มหาวิทยาลัยบอนน์ ประเทศเยอรมนี เชื่อมือ สซ. มอบระบบลำเลียงแสงซินโครตรอน มูลค่า 30 ล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพให้กับห้องปฎิบัติการแสงสยามของไทย

ข่าวทั่วไป Thursday October 29, 2009 12:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ปลื้มผลจาก ความร่วมมือทางวิชาการ ทำให้ห้องปฏิบัติการวิจัยแสงซินโครตรอน มหาวิทยาลัยบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ยอมรับในศักยภาพของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน และกำลังคนคุณภาพของนักวิจัยไทย โดย ส่งมอบระบบบลำเลียงแสงซินโครตรอน จำนวน 2 ระบบ มูลค่า 30 ล้านบาท เพื่อมอบให้ใช้ประโยชน์ และ ทำการติดตั้ง ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยาม จังหวัดนครราชาสีมา ฯพณฯ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามรับมอบระบบลำเลียงแสงซินโครตรอน จากห้องปฏิบัติการวิจัย แสงซินโครตรอน สหพันธ์มหาวิทยาลัยบอนน์ สาธารณรัฐเยอรมนี ให้แก่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) ประเทศไทย จำนวน 2 ระบบ มูลค่า 30 ล้านบาท เพื่อทำการติดตั้งและใช้ประโยชน์ในงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของไทย ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยาม จังหวัดนครราชสีมา “วันนี้มีความยินดีที่ได้เป็นตัวแทนนักวิจัยไทย มาทำการรับมอบและขอบคุณผู้บริหารจากห้องปฏิบัติการวิจัยแสงซินโครตรอน มหาวิทยาลัยบอนน์ ที่มีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ประเทศไทย ในการรับมอบระบบลำเลียงแสงถึง 2 ระบบ ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีซินโครตรอนที่มีคุณค่ามากขององค์กรวิจัยระหว่างประเทศ ในนามของรัฐบาลและกระทรวงซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมงานวิจัยเพื่อการใช้งานได้จริงและมีผลกระทบต่อประเทศ การรับมอบอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีขั้นสูงในครั้งนี้ ทำให้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า เครื่องกำเนิดแสงสยามของไทยเป็นที่ยอมรับในเครือข่ายห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอนในระดับสากล โดยเฉพาะบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ของไทยมีศักยภาพ ความรู้ ความสามารถในการที่จะปรับเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์นี้สามารถนำไปต่อยอด และพัฒนาปรับใช้ได้ตรงความต้องการของงานวิจัยในประเทศ” ความร่วมมือสองสถาบันนี้ ไม่ได้ส่งผลกับกลุ่มผู้ใช้แสงซินโครตรอนในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อกลุ่มผู้ใช้แสงซินโครตรอนนานาชาติด้วย ซึ่งแสงซินโครตรอนเป็นการพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ ทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ เทคโนโลยี ultra- high vacuum, High power RF engineering, เทคโนโลยีระบบลำเลียงแสง เป็นต้น รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ กรรมการบริหารสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ถือเป็นเกียรติที่สถาบัน ได้รับมอบระบบมอบระบบลำเลียงแสงซินโครตรอนจากห้องปฏิบัติการวิจัยแสงซินโครตรอน มหาวิทยาลัยบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องในระดับแนวหน้าของโลก และเป็นประเทศที่มีห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอนอยู่หลายแห่ง การรับมอบระบบลำเลียงแสงในครั้งนี้เกิดจากความร่วมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีซินโครตรอนระหว่างสถาบันของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี พ.ศ. 2547 Prof. Josef Hormes ได้เดินทางมาเยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ (ชื่อเดิมของสถาบัน) ได้ร่วมหารือกับนักวิจัยของสถาบันในการแนะนำและสนับสนุนกลุ่มผู้ใช้แสงซินโครตรอน ด้าน ‘เทคนิคสเปกโตรสโคปีของการดูดกลืนรังสีเอกซ์’ (X-ray absorption spectroscopy, XAS) มาใช้งานวิจัยหลากหลายสาขา เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของยาพารา และการตรวจวิเคราะห์ทางเคมี เพื่อสืบสวนหาการปนเปื้อนในงานวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม การดูดซับโลหะหนักที่เป็นพิษโดยพืช หรือผลิตภัณฑ์ของพืช กระทั่งในปี พ.ศ 2549 สถาบันสามารถเริ่มเปิดให้บริการสถานีทดลองด้าน XAS อย่างเป็นทางการ ซึ่งปัจจุบันระบบลำเลียงแสงดังกล่าวทำให้เกิดคุณประโยชน์กับ กลุ่มผู้ใช้คนไทยเป็นจำนวนมากในเรื่องของงานวิจัยทั้งวิทยาศาสตร์เบื้องต้นและวิทยาศาตร์ประยุกต์ สำหรับท่อระบบลำเลียงแสงซินโครตรอน จำนวน 2 ระบบที่ได้รับมอบนั้นคือ ระบบ NIM beamline หรือ Normal incidence monochromator beamline เป็นระบบลำเลียงแสงพร้อมใช้งานทั้งระบบ โดยอุปกรณ์หลัก ทั้งหมดของระบบลำเลียงแสง ได้แก่ ชิ้นส่วนเชิงแสง และระบบชิ้นส่วนสุญญากาศ และระบบ X-ray EDM beamline หรือ X-ray Energy dispersive monochromator beamline เป็นระบบลำเลียงแสงที่ใช้โมโนโครเมเตอร์สำหรับย่านรังสีเอกซ์ ซึ่งแตกต่างจากที่มีอยู่ ณ สถาบัน ระบบลำเลียงแสงทั้งสองนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์ของเครื่องกำเนิดแสงสยาม ทั้งทำให้สถาบันประหยัดงบการลงทุนกว่า 30 ล้านบาท รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “เทคโนโลยีแสงแสงซินโครตรอน เป็นเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ประกอบด้านวิศวกรรมขั้นสูงและวิทยาศาสตร์หลายแขนง ตลอดระยะเวลา 13 ปีของการก่อตั้ง สถาบันได้ตอกย้ำในความสามารถการพัฒนากำลังคน จากการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงนี้ กระทั่งปัจจุบันสามารถติดตั้งระบบ ลำเลียงแสงได้ 3 ระบบ และใช้งานได้จริง ซึ่งในปีงบประมาณปีที่ผ่านมา สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนได้สร้างทีม ที่เข้มแข็ง และทำให้เกิดการใช้แสงซินโครตรอนได้ 3,300 ชั่วโมงต่อปี และสร้างนักวิจัยผ่านโครงการวิจัยต่างๆ เกินกว่า 150 คน และอยู่ระหว่างติดตั้งระบบลำเลียงแสงเพิ่มอีกอย่างน้อย 3 สถานี ที่ตอบสนองความต้องการของนักวิจัยไทยและตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคต” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 252 โทรสาร 0-4421-7047 อีเมล : prslri@slri.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ