคลนถล่ม และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว
ในช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ดังนี้
การเตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนัก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสาน 14 จังหวัดภาคใต้จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ให้นำฐานข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปใช้ในการวิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มการเกิดสาธารณภัยในพื้นที่ รวมถึงดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เตรียมการป้องกันอันตรายจากภาวะฝนตกหนักที่อาจสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้โดยหมั่นติดตามพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ปริมาณน้ำจากกรมชลประทาน และระดับการขึ้น-ลงของน้ำจากกรมอุทกศาสตร์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนสั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่รับผิดชอบเตรียมควาพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น และกำชับให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเตรียมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์รุนแรงให้จังหวัดดำเนินการช่วยเหลือประชาชนตามขั้นตอนของแผนป้องกันภัยของจังหวัด รวมทั้งให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตที่รับผิดชอบ
พื้นที่จังหวัดที่ประสบภัยจัดกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งนำเครื่องมือ เครื่องจักรเข้าสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ฝนตกหนัก ควรหมั่นติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด หากมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานในพื้นที่และสังเกตพบสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ เช่น ระดับน้ำในลำห้วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและมีสีขุ่นข้น ให้รีบอพยพและขนย้ายสิ่งของไปยังที่ปลอดภัย เพราะอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากหรือน้ำท่วมฉับพลันขึ้นได้ ตลอดจนปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนภัยและคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเสี่ยงอันตรายที่เกิดจากภาวะฝนตกหนักในระยะนี้
การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมความพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัยหนาวที่ขาดแคลนเครื่องนุ่งห่มกันหนาว พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวอย่างรวดเร็วและทั่วถึง
ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ประสบภัยหนาว ควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง รวมถึงเพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวกับไฟ ทั้งการประกอบอาหาร จุดธูปเทียน สูบบุหรี่ เป็นต้น เนื่องจากฤดูหนาวสภาพอากาศแห้งและลมพัดแรง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าสูงกว่าปกติ หากก่อไฟผิงเพื่อให้ความอบอุ่น หรือเผาตอซางข้าว หญ้าแห้ง ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ดับไฟให้สนิทเพื่อป้องกันไฟลุกลามไหม้บ้านเรือน การขับขี่รถในช่วงที่มีหมอกลงจัด ควรเปิดไฟต่ำหรือไฟตัดหมอก จะช่วยให้มองเห็นสภาพเส้นทางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ขับรถเร็ว เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ ไม่แซงหรือเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน กรณีหมอกลงหนาทึบ ควรจอดพักรถในบริเวณที่ปลอดภัย เช่น สถานีบริการน้ำมัน แล้วรอให้หมอกเบาบางจนสามารถมองเห็นเส้นทางได้ชัดเจน จึงค่อยเดินทางต่อ จะปลอดภัยมากกว่า
สุดท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม และภัยหนาว สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-2432200 PR DDPM